‘ไฮโดรเจน’ จากก๊าซชีวภาพ

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งใน “นวัตกรรมยานยนต์” ที่ถูกจับตามองมากสุด นั่นก็คือ “รถพลังงานไฮโดรเจน” หรือรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน


ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งใน “นวัตกรรมยานยนต์” ที่ถูกจับตามองมากสุด นั่นก็คือ “รถพลังงานไฮโดรเจน” หรือรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน และเป็นหนึ่งในหมุดหมายพัฒนานวัตกรรมยานยนต์เคลื่อนที่ เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง..

เริ่มมีข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องรถพลังงานไฮโดรเจน ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะค่ายรถยนต์โตโยต้า ที่มีการพัฒนารถพลังงานไฮโดรเจน โดยเฉพาะรุ่น Mirai Gen 2 เป็นอีกหนึ่งรุ่นที่โตโยต้า มีการต่อยอดเกี่ยวกับการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน มาช่วยในการขับเคลื่อนรถยนต์และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

ล่าสุด “โตโยต้า” ประกาศจับมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เพื่อผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพที่ได้จากขี้ไก่และขยะอาหาร เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่ง และมีแผนเริ่มดำเนินการช่วงเดือน พ.ย. 66

โครงการนำร่องครั้งนี้ “โตโยต้า” จะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ ที่สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของโตโยต้า จ.สมุทรปราการ โดยใช้วัตถุดิบเป็นขี้ไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่เครือซีพี และบริษัทอื่น ๆ ในพื้นที่และขยะอาหารจากศูนย์อาหาร ภายในสำนักงานใหญ่โตโยต้า

พร้อมกันนี้มีบริษัทด้านวิศวกรรมของญี่ปุ่น คือ “มิตซูบิชิ คาโคกิ” ทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์การผลิตก๊าซไฮโดรเจนที่สามารถผลิตได้ถึง 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง ขณะที่โตโยต้า จะเป็นผู้ดำเนินการสร้างระบบบีบอัด จัดเก็บ และขนส่งก๊าซชีวภาพและก๊าซไฮโดรเจน รวมถึงระบบปฏิบัติการต่าง ๆ

ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเน้นศึกษาการผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพ และนำไฮโดรเจนดังกล่าวไปใช้กับรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ในกิจกรรมของเครือซีพี รวมถึงศึกษาความร่วมมือด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และอาศัยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเส้นทางการจัดส่งไปพร้อม ๆ กันด้วย

“โตโยดะ” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะกรรมการบริหารโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า ซีพีเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่สุดในประเทศไทย มีรายได้และดำเนินธุรกิจหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงค้าปลีก การกระจายสินค้า และการเกษตร

การร่วมมือกันครั้งนี้เกิดขึ้นในนามของ “ทรู ลีสซิ่ง” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี ที่ให้บริการด้านการขนส่ง โดยจะเข้าร่วมกับโตโยต้า และเริ่มพิจารณาจากการมีส่วนร่วมของ Hino Motors ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้า เชื่อว่าจะทำให้เปลี่ยนภูมิทัศน์ในอนาคตได้

“ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ระบุว่า การร่วมมือครั้งนี้ เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย และเปิดโอกาสให้บริษัทที่มีเป้าหมายเดียวกันมาศึกษาร่วมกันต่อไป

สำหรับการผลิตไฮโดรเจนชีวภาพ (Bio-Hydogen Production) คือการผลิตแก๊สไฮโดรเจนที่มีความบริสุทธิ์สูงด้วยกระบวนการทางชีวภาพผ่านสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์สารตั้งต้นหลักของกระบวนการ ได้แก่ นํ้า ของเสียอินทรีย์ หรือชีวมวล จุลินทรีย์ ที่มีการใช้งานในกระบวนการ อาทิ สาหร่าย, แบคทีเรียหรืออาร์เคีย โดยอาจต้องใช้เอนไซม์หรือสารประกอบจำพวกโปรตีนเพื่อช่วยเร่งปฏิกิริยา

โดยมีการจำแนกการผลิตไฮโดรเจนชีวภาพได้ 2 แบบ เริ่มจากการจำแนกตามการใช้แสงภายในกระบวนการคือกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้แสงภายในกระบวนการ และการจำแนกตามลักษณะของกระบวนการ การผลิตไฮโดรเจนทางตรงและทางอ้อม

อย่างไรก็ดีปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีหลักที่ใช้ผลิตไฮโดรเจนชีวภาพเชิงพาณิชย์ เนื่องจากข้อจำกัดด้านความรู้ความเข้าใจ และประสิทธิภาพของกระบวนการตํ่าไม่เพียงต่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้

จุดที่น่าสนใจคือ “ไฮโดรเจน” แจ้งเกิดท่ามกลางสมรภูมิที่ผู้ผลิตรถยนต์อย่าง BYD จากจีนและ Tesla จากอเมริกา ที่เปิดศึกชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอย่างหนักเลยทีเดียว.!??

Back to top button