พาราสาวะถีอรชุน
ความคิดเรื่องระบุอาชีพและรายได้ลงในบัตรประชาชน ที่ออกมาจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ไม่รู้ว่าท่านคิดเองหรือเสธ.ทีมไหนช่วยคิดให้ กับเหตุผลเรื่องเพื่อแยกแยะคนที่มีรายได้น้อยและรัฐบาลจะต้องช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง เป็นภาพสะท้อนของความบ่มิไก๊ของผู้บริหารในยามนี้ได้เป็นอย่างดี
ความคิดเรื่องระบุอาชีพและรายได้ลงในบัตรประชาชน ที่ออกมาจากปากของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ไม่รู้ว่าท่านคิดเองหรือเสธ.ทีมไหนช่วยคิดให้ กับเหตุผลเรื่องเพื่อแยกแยะคนที่มีรายได้น้อยและรัฐบาลจะต้องช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง เป็นภาพสะท้อนของความบ่มิไก๊ของผู้บริหารในยามนี้ได้เป็นอย่างดี
คิดแบบนี้เป็นการคิดแบบไม่รอบด้านและสะท้อนตรรกะมักง่าย เพราะในความเป็นจริง เรื่องของฐานรายได้ประชากรนั้น หน่วยงานภาครัฐล้วนแล้วแต่มีข้อมูลกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้ฐานข้อมูลไหน และหากอยากจะรู้ถึงขั้นรายตัว เรียงคน ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลเหล่านั้นไปบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของแต่ละคน ที่สามารถใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเรียกดูได้
ไม่จำเป็นต้องไประบุไว้ในบัตรประชาชน ส่วนที่วิจารณ์กันเลยเถิดไปถึงขั้นละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิมนุษยชนอันนั้นก็เยอะเกินไป เอาแค่ว่าช่วยกันตำหนิปัญญาของคนที่คิดเรื่องนี้ว่าไม่เข้าท่าก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่อย่างน้อยไม่ว่าจะถูกวิจารณ์กันอย่างไรข่าวนี้ก็สามารถช่วงชิงพื้นที่สื่อ และลดกระแสของข่าวร้อนข่าวร้ายที่มีต่อรัฐบาลไปได้ในระดับหนึ่ง
ความจริงหากคิดกันให้มากหน่อย ถามว่าระหว่างข้อมูลอาชีพและรายได้ กับข้อมูลโรคประจำตัว ชนิดยาที่แพ้ อย่างไหนสมควรที่จะใส่ไว้ในบัตรประจำตัวประชาชนมากกว่ากัน ถ้าจะมองให้เป็นเหตุเป็นผลหน่อย สุหฤท สยามวาลา ได้แนะนำไว้ว่า ถ้าจะต้องทำจริงๆ เสนอให้ทำ 3 ระยะ ระยะที่ 1 ให้ทำบัตรประชาชนใหม่แก่คณะรัฐมนตรี นายพลทั้งทหารและตำรวจ อธิบดีและนักการเมืองทุกคน
ระยะที่สองให้ทำกับข้าราชการทุกคน เมื่อทำทั้งสองระยะเสร็จให้เปิดเผยต่อสาธารณชนเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบว่ามีระบบการกรองข้อมูลที่ถูกต้อง เมื่อได้ทั้งหมดแล้วมาระยะสามคือให้ประชาชนทุกคนทำ อย่างนี้ก็น่าจะโอเคกว่ามั้ง แต่ท่านต้องแน่ใจข้อมูลในบัตรประชาชนของระยะที่ 1 กับ 2 เพราะมิเช่นนั้นคนที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรมเลยก็คือประชาชนเองนั่นแหละ
หวังว่าสุหฤทคงไม่ถูกเรียกไปปรับทัศนคตินะ เพราะดันทะลึ่งเอาความจริงไปนำเสนอ แต่เรื่องนี้คงไม่สามารถไปต่อ เพราะ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา มท.1 ออกมายืนยันว่า ไม่มีการนำข้อมูลรายได้หรืออาชีพมาใส่บัตรที่หน้าบัตรประชาชน และไม่นำมาใส่ในไมโครชิพของบัตรแน่นอน แต่เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลตามปกติ ซึ่งได้ตั้งคณะทำงาน 2 คณะขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้แล้ว
ถ้าเช่นนั้นก็น่าจะจบข่าว บ้านเมืองในปัจจุบันมีอะไรที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประมาณว่าตรรกะวิบัติหรือตรรกะมักง่ายอะไรประมาณนั้น ส่วนข่าวนี้แม้จะยังสงวนท่าทีโดยเฉพาะคนที่ประกาศวางมือทางการเมืองอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ความเป็นไปได้กับการที่จะจับมือกับ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตั้งพรรคการเมืองใหม่นั้นก็มีความเป็นไปได้ไม่ใช่น้อย
เพราะเมื่อมองดูจากสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้นของคนกันเอง ชนิดไม่ไว้หน้ากันแม้แต่น้อย โอกาสที่จะเห็นคุณชายหมูยังอยู่ร่วมชายคากับพรรคเก่าแก่คงเหลือน้อยเต็มทน ขณะที่เทพเทือกแม้บารมีในพรรคจะยังคงมีอยู่ แต่ความต้องการของผู้นำอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องการสลัดภาพความเป็นลูกไล่ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้แกนนำกปปส.ต้องตีตัวออกห่าง
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของพรรคดังว่าถ้าจะเกิดขึ้น คงต้องคิดกันหนักจะคาดหวังได้คะแนนนิยมจากพื้นที่ใด ในกทม.จากผลงานของคุณชายหมูตลอดระยะเวลาที่คิดว่าจะอยู่ครบ 8 ปีดูจะไม่เข้าตาคนเมืองหลวง มีเสียงบ่นมากกว่าชื่นชม ดังนั้น หากตั้งพรรคโอกาสที่ผู้สมัครจะได้รับเลือกเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโตที่ต้องตีโจทย์กันให้แตก
เช่นเดียวกันกับฐานเสียงที่แน่นหนาของประชาธิปัตย์ในภาคใต้ หากเทพเทือกยื่นตระหง่านอยู่เบื้องหลังพรรคดังกล่าว โดยมีพรรคเก่าแก่ยังส่งคนลงชิงชัยภายใต้การถือธงนำของ ชวน หลีกภัย ถามว่าคนใต้จะเลือกใคร ในเชิงทฤษฎีการที่จะตั้งพรรคการเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ปัญหาใหญ่อยู่ที่ว่าเม็ดเงินที่ระดมกันมาจัดตั้งนั้นมันจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
หลายฝ่ายเห็นด้วยกับข้อเสนอล่าสุดของ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ที่จุดพลุหนึ่งในการปฏิรูปด้านการเมือง 6 ด้านคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ซึ่งต้องใช้หลักการให้อภัยและการนิรโทษกรรมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกระดับโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ไม่รวมผู้มีความผิดคดีทุจริตและคดีอาญา
ความเห็นที่น่าสนในของเสรีก็คือ ที่ผ่านมาแนวคิดนิรโทษกรรมไม่ได้แตกต่างกัน แต่กลับเหมือนถูกแช่แข็ง ทำให้ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่เวลานี้ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมคนเสื้อแดง ขณะที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองหรือม็อบนกหวีดอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีหรือได้รับการประกันตัว จุดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้บางฝ่ายรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมหรือเลือกปฏิบัติ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อเรียกร้องของต่างชาติที่เข้ามายังรัฐบาลคสช.เป็นระยะ แม้จะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หนีไปจากปม “สองมาตรฐาน” แนวทางดังว่าหากเดินหน้ากันถี่ขึ้น เชื่อแน่ว่าจะได้รับแรงหนุนมากกว่าเสียงคัดค้าน และถ้าบิ๊กตู่ที่ประกาศหนักแน่นจะสร้างความปรองดองให้ได้มีความตั้งใจจริงเรื่องการนิรโทษกรรมย่อมเลี่ยงไม่ได้
เว้นเสียแต่ว่าจะมีใครบางคนไปบิดเบือนเมื่อบวกเข้ากับอคติ โดยเฉพาะท่าทีที่แสดงออกต่อคนเสื้อแดงในระยะหลัง ก็ทำให้มีแนวโน้มเราจะไม่ได้เห็นการนิรโทษกรรมให้กับแนวร่วมม็อบเสื้อสีที่ต้องโทษติดคุก ตรงนี้แหละที่จะเป็นบทพิสูจน์ผู้ที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อขจัดความขัดแย้งต่างๆ ให้สิ้นซาก จริงใจหรือว่าแค่ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อทำให้การเข้าสู่อำนาจของตัวเองชอบธรรมเท่านั้น