CK โดดเด่นสุดในกลุ่มรับเหมา
หุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างส่งสัญญาณดีขึ้นรับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะมีบทสรุปที่ชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเพื่อเร่งการลงทุนให้เกิดขึ้น
เส้นทางนักลงทุน
หุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างส่งสัญญาณดีขึ้นรับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะมีบทสรุปที่ชัดเจนเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเพื่อเร่งการลงทุนให้เกิดขึ้น
ดังนั้น ในรอบสัปดาห์นี้ หุ้นบมจ.ช การช่าง หรือ CK ซึ่งเป็นหุ้นที่โดดเด่นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ราคาหุ้นจึงปรับตัวขึ้นมากกว่าลง และสามารถกลับมาทำนิวไฮในรอบ 2 เดือนได้ สำหรับการซื้อขายเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งราคาขยับขึ้น 1.20 บาท มาปิดที่ 21.30 บาท บวกไป 5.97% เพราะความคาดหวังดังกล่าว
ปัจจุบัน CK เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีงานในมือจำนวนมากอยู่แล้ว หากมีรัฐบาลใหม่ที่เดินหน้าลงทุนก็จะทำให้ยิ่งได้ประโยชน์
โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ประเมินว่าในปี 2566 นี้ CK จะทำสถิติมีงานในมือ (Backlog) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บียอน ประเมินว่างานในมือของ CK จะทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท จากเมกะโปรเจกต์ (mega project) 2 โครงการ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.27 แสนล้านบาท และโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง มูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะหนุนรายได้ในระยะ 8 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้องกรณีบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ฟ้องร้องขอให้ยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยชี้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ช่วยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถเดินหน้าลงนามในสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้มกับผู้ชนะการประมูลรอบที่ผ่านมาอย่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และส่งผลบวกต่อ CK ในที่สุด ซึ่งตัวเลข Backlog ระดับ 2.5 แสนล้านบาทนี้ เพิ่มขึ้นมากจากราว 5.6 หมื่นล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2565
CK ประเมินว่ารายได้เฉลี่ย 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ประมาณการของบริษัทสอดคล้องกับเป้าหมาย Backlog ที่ 2.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามโดยอัตรากำไรขั้นต้นของเมกะโปรเจกต์ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีส้มจะอยู่ที่ 7-8% ต่ำกว่าอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในปี 2565 ที่ 9% ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิ (net margin) ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาจจะอยู่ที่ 3-4%
โบรกเกอร์รายนี้ แนะนำ “ซื้อ” และประเมินราคาเป้าหมายที่ 27 บาท หรือเทียบเท่า P/E 25 เท่า ประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 1.87 พันล้านบาท หนุนโดย 3 ปัจจัย คือ Backlog มีคุณภาพดี มีโอกาสจะได้งานใหม่เพิ่มอีก และรายได้จากเงินปันผลและส่วนแบ่งกำไรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่มีความเสี่ยงจากการประมูลโครงการใหม่ ๆ ความผันผวนของต้นทุนวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กและปูนซีเมนต์ รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ในด้านของค่าแรงนั้น บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ประเมินโดยใช้ฐานปี 2565 ว่า CK มีพนักงานทั้งหมด 5,460 คน มีค่าใช้จ่ายพนักงานรวม 1,675 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9% ของต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม โดยจะมีพนักงานรายวันจำนวน 880 คน ทั้งนี้ตั้งสมมติว่า CK จะมีค่าใช้จ่ายด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นคิดเป็นเพียง 0.14% ของต้นทุนก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นรวมเท่านั้น
CK มี Backlog ณ สิ้นปี 2565 เท่ากับ 55,687 ล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำหลวงพระบาง (LPCL) มีงานก่อสร้างโยธาประมาณ 99,788 ล้านบาท จะทำให้ Backlog CK ปัจจุบันเพิ่มเป็น 149,353 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดใหม่
และในอนาคตมีแนวโน้มจะได้งานเพิ่มจากของบริษัทลูก เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.27 แสนล้านบาท โครงการทางด่วน 2 ชั้น งามวงศ์วาน-พระรามเก้า 3.5 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ งาน M&E 2.7 หมื่นล้านบาท จะทำให้ Backlog เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 แสนล้านบาท เข้าสู่ New S-Curve
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566-2567 คาดรายได้จะเติบโต 52% จากงวดเดียวกันปีก่อน สู่ระดับ 2.75 หมื่นล้านบาท และ 9% เป็น 3 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ จากแรงหนุนของโครงการโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง 9.9 หมื่นล้านบาท ที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างอีก 7 ปี และยังได้แรงหนุนจากส่วนแบ่งกำไรของ BEM ที่เติบโตสูง ทำให้กำไรปี 2566 เท่ากับ 1,655 ล้านบาท เติบโต 88% จากงวดเดียวกันปีก่อน และเท่ากับ 2,017 ล้านบาท เติบโต 22% ในปี 2567 ประเมินราคาเป้าหมายเท่ากับ 25.4 บาท ลดลงจาก 28 บาท เนื่องจากปรับราคาเหมาะสมของบริษัทลูกลดลง คงคำแนะนำ “ซื้อ”
ด้านบล.เอเซีย พลัส ให้ราคาเหมาะสมของ CK ที่ 27 บาท เพราะไตรมาสนี้จะได้รับเงินปันผลจาก TTW เข้ามา 232 บาท บวกกับส่วนแบ่งกำไรตามส่วนได้เสียจาก BEM ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนและรถไฟฟ้าใต้ดิน คาดไตรมาส 2 ปี 2566 จะทำกำไรโดดเด่นเมื่อเทียบกับเฉลี่ยของบริษัทในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
เร็ว ๆ นี้ CK จะประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2566 ออกมา ต้องมารอดูกันว่าจะสร้างผลงานได้ยอดเยี่ยมแค่ไหน