ทุนต่างชาติเลี่ยงจีน..หันสู่ตลาดเกิดใหม่
จากปรากฏการณ์แรงซื้อสุทธิหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย แซงหน้าการลงทุนตลาดหุ้นจีนเป็นครั้งแรกรอบเกือบ 6 ปี
จากปรากฏการณ์แรงซื้อสุทธิหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย แซงหน้าการลงทุนตลาดหุ้นจีนเป็นครั้งแรกรอบเกือบ 6 ปี หลัง “มุมมองเชิงบวก” เกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนจากกลุ่มนักลงทุนเริ่มลดน้อยลง
“โกลด์แมน แซคส์” ระบุว่าช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา กระแสเงินไหลเข้าสุทธิของต่างชาติในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียไม่รวมจีน (Asia ex-China) อยู่ที่มากกว่า 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้ากระแสเงินไหลเข้าสุทธิ 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เข้าสู่ตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ ผ่านโครงการซื้อขายหุ้นตลาดฮ่องกง
ต่างจากช่วง 12 เดือนก่อนหน้าเกิดกระแสเงินไหลออกสุทธิจากตลาดเกิดใหม่ 76,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกระแสเงินไหลเข้าจีนสุทธิ 42,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สะท้อนถึงความเป็นจริง ที่น่าผิดหวังของจีนกับการฟื้นตัว จากการบังคับใช้มาตรการสกัดโรคโควิด-19 ที่เข้มงวดและตอกย้ำว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค กำลังได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและดีมานด์ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ที่แข็งแกร่งจากสหรัฐฯ
“จีน” ถือว่ามีเศรษฐกิจใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ด้วยตัวเลขอัตราการเติบโต 3-4% ต่อปีได้หรือไม่หรือจะสะดุดลง เหมือนอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ เหมือนกับกรณีภาวะเศรษฐกิจชะงักงันหรือที่เรียกกันว่า “ทศวรรษที่หายไป” ของญี่ปุ่น
Desmond Lachman นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบัน American Enterprise ระบุว่า มันไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเหนือกว่าหรือเติบโตแซงสหรัฐฯ ภายในอีก 1 หรือ 2 ทศวรรษข้างหน้า โดยคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงมาที่ระดับ 3% ทำให้รู้สึกเหมือนว่าอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งหนึ่ง เมื่ออัตราการว่างงานของเยาวชนหนุ่มสาวสูงกว่า 20% สิ่งนี้ถือว่าไม่ดีต่อเศรษฐกิจโลกที่ไม่รวมจีนด้วยเช่นกัน
โดยการเติบโตช่วงไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 6.3% ต่ำกว่าคาดการณ์มาก เมื่อพิจารณาจากฐานที่ต่ำ อันเกิดจากการล็อกดาวน์โควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อบรรดาผู้นำจีนที่คาดว่าจะมีการประชุมกันเดือนนี้ เพื่ออภิปรายถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และการแก้ไขปัญหาระยะยาว
จากข้อมูลเดือน เม.ย.-มิ.ย. 66 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตปี 2566 อยู่บนเส้นทางโดยประมาณที่ระดับ 5% และเกิดอัตราชะลอตัวลงหลังจากนั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี “จีน” มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 7% เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา และสูงกว่า 10% ช่วงปี 2543 เป็นสิ่งที่เตือนความจำโดยการสูญเสียแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ให้เหตุผลอีกต่อไปแล้วว่า การบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอลง เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดครั้งใหญ่ แต่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุมาจากอาการเจ็บป่วยทางเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างแทน
โดยสิ่งเหล่านี้รวมถึงฟองสบู่ที่แตกออกในภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วน 25% ของ GDP ของจีน หนึ่งในความไม่สมดุลกันที่ลึกมากที่สุดระหว่างการลงทุนและการบริโภค, หนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมหาศาล, การยึดกุมที่แน่นหนาเหนือภาคสังคมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, รวมถึงธุรกิจของภาคเอกชนทั้งหลาย และกำลังแรงงานและฐานลูกค้าผู้บริโภคกำลังหดตัวลง ขณะที่กลุ่มผู้เกษียณอายุกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น
Wang Jun หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทจัดการลงทุน Huatai กล่าวว่า ปัญหาทางด้านประชากรศาสตร์, ภาวะตกต่ำอย่างหนักและรวดเร็ว (hard landing) ของภาคอสังหาริมทรัพย์, ภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นที่หนัก, ทัศนคติมองโลกในแง่ร้ายของภาคเอกชนรวมถึงความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนให้มีมุมมองโลกในแง่ดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนระยะกลางถึงระยะยาว