TPL ยันขาใหญ่ยังถือหุ้นครบ
TPL เป็นหุ้นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เนื่องจากราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในการซื้อขายรอบเช้า และตกฮวบต่ำจองเมื่อปิดตลาด
เส้นทางนักลงทุน
ราคาหุ้นน้องใหม่ TPL หรือ บมจ.ไทยพาร์เซิล ผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าหรือสิ่งของในประเทศไทยทั้งสำหรับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไป รวมถึงให้บริการเก็บเงินค่าสินค้าปลายทาง ยังไม่พ้นราคาจอง แม้ขยับดีขึ้นเล็กน้อยในการเทรดวันที่ 2 (3 กรกฎาคม 2566) โดยปรับตัวขึ้น 9.91% แต่การเทรดวันที่ 3 (4 กรกฎาคม 2566) ยังลดลง 2.46% ปิดที่ 2.38 บาท
TPL เป็นหุ้นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ณ วันที่เข้ามาซื้อขายวันแรก (30 มิถุนายน 2566) ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ เนื่องจากราคาหุ้นพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในการซื้อขายรอบเช้า และตกฮวบต่ำจองเมื่อปิดตลาด
ในการเทรดวันนั้น TPL เปิดตลาดที่ราคา 5.90 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 2.60 บาท เพิ่มขึ้น 78.79% จากราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ราคา 3.30 บาท
ในช่วงเช้า ราคาหุ้น TPL ดีดตัวขึ้นต่อเนื่องปิดตลาดที่ 6.90 บาท ปรับเพิ่มขึ้น 3.60 บาท หรือบวกไป 109.09% มีมูลค่าการซื้อขายราว 1,709.74 ล้านบาท โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายราคาพุ่งไปสูงสุดที่ระดับ 7.15 บาท และต่ำสุดที่ 5.60 บาท
ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในภาคบ่ายเป็นหนังคนละม้วน ราคาหุ้นไหลลงรวดเร็วไปต่ำสุด 2.06 บาท และปิดตลาดที่ 2.22 บาท มีมูลค่าการซื้อขาย 3,001.98 ล้านบาท เท่ากับปิดต่ำจอง 1.08 บาท ติดลบ 32.73%
การเทรดหุ้นน้องใหม่ TPL วันแรก มีปรากฏการณ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ออกมาให้ข้อเท็จจริงและข้อน่าสังเกตในสภาพการซื้อขายหลักทรัพย์ TPL และขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อขาย เนื่องจากพบว่าสภาพการซื้อขายภาคเช้าของวันนั้นมีข้อน่าสังเกตหลายประการ และมีแรงเก็งกำไรสูง
โดยมีการซื้อขายกระจุกตัวในกลุ่มบุคคล ทั้งก่อนเปิดตลาดและระหว่างซื้อขาย ทั้งนี้ก่อนเปิดตลาด พบคำสั่งเสนอซื้อกระจุกตัวในกลุ่มบุคคลในสัดส่วนเกือบ 70% ของปริมาณการเสนอซื้อทั้งหมด ซึ่งมีผลให้เปิดตลาดที่ราคา 5.90 บาท คิดเป็น บวก 78.79% จากราคา IPO ที่ 3.30 บาท
และการซื้อขายภาคเช้า Automatic Order Matching (AOM) พบการซื้อและขายกระจุกตัวในกลุ่มบุคคลเดิมประมาณ 40% และ 24% ของมูลค่าการซื้อขาย AOM ตามลำดับ มีส่วนทำให้ราคาเพิ่มขึ้นไปสูงสุดที่ 7.15 บาท และยังพบว่ากลุ่มดังกล่าวได้ส่งคำสั่งเสนอซื้อและเสนอขายในปริมาณมากหลายระดับราคาเช่นกัน
Trade report ราคาสูงกว่า IPO 21.21% จำนวน 4.87% ของทุนชำระแล้ว (25.5 ล้านหุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 4.00 บาท จาก IPO ที่ 3.30 บาท นอกจากนี้มีภาวะการเก็งกำไร ด้วยมูลค่าการซื้อขายปริมาณมาก ด้วยค่า P/E และ P/BV สูง โดย Turnover ratio ที่ 48.25% ราคาปิดที่ 6.90 บาท (+109% จาก IPO ที่ 3.30 บาท) มูลค่าซื้อขายอันดับ 1 ของ mai (อันดับ 2 ของ SET+mai) ที่ 1,710 ล้านบาท P/E 138 เท่า และ P/BV 6.27 เท่า
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อขาย และขอให้บริษัทสมาชิกหรือโบรกเกอร์ทุกรายกำกับดูแลการซื้อขายและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ TPL อย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
TPL มีบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการตลาดหุ้นจำนวนมาก มีผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.นางวัสสา จีนะวิจารณะ ถือหุ้น 35.88% 2.บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น ถือหุ้น 26.73% 3.นายสุระ คณิตทวีกุล ถือหุ้น 3.82% 4.นางสาวสุธิดา มงคลสุธี ถือหุ้น 3.34% 5.นายบัญชา พันธุมโกมล ถือหุ้น 2.77%
6.นายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ถือหุ้น 1.91% 7.นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ ถือหุ้น 1.62% 8.นายวรพจน์ อำนวยพล ถือหุ้น 1.62% 9.นายพีรเจต สุวรรณนภาศรี ถือหุ้น 1.53% และ 10.นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ถือหุ้น 1.2%
ขณะที่ “นายภัทรลาภ ทวีวงศ์ ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TPL ได้ออกมาระบุว่ากลุ่มบุคคลที่ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนเกิดความเข้าใจผิด บริษัทขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ 1.ผู้ถือหุ้น ได้แก่ นายสุระ คณิตทวีกุล และนายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ได้เข้ามาลงทุนในช่วงที่บริษัทมีการลงทุนขยายธุรกิจตั้งแต่ในปี 2564 และบมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น ได้เข้ามาลงทุนในปี 2565
2.บริษัทยืนยันว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวทุกราย ไม่ได้รับการจัดสรรหุ้น IPO และยังคงถือหุ้นจำนวนเท่าเดิม และ 3.บริษัทได้รับการยืนยันจากผู้ถือหุ้นดังกล่าวทุกรายว่าไม่ได้มีการขายหุ้นในวันแรก และยังถือหุ้นครบทั้งจำนวน
บริษัทไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้านโครงสร้างการถือหุ้นและการประกอบธุรกิจ โดยจะนำเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับจากการระดมทุน (IPO) ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวน เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทและผูัลงทุนต่อไป
ขั้นแรก จะนำเงินไปซื้อยานยนต์ EV ตามแผนการดำเนินงานเพื่อประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงได้กว่า 50% ซึ่งช่วยผลักดันให้มีอัตรากำไรขั้นต้น (Margin) เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงลงทุนขยายศูนย์คัดแยกสินค้าในต่างจังหวัด ลงทุนไอที และเพิ่มจุดกระจายสินค้า รองรับดีมานด์ลูกค้า SMEs ในต่างจังหวัด เพิ่มฐานรายได้ ทำให้มั่นใจว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตมากกว่า 15% ตามแผนงานที่วางไว้ พร้อมเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า
ขณะที่ “นายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น TPL โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปซื้อขายหุ้น TPL ในวันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะที่เห็นด้วยกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ออกมาประกาศแจ้งเตือนนักลงทุนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในวันแรกที่เข้าเทรด
ถือเป็นการยืนยันว่า TPL ขาใหญ่ยังถือหุ้นครบ