พาราสาวะถี

กลไกดังว่ากำลังทำหน้าที่คัดค้านต่อต้านผลการเลือกตั้งตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้าม


บอกไว้ก่อนแล้วว่าท่าทีทำเป็นถอย ดูเหมือนจะวางมือ และอ้างอย่าลากตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง มันเป็นอะไรที่แปลกแปร่ง คนที่ไร้สัจจะไม่ทำตามสัญญา จู่ ๆ มันจะมาใส่เกียร์ถอยแบบเสียเชิงได้อย่างไร ทุกอย่างมันจึงฉายภาพกลเกมของขบวนสืบทอดอำนาจ ประเด็นข่าวเล็ดลอดที่ว่า กกต.จะชงเรื่อง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นไอทีวีให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญในห่วงไม่กี่วันก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แม้ว่าสุดท้ายที่ประชุม กกต.วานนี้ (10 กรกฎาคม) ยังไม่ได้มีมติในเรื่องดังกล่าว

แต่เมื่อสแกนดูไทม์ไลน์ตามข่าวที่ปรากฏ หาก กกต.ดำเนินตามนั้นจริง มันก็จะทำให้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเป็นความตั้งใจ มีการทำเป็นขบวนการ เพราะกรณีนี้ กกต.มีมติตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังมีการยื่นคำร้องใหม่ของ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ที่ขอให้ กกต.ดำเนินการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของพิธาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82

ไม่เพียงเท่านั้น คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้นำทีม ได้นำหลักฐานเกี่ยวกับการถือหุ้นไอทีวีของพิธามามอบให้กับ กกต. โดยอ้างว่าหวังให้ กกต.ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เร็วขึ้น นี่น่าจะเป็นไฮไลต์สำคัญที่ต้องขีดเส้นใต้ ซึ่งปรากฏว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ กกต.ตั้งขึ้นได้สรุปข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ข้อกฎหมายเสร็จสิ้นแล้วช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.ให้พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ซึ่ง กกต.ขยันกันสุด ๆ ประชุมกันทุกวันจันทร์และอังคารของสัปดาห์ แล้วเกิดมาเคาะกันในวันจันทร์นี้ เพื่อที่จะได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ทันที โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ในวันพุธ มันก็จะเข้าทางที่บอกว่าให้ขีดเส้นใต้หลายเส้นต่อการยื่นหลักฐานเพิ่มของ ส.ว.ลากตั้งที่นำโดยเสรีเพื่อหวังให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญเร็วขึ้นนั้น เพื่อหวังผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ

เนื่องจากหากทุกอย่างเป็นไปตามนั้นแล้วหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับเรื่องที่ กกต.ร้องไว้พิจารณาในวันพุธนี้คือ 12 กรกฎาคม ซึ่งเป็น 1 วันก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ แล้วมีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แม้จะไม่ส่งผลต่อความเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล แต่ถามว่า ส.ว.ที่ตั้งใจจะเลือกพิธาต้องทบทวนท่าทีหรือไม่ ขณะที่พวกตั้งใจไม่โหวตอยู่แล้วก็จะสร้างความชอบธรรมในการที่จะกดดันให้ ส.ว.รายอื่นไม่โหวตหนุนพิธาด้วยเช่นกัน

นี่ไงที่ย้ำมาตลอด ต้องระวังเล่ห์กลทางข้อกฎหมายของขบวนการสืบทอดอำนาจไว้ให้ดี เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญซึ่งถูกเรียกว่า “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ย่อมไม่ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามมาชุบมือเปิบ ขวางทางการอยู่ยาวได้ง่าย ๆ แน่ ไม่ต้องพูดถึงว่าแล้วคนเหล่านี้ไม่นึกถึงกว่า 27 ล้านเสียงที่เลือก ส.ส.ของ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลมาบ้างหรือ พวกประเภทอย่างหนาเรียกพี่ไม่เคยแยแสอยู่แล้ว ต้องคอยดูว่าหลังจากที่ กกต.ใส่เกียร์ถอยไปแล้ว การพลิกคว่ำพลิกหงายแบบนี้แรงกระเพื่อมจะมีอีกหรือไม่ และทำนายได้ว่าจะนำไปสู่หายนะของประเทศ

ให้ดูมวลชนที่แห่แหนไปต้อนรับพิธาทุกเวทีซึ่งไปปราศรัยขอบคุณประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกล ล่าสุดที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การแสดงพลังของด้อมส้มที่สนับสนุนให้พิธาและพรรคอันดับหนึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นกันชัด ๆ หากเกิดการเล่นแร่แปรธาตุทำให้กระบวนการเลือกนายกฯ มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นพิธาตกสวรรค์หรือทำให้แคนดิเดตคนอื่นจากพรรคร่วมตั้งรัฐบาลมีปัญหา ไม่อยากนึกภาพต่อไปว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร

ปัญหาการตั้งรัฐบาลของประเทศไทยต้องยอมรับว่าเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์เพื่อพวกเรานั่นเอง ล่าสุด พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายให้เห็นภาพชัดว่า การเมืองของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับองค์กรและกลไกอันเป็นผลพวงมาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่ถูกออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างของ กรธ. ภายใต้ความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แต่งตั้งโดย คสช.

กลไกดังว่ากำลังทำหน้าที่คัดค้านต่อต้านผลการเลือกตั้งตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิมที่มีความเชื่อมโยงกับการทำรัฐประหารในปี 2557 ขณะเดียวกันกลับเปิดโอกาสให้ตนเอง หรือขั้วรัฐบาลเดิม แม้ว่าจะพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส.ที่น้อยกว่ามาก ยังสามารถกลับเข้าสู่อำนาจในฐานะรัฐบาลได้อีกอย่างแปลกประหลาด

คงต้องพูดว่าความยากลำบากในการได้มาซึ่งนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ขณะนี้ “ไม่ใช่สภาวะปกติ” ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แม้การยืดเยื้ออาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติทางการเมือง หากต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่จำต้องมีการต่อรองกันทางการเมือง แต่ถ้าเงื่อนไขและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทางการเมืองนั้นกลับไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากเป็นผลมาจากการตั้งใจใช้กฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือบิดเบือนหลักประชาธิปไตยแบบผู้แทน เพียงเพื่อต้องการทำลายศัตรูขั้วตรงข้ามทางการเมืองเท่านั้น

หากคนส่วนใหญ่ของประเทศตระหนักรู้ถึงพิษภัยจากกลไกนี้ ก็จะเข้าใจว่าลักษณะเช่นนี้สามารถเทียบเคียงได้กับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาที่ยังคงมีการทำรัฐประหารไม่เป็นประชาธิปไตย อาทิ แซมเบีย โตโก บูร์กินาฟาโซ ซูดาน เซเนกัล กลุ่มประเทศเหล่านี้ภายหลังจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของผู้นำทหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว ก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนทำลายประชาธิปไตยของประเทศให้ลดน้อยถอยลง ต้องถามกันดัง ๆ ว่า หนนี้ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยที่ชนะเลือกตั้งอย่างสง่างามตั้งรัฐบาลไม่ได้ สังคมยังจะนิ่งเฉยปล่อยให้พวกอยากอยู่ยาวเสวยสุขในอำนาจอีกต่อไปอย่างนั้นหรือ

Back to top button