พาราสาวะถี
นับเป็นจุดวัดใจผู้บัญชาการพรรคเพื่อไทยจะเลือกหนทางทางการเมืองแบบไหน หลังจากก้าวไกลได้ส่งไม้หน้าที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วม
นับเป็นจุดวัดใจผู้บัญชาการพรรคเพื่อไทยจะเลือกหนทางทางการเมืองแบบไหน หลังจากก้าวไกลได้ส่งไม้หน้าที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคร่วมให้ไปดำเนินการต่อ โดยเงื่อนไขที่เคาะกันมาจากที่ประชุมพรรคร่วมตั้งรัฐบาลก็คือ เปิดทางให้พรรคแกนนำไปเจรจากับ ส.ว.และพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ได้ร่วมเซ็นเอ็มโอยูได้ จึงปรากฏภาพการส่งเทียบเชิญทั้งพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ชาติพัฒนากล้า ชาติไทยพัฒนา มาหารือเพื่อเชื้อเชิญสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยและร่วมกันตั้งรัฐบาล
แต่เงื่อนไขก็อย่างที่เห็น สองพรรคอดีตรัฐบาลขั้วเดิมภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ ปฏิเสธการร่วมงานกับก้าวไกล ด้วยเหตุผลแนวคิดและวิธีการทำงานไปด้วยกันไม่ได้ ที่เหมือนกันแทบทุกพรรคคือ ไม่ขอร่วมงานกับพรรคที่จะแก้ไขมาตรา 112 ชี้กันให้ชัดนั่นก็คือ หากจะตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ต้องให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น เจอโจทย์อย่างนี้มันย่อมเป็นปัญหาของเพื่อไทยเองว่าจะบริหารจัดการอย่างไร กระสันอยากเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น หรือยึดมั่นคำสัญญา 8 พรรคร่วม และเคารพต่อฉันทามติของประชาชน
ที่ทุกฝ่ายมองตรงกันการเชิญพรรคขั้วรัฐบาลเดิมมาพูดคุย เพื่อรับทราบว่าจะสามารถช่วยเหลือ สนับสนุนให้การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งสำเร็จได้แบบไหนอย่างไร อะไรคือปัจจัยอุปสรรค หลังจากนั้นก็จะได้นำบทสรุปจากที่ได้แลกเปลี่ยนกลับไปแจ้งต่อที่ประชุม 8 พรรคร่วม เหมือนที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.วิเคราะห์ไว้ สิ่งที่เพื่อไทยเร่งทำใน 2-3 วันนี้คือ การเชิญพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้ามาปรึกษาหารือ และให้ได้คำตอบเหมือนกันคือ พร้อมร่วมรัฐบาลเพื่อไทย หากไม่มีก้าวไกลร่วมในรัฐบาล
คำตอบดังกล่าวจะถูกประมวล และนำเสนอให้ที่ประชุมร่วม 8 พรรคเห็นว่า พรรคการเมืองที่เหลือนั้นมีจุดยืนอย่างไร เพื่อให้ก้าวไกลยอมถอยเพื่อความจำเป็นที่ต้องมีรัฐบาลโดยเร็ว หากก้าวไกลไม่ยอมก็อาจใช้การลงมติจาก 8 พรรค หรือไปถึงสถานการณ์ที่ฉีกเอ็มโอยูทิ้ง เท่ากับไม่มีพรรคร่วม 8 พรรค และตั้งรัฐบาลแข่งกัน ซึ่งเพื่อไทยจะมีความได้เปรียบ เนื่องจากมีพันธมิตรมากกว่าทั้งในสภาผู้แทนและวุฒิสภา ถ้าเป็นเช่นนั้น ก้าวไกลมีแค่ 2 ทางเลือกคือ ยอมถอยออกมาเอง หรือจะรุกโดยยืนยันจับมือร่วมกัน แต่ให้เพื่อไทยเป็นฝ่ายกำหนดว่าจะเอาก้าวไกลหรือไม่
เมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของพิธาและระดับนำของพรรคชนะเลือกตั้งแล้ว จะไม่ยอมถอยไปเป็นฝ่ายค้านเด็ดขาด นั่นเท่ากับว่าเพื่อไทยจะต้องเป็นฝ่ายเลือก ความจริงแล้วสถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้หากยึดเอาฉันทามติของประชาชนเป็นที่ตั้ง และมองเห็นสภาพปัญหาที่ผ่านมากว่า 9 ปี แกนนำพรรคอันดับสองคงต้องหนักแน่นในหลักการ มองไปถึงผลการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าไปเดินตามเกมของฝ่ายสืบทอดอำนาจก็เท่ากับการฆ่าตัวตายทางการเมือง สิ่งสำคัญคือ ทักษิณ ชินวัตร ยังอยากจะโดนหลอกซ้ำซากอีกอย่างนั้นหรือ
หากพูดตามประสาประชาชนธรรมดา มาถึงนาทีนี้คนส่วนใหญ่ไม่ได้อยากให้ตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ดังนั้น การที่จะรอให้พวกลากตั้งหมดอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ ที่ต้องใช้เวลาอีก 10 เดือน ก็พร้อมที่จะรอเพื่อให้ได้รัฐบาลที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ก่อนที่จะมีการลงมติรอบใหม่ในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ หากไม่มีปฏิกิริยาในการต่อต้านใด ๆ จาก ส.ส.หรือแกนนำที่ไม่ได้มีบทบาทในการเจรจาของพรรคนายใหญ่ ก็เป็นอันเชื่อได้ว่าจะมีการพลิกขั้วเฉดหัวก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านแน่
ข้อเสนอแนะของ โคทม อารียา อดีต กกต.ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับ 8 พรรคร่วมนั่นก็คือ เพื่อไทยควรนัดหมายพรรคการเมืองที่ไม่อยู่ในพรรคร่วม โดยใช้วิธีการประชุมอย่างเปิดเผยเหมือนที่ได้ทำในช่วงสุดสัปดาห์ วัตถุประสงค์คือชวนมาร่วมรัฐบาล เพื่อให้รวมคะแนนเสียงในรัฐสภาเกินกว่า 375 เสียง อาจจะต้องมีการประชุมกันหลายหน ตามจังหวะก้าวของแต่ละพรรค และของ 8 พรรคร่วม ส่วนเงื่อนไขให้ก้าวไกลเสียสละไปเป็นฝ่ายค้านนั้นไม่ใช่วาระ แต่การปรับนโยบายร่วมให้เป็นที่ยอมรับของทุกพรรคที่เข้าร่วมคือวาระสำคัญ ผลการประชุม (หลายครั้ง) คือการทำเอ็มโอยูระหว่างพรรคที่จะร่วมก่อตั้งรัฐบาล 8 พรรคบวก
ส่วนการจะขอให้ประธานรัฐสภานัดประชุมโหวตเลือกนายกฯ นั้น ก็ต่อเมื่อเพื่อไทยสามารถทำการบ้าน รวบรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาได้แล้วเท่านั้น กระบวนการควรเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อให้เห็นว่าพรรคการเมืองย่อมอยากอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ถ้ารวมกันได้เราจะได้นโยบายที่แม้จะไม่แหลมคมที่สุด แต่อย่างน้อย ต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด ทั้งในด้านกายภาพ ด้านจิตใจ และด้านการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพต่อกันในสังคม
ถ้า 8 พรรคร่วมหลงเดินตามวาทกรรมและตามเกมของ ส.ว.บางคน เช่น คนที่เสนอให้รีบตั้งรัฐบาลโดยไว ทั้งที่พรรคร่วมยังรวบรวมเสียงได้ไม่พอ ก็เดาได้ว่าเขากำลังชวนให้ 8 พรรคร่วมส่งแคนดิเดตนายกฯ ไปให้ฆ่าในทางการเมืองทีละคน พอหมดหน้าตักก็อาจต้องทิ้งพรรคก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้าน หรือจำใจรับนายกฯ คนนอก ที่ต้องถามว่ามาจากไหนเล่า รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยและนโยบายที่ฝันใฝ่ไว้ก็ต้องกัดฟันรอต่อไป
ข้อเสนอที่ต้องขีดเส้นใต้และเชื่อว่าทีมกุนซือของเพื่อไทยน่าจะคิดได้คือ วันที่ 27 กรกฎาคมถ้ายังไม่แน่ใจเพราะมีเวลาไม่พอที่จะได้เสียงข้างมากในรัฐสภา เพื่อไทยอย่าเสนอแคนดิเดตลงแข่งขันเป็นนายกฯ อธิบายตรงไปตรงมาว่าไม่พร้อม ใครจะวิจารณ์อย่างไรก็ไม่ว่า ภารกิจข้างหน้าสำคัญกว่ามาก ถ้าเสนอแคนดิเดตให้เขาเอาไปฆ่าทางการเมืองก็จะเสียต้นทุนการต่อสู้ไปเปล่า ๆ ถ้าถูกถามว่าจะขอเวลาเตรียมตัวให้พร้อมนานเท่าไร ตอบได้เลยว่าไม่รู้ ได้เสียงข้างมากในรัฐสภาเมื่อไรก็เมื่อนั้น แล้วใครรับผิดชอบสำหรับความล่าช้า พรรคร่วมก็ตอบว่ากำลังทำอย่างดีที่สุดแบ่งรับความรับผิดชอบไว้ส่วนหนึ่ง
การทำงานอย่างโปร่งใสจะช่วยให้ประชาชนมองได้เองว่า ใครคือผู้รับผิดชอบหลัก ถ้าเกิดความล่าช้า ขอให้พรรคเพื่อไทยนิ่งและอดทนต่อคำวิจารณ์ ส่วนพรรคร่วม 8 พรรคต้องคอยเกื้อหนุน โดยเฉพาะเมื่อเพื่อไทยขอแรงสนับสนุน และไม่ทำอะไรที่กระทบภารกิจหลักที่มีร่วมกัน สิ่งสำคัญคือ บรรดากองเชียร์อย่าเอาแต่ใจ เร่งเร้าจนฝ่ายประชาธิปไตยพากันพังทั้งหมด สู้กับพวกอย่างหนาต้องรู้ว่าจะสู้อย่างไร สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไม่ใช่แค่ก้าวไกลที่ถูกเล่นงาน เพื่อไทยถ้าทรยศต่อเสียงของประชาชนก็จะถูกพวกที่หลอกจัดการไม่ต่างกันทั้งตัวพรรคและตระกูลชินวัตร