มาตรา 112 กฎหมายที่เปิดช่องให้รัฐใช้อำนาจคุกคามประชาชน (ตอนที่ 1)

การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ถ้ามองให้ลึกจะเห็นว่าสาระของปัญหายังอยู่ที่การปกป้อง ม.112 ฉะนั้นจะขอพูดถึงข้อเท็จจริงที่นักกฎหมายประมวลไว้


การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก แต่ถ้ามองให้ลึกจะเห็นว่าสาระของปัญหายังคงอยู่ที่การปกป้องมาตรา 112 ฉะนั้นวันนี้จะขอพูดถึงข้อเท็จจริงที่นักกฎหมายประมวลไว้ ขอแบ่งเป็น 2 ตอนนะครับ

กฎหมายมาตรานี้เดิมไม่มีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา แต่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น ๆ เช่น กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ในสมัยรัชกาลที่ 5 และแก้ไขหลายครั้งจนมารวมอยู่ในประมวลกฎหมายอาญาในหมวดว่าด้วยความมั่นคงของรัฐและแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2519 โดยเผด็จการสงัด ชลออยู่ หลังจากยึดอำนาจรัฐหลังกรณี 6 ตุลา 2519  ข้อความในมาตรา 112 ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบันบัญญัติให้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ซึ่งขัดแย้งกับวิถีของประชาธิปไตย ด้วยข้อความดังนี้

“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

ซึ่งศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ ได้สรุปจุดอ่อนของเนื้อหาและกระบวนการบังคับใช้ไว้รวม 10 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.มาตรา 112 คืออะไร?

มาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า 

“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

  มาตรา 112 บางครั้งถูกเรียกย่อ ๆ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่มีความหมายกว้างกว่าเนื้อหาจริง ๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ จึงใช้คำเรียก มาตรา 112 อย่างย่อว่า “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” แทน ซึ่งเป็นความหมายที่ใกล้เคียงกับองค์ประกอบจริง ๆ ตามกฎหมายมากกว่า

  1. มาตรา 112 มีปัญหาอย่างไร?

มาตรา 112 เป็นกฎหมายมาตราหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในสังคม ปัญหาของมาตรา 112 ที่พูดถึงกันมากอาจพอแยกได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

2.1  ปัญหาที่เกิดจากตัวบทกฎหมาย

– อัตราโทษจำคุกสามถึงสิบห้าปีนั้นสูงเกินไป เทียบได้กับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปี ฯลฯ

– อัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกอย่างต่ำสามปีสูงเกินไป ทำให้คดีที่เป็นเรื่องเล็กน้อยศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดบทลงโทษให้น้อยกว่านี้ได้

– องค์ประกอบความผิดไม่ชัดเจน โดยเฉพาะคำว่า “ดูหมิ่น” ซึ่งอาจตีความได้กว้าง ครอบคลุมการกระทำ หรือการแสดงความคิดเห็นได้หลายแบบ

– มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองบุคคลหลายตำแหน่งทั้งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่ากันโดยไม่แยกแยะ ทั้งที่ผลเสียหายของการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อาจมากกว่าการกระทำต่อบุคคลในตำแหน่งอื่น

– มาตรา 112 ถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ทำให้การตีความและบังคับใช้อาจอ้างการรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อให้เป็นผลเสียแก่ผู้ต้องหาได้

พรุ่งนี้อ่านต่อนะครับ

Back to top button