พาราสาวะถี
พิธามีโอกาสสองหนที่จะได้ทดสอบว่าจะได้รับคะแนนเสียงถึง 376 เสียงหรือไม่ อ่านท่วงทำนองทางการเมืองอาจเห็นแนวโน้มว่าน่าจะยาก แต่ก็ต้องลุ้นกัน
จบปัญหาการปีนเกลียวกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยกรณีเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่วานนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ลุกขึ้นเสนอชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติให้ที่ประชุมสภาฯพิจารณา โดยไม่มีพรรคใดเสนอชื่อคนอื่นมาแข่ง เท่ากับว่า วันนอร์ได้รับเลือกเป็นประธานสภาฯ อย่างสง่างาม ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ซึ่งรวมไทยสร้างชาติเสนอชื่อ วิทยา แก้วภราดัย ชิงกับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา นั้น ก็เพื่อหยั่งเชิงดูเสียงหนุนจากพวกที่เคยร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจกันมาเท่านั้น
จุดนี้จะมองข้ามไม่ได้ เพราะเหมือนเป็นความพยายามที่จะทดสอบว่าการโยนหินถามทางเรื่องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก่อนหน้านั้นมีความเป็นไปได้หรือไม่ เมื่อมองจากเสียงที่โหวตมาแล้ว พบว่า คนอยากอยู่ยาวเลิกหวังและต้องม้วนเสื่อกลับบ้านอย่างแน่นอนแล้ว อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกันกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องจากยังมีเสียง ส.ว.ลากตั้งอีก 250 เสียงมาเป็นตัวชี้วัดสำคัญ แต่ทรงการเมืองแบบนี้เชื่อได้เลยว่า พรรคพลังประชารัฐกับภูมิใจไทยไม่เล่นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์
ในแง่ของพรรคสืบทอดอำนาจ พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.แสดงตัวชัดเจนว่าเลิกแบกเสลี่ยงให้น้องเล็กนั่งแล้ว มิหนำซ้ำ ยังรอส้มหล่นที่อาจจะได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาล โดยรอดูผลโหวตจากที่ประชุมรัฐสภาครั้งแรกว่าพิธาจะฝ่าด่านหินได้หรือไม่ ซึ่งว่าที่ประธานรัฐสภาวันนอร์ก็บอกแล้วว่า หากโหวตไม่ผ่านในรอบแรก จะให้มีการโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้ง เพื่อดันพิธาให้เต็มที่ ซึ่งจะไม่มีการลงคะแนนมากไปกว่านี้ เพราะเกรงว่า ท้ายที่สุดองค์ประชุมจะล่มจนเป็นปัญหา
นั่นหมายความว่า พิธามีโอกาสสองหนที่จะได้ทดสอบว่าจะได้รับคะแนนเสียงถึง 376 เสียงหรือไม่ อ่านท่วงทำนองทางการเมืองอาจเห็นแนวโน้มว่าน่าจะยาก แต่ก็ต้องลุ้นกัน เรื่องเสียงหนุนจากพรรคการเมืองอื่นก็มีเพียงพรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้นซึ่งก็ไม่ใช่ทั้งหมด เสียงที่ขาดอีก 64 เสียงนั้น จึงตั้งความหวังไว้ที่ ส.ว.เป็นส่วนใหญ่ จนถึงขนาดนี้คงฟันธงแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ว่า จะไม่มีเสียงหนุนพิธาจากฟากของ ส.ว.แม้แต่เสียงเดียว
หากจำแนกเสียงของ 250 ส.ว. ที่ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะไม่โหวตให้ใคร คือ พวกที่เป็นโดยตำแหน่ง นั่นก็คือ 3 ผู้บัญชาการเหล่าทัพ 1 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด หายไป 6 เสียง พวก ส.ว.จากตัวแทนจังหวัด 50 คนตรงนี้ชัดเจนว่าเป็นคนของพรรคการเมืองพวกใครพวกมัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะลงคะแนนให้พิธา อีกพวกคือ กลุ่มที่ประกาศตัวไปแล้วว่าจะโหวตตามฉันทามติของประชาชน ขณะที่พวกที่เหลือไม่โหวตแน่นอนน่าจะเป็นกลุ่มใหญ่แต่ก็ไม่ได้มากจนต้องหวั่นไหว
นั่นหมายความว่า จากที่เคยหวาดหวั่นกันว่าพิธาจะตกม้าตายในการโหวตของที่ประชุมรัฐสภา กลับมามีลุ้นเมื่อพิจารณาเสียงแบบแยกกันโดยละเอียดเช่นนี้ ที่น่าสนใจคือ ดูผลจากการโหวตเลือกรองประธานสภาคนที่ 1 ปรากฏว่า ปดิพัทธ์ได้คะแนนเสียง 312 เสียง จากที่ 8 พรรคร่วม ณ ปัจจุบันมีเสียง ส.ส.อยู่ 311 เสียง เนื่องจาก ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ จากก้าวไกลพ้นจากความเป็น ส.ส.ด้วยเหตุเมาแล้วขับไปก่อนหน้า แสดงว่ามีเสียงหนุนมาจากฝ่ายตรงข้ามเพิ่มมาด้วย
สัญญาณชัดอีกประการ พวกอยู่ยาวที่จะไม่ได้ไปต่อคือ เสียงโหวตของวิทยาที่พบว่าพวกเดียวกันก่อนหน้าเลือกแค่ 105 เสียง จากซีกว่าที่ฝ่ายค้านที่มี ส.ส.อยู่ 187 คน โดยมีคนงดออกเสียง 77 คน และเมื่อเห็นผลจากการเลือกประธานสภาคนที่ 1 แล้ว เมื่อถึงรองประธานสภาคนที่ 2 พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทยที่ได้รับการเสนอชื่อจึงได้รับตำแหน่งไปโดยปริยาย แนวโน้มการเมืองเรื่องพลิกขั้วจึงน่าจะเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ภาพการเมืองหลังจากนี้เราจึงจะได้เห็นกระบวนการประสานขอเสียงสนับสนุนช่วยพิธาภายใต้การจับมือกันของ 8 พรรคร่วมอย่างขันแข็ง
ข่าวลือข่าวปล่อยเกี่ยวกับการตีตัวจาก 8 พรรคร่วมของเพื่อไทย จึงเป็นเพียงการเสี้ยมหวังให้เกิดความแตกแยก แต่ด้วยฉันทามติที่ท่วมท้นขนาดนั้นมันจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนของพรรคนายใหญ่จะทิ้งเพื่อน มิหนำซ้ำ การจับมือกันเช่นนี้พรรคที่เป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบก็คือเพื่อไทยนั่นเอง ไม่ว่าพิธาจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นนายกฯ ก็เป็นฝ่ายได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง แน่นอนว่า ถ้านายกฯ ชื่อพิธา พรรคอันดับสองก็จะได้ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมด
เหมือนที่บอกไป พรรคอันดับหนึ่งมุ่งมั่นที่จะเข้ามากุมอำนาจเพื่อปรับโครงสร้างซึ่งเป็นปัญหาขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศ ส่วนพรรคอันดับสองก็ต้องการที่จะแสดงศักยภาพในการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลโดยทั่วไปจึงเป็นเรื่องยาก ว่ากันว่า การจัดตัวในระนาบรัฐมนตรีว่าการนั้น แทบจะไม่มีปัญหาทั้งจากสองพรรคและพรรคร่วมที่เหลือ งานยากน่าจะเป็นการเลือกตัวรัฐมนตรีช่วยเสียมากกว่า
ด้วยเหตุผลที่ว่า หลังจากวางตัวรัฐมนตรีว่าการเสร็จแล้ว สองพรรคแกนนำจะต้องจัดวางคนของตัวเองไปเป็นรัฐมนตรีช่วย ซึ่งกรณีที่กระทรวงใดไม่มีการจัดสรรโควตาต่างพรรคเป็นรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกันก็ไม่มีปัญหา สำหรับกระทรวงที่ต้องร่วมกันบริหาร ก็จะเป็นอีกช็อตหนึ่งที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และด้านสังคม เนื่องจากมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทยยังมีหลายเรื่องที่ต่างกันอยู่
เบื้องต้นพบว่า คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านที่ตั้งขึ้นมานั้น พยายามที่จะสรุปปัญหา แนวทางการแก้ไข และตกผลึกความคิดร่วมกัน ก่อนที่จะมีการตกลงกันเรื่องตัวบุคคลเพื่อที่จะเข้าไปบริหารในแต่ละกระทรวง จะได้เป็นการบริหารงานรูปแบบใหม่ ที่คิด วางแผน และจัดสรรตัวบุคคลให้เหมาะกับงาน ลดปัญหาความขัดแย้งในอนาคต อีกไม่กี่อึดใจก็น่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจน กว่าจะหาทางลงต่อปัญหาเก้าอี้ประธานสภาฯ ได้ บรรดากองเชียร์ต้องลุ้นกันตัวโก่ง ต้องมาดูกันว่าการแบ่งเก้าอี้เสนาบดีจะมีแรงกระเพื่อมอีกหรือไม่