OTO ลดพลังงาน..เพิ่มอาหาร
มันจบแล้วครับนาย.!! สำหรับ OTO กับธุรกิจพลังงานทดแทน จากตอนแรกที่วาดฝันไว้เยอะ กลายเป็นสตอรี่ขายฝันให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคากันอย่างเมามันส์
มันจบแล้วครับนาย.!! สำหรับบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO กับธุรกิจพลังงานทดแทน จากตอนแรกที่วาดฝันไว้เยอะ โดยพยายามล้างธุรกิจเดิม ธุรกิจคอลเซนเตอร์ แล้วเติมด้วยธุรกิจใหม่ ๆ อย่างธุรกิจพลังงานทดแทน กลายเป็นสตอรี่ขายฝันให้นักลงทุนเข้ามาไล่ราคากันอย่างเมามันส์ จนราคาหุ้นดีดดิ้นขึ้นไปทะลุ 20 บาท…
แต่ปัจจุบันมีสถานะเป็นหุ้นบาทเศษเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว สาเหตุเป็นเพราะไปไม่ถึงฝั่งฝัน จะด้วยเหตุผลอะไรนั้น ไม่อยากจะเมาท์ บังเอิญช่วงนี้เจ็บคอ…
แต่หนึ่งในชื่อที่มีบทบาท คงเป็นชื่อ “บัณฑิต สะเพียรชัย” อดีตแม่ทัพบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ที่เคยปลุกปั้น BCPG ขึ้นมาผงาดในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ซึ่งเข้ามานั่งในบอร์ด OTO นั่นแหละ…แต่ตอนนี้ได้โบกมือลา OTO ไปแล้ว
มาเร็ว…เคลมเร็วเนอะ.!??
ส่วนแผนเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง หรือ PP ให้กับกองทุนและรายใหญ่รวม 4 ราย ในราคาหุ้นละ 16.00 บาท คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท…ก็คงต้องเก็บใส่ลิ้นชักล็อกกุญแจตายไปแล้วเหมือนกัน…
ทำให้ถูกจับตามองว่า จากนี้ OTO จะเดินเกมต่อยังไง..?
เมื่อไปไหนไม่ได้ นาทีนี้ก็กลับมาหาของเดิมไปเติมในบริษัท วาว แฟคเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ W (OTO ถือหุ้นใน W สัดส่วน 7.92%) ก่อนละกัน…ด้วยการปล่อยกู้ให้ W วงเงิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 6% ต่อปี เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงร้านสาขาเมกะบางนา เปิดสาขาแห่งใหม่ 3 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัลเวสต์เกต ชั้น 2, เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ชั้น 6 และสยามดิสคัฟเวอรี่ ชั้น 3 รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนในบริษัท
ภายใต้เงื่อนไข W จะนำหุ้นใน 2 บริษัทย่อยทางอ้อม ได้แก่ บริษัท อีสเทิร์นควี ซีน (ประเทศไทย) จำกัด (ECT) ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ประเภทร้านชาบู แบรนด์ KAGONOYA และบริษัท เครปส์ แอนด์ โค. ดีเวล๊อปเม้นท์ จำกัด (CCD) ประกอบธุรกิจร้านอาหารสไตล์ยุโรป Crepes & Co. และ Le Boeuf มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
จะว่าไป ด้วยเทรนด์อาหารที่เริ่มกลับมา ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก็น่าสนใจไม่น้อยนะ…
งั้นถ้าจะบอกว่า OTO ปลดพลังงาน..หวังไปอิ่มอาหารก็คงไม่ผิดน่ะสิ..!?
ซึ่งสิ่งที่ OTO จะได้จากการปล่อยกู้อย่างแรก เป็นการบริหารกระแสเงินสด ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในกระเป๋ากว่า 140 ล้านบาท ครั้นจะเอาไปฝากแบงก์ ก็ให้ผลตอบแทนต่ำ แต่การปล่อยกู้ให้กับ W จะได้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการนำเงินไปฝากแบงก์เห็น ๆ
และเนื่องจาก OTO ถือหุ้นใน W อยู่ด้วย ก็จะได้ทางอ้อมอีกทาง ส่วนจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฝีมือทีมผู้บริหารของ W แล้วล่ะ
แต่ก็น่าคิด ถ้าไปส่องงบการเงิน W ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าขาดทุนเละเทะ แม้จะก่อนโควิด หรือหลังโควิดก็ตามที อย่างงบงวดล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้ มีตัวเลขขาดทุนอยู่ที่ 28 ล้านบาท จากรายได้รวม 82 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 มีตัวเลขขาดทุนสะสมปาไปเกือบพันล้านบาท อยู่ที่ 997.54 ล้านบาท
ก็ไม่รู้ว่าการที่ W กู้เงินจาก OTO ครั้งนี้ จะแค่ต่อลมหายใจ (เติมสภาพคล่อง) หรือต่อยอดระยะยาวได้หรือเปล่า..?
เกรงว่าสุดท้ายแล้ว OTO จะสูญเงินเปล่าน่ะสิ…
มันอดเป็นห่วงไม่ได้จริง ๆ นะยูววว์..!?
…อิ อิ อิ…