พาราสาวะถี

จะจริงอย่างที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวไว้ในวันซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ “ประเทศไทยจะไม่มีวันกลับไปสู่จุดเดิมอีก”


จะจริงอย่างที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวไว้ในวันซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ “ประเทศไทยจะไม่มีวันกลับไปสู่จุดเดิมอีก” ผู้ที่จะให้คำตอบต่อสถานการณ์ทางการเมืองและอนาคตของประเทศหลังจากนี้คือ พรรคเพื่อไทย หลังจากที่ได้เชิญ 5 พรรคขั้วรัฐบาลเดิมมาหารือถึงความเป็นไปได้ในการสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคตัวเอง และการจับมือตั้งรัฐบาล ผลที่ได้รับไม่ต่างจากการไปคุยกับพวกลากตั้ง ต้องไม่มีก้าวไกลร่วมรัฐบาล

นั่นก็เท่ากับว่า เป็นเกมบีบให้เพื่อไทยต้องตีจากพรรคชนะเลือกตั้ง แล้วฉีกทิ้งเอ็มโอยูที่ 8 พรรคได้ร่วมลงนามกันให้กลายเป็นเพียงเศษกระดาษที่ไร้ค่า สิ่งที่จะตามมาคือ ความกระสันอยากเป็นรัฐบาลของพรรคนายใหญ่ คุ้มค่าต่อการสูญเสียที่จะตามมาหรือไม่ หากไปเชื่อคำยืนยันจากขบวนการสืบทอดอำนาจว่า จะสามารถจัดการม็อบที่มาต่อต้านได้ เหมือนที่เคยทำให้เห็นแล้วในยุครัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ แสดงว่าพรรคอันดับสองเลือกที่จะเดินไปสู่หุบเหวมากกว่าทางสว่าง

การตระบัดสัตย์ทิ้งเพื่อนร่วมอุดมการณ์ย่อมสะท้อนให้เห็นแล้วว่าเป็นพวกที่คบได้หรือไม่ ไม่ต่างอะไรกับพวกขบวนการสืบทอดอำนาจและพวกลากตั้ง ท่วงทำนองที่แสดงออกแม้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าเพื่อไทยจะย้ำตลอดระหว่างการหารือกับพรรคขั้วอำนาจเดิมว่า เป็นไปตามมติที่ประชุม 8 พรรคร่วม แต่ท่าทีที่คนส่วนใหญ่เห็นผ่านการแถลงข่าว และการข่าวที่ปรากฏออกมานั้น มันไม่ได้เป็นการเจรจาเพื่อที่จะสร้างความได้เปรียบ หรือแสดงให้เห็นว่า 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลเป็นผู้คุมเกม

ในทางกลับกันกลายเป็นการแสดงออกที่ชัดแจ้งว่า กระบวนการที่เพื่อไทยทำนั้น เพียงเพื่อให้สังคมได้เห็นว่าปัญหาของการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ตรงไหน นิ้วที่จะชี้ไปก็คือก้าวไกล แล้วก็จะนำผลหารือนี้ไปคุยกับที่ประชุม 8 พรรคเพื่อให้ตัดสินใจว่า ก้าวไกลควรเสียสละไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งแนวทางนี้พิธาและแกนนำรวมทั้งลูกพรรคต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นไปไม่ได้ ใครอยากได้อำนาจจนตัวสั่นก็ให้ประกาศแยกตัวไปกันเอง

การปฏิเสธแนวทางที่ฝ่ายประชาธิปไตยเสนอที่ว่าให้ดึงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าพวกลากตั้งจะหมดอำนาจร่วมโหวตในเดือนพฤษภาคมปีหน้า เพื่อที่จะได้โหวตเลือกนายกฯ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนั่นจะทำให้ทั้ง 8 พรรคสามารถตั้งรัฐบาลที่มาจากฉันทามติของประชาชนอย่างแท้จริงได้ ก็ได้รับการปฏิเสธจากพรรคเพื่อไทยโดยอ้างว่า ให้ลำดับความสำคัญน้อยสุด และไม่ควรจะเกิด ถ้าจะเกิดอย่างนั้นจะได้เพียงแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่ไม่มีมาตรา 272 มาเกี่ยวข้องเท่านั้น

ถามว่าคุ้มหรือไม่ ถ้าเป็นหมอชลน่านหรือคนของเพื่อไทยย่อมตอบว่าไม่คุ้ม เพราะตัวเองจะเสียอำนาจในการเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ส้มหล่นที่หวังอยากจะให้คนของตัวเองเป็นนายกฯ ก็จะหมดไป เนื่องจากการไม่มีพวกลากตั้งมาเกี่ยวข้อง ใช้กระบวนการของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หากเวลานั้นพิธายังไม่ถูกดำเนินการจากกรณีหุ้นไอทีวี และปมมาตรา 112 พร้อมพรรคก้าวไกล เจ้าตัวก็จะได้รับการเสนอชื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตเป็นนายกฯ อย่างแน่นอน

ถามว่าใครกันเสียประโยชน์ ประเทศชาติจะอ้างว่าปล่อยให้มีรัฐบาลรักษาการนานขนาดนั้นไม่ได้ ที่เสียเวลามากว่า 9 ปี ถามว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร ไม่ใช่ความทนแต่จำต้องยอมเพื่อรอให้มีการเลือกตั้ง จะได้ทำให้พวกสืบทอดอำนาจตาสว่างว่าการบริหารงานที่ผ่านมานั้นมันล้มเหลวขนาดไหน คนส่วนใหญ่ยอมรับได้หรือไม่ ไม่ได้อดทนแต่ทนอดเพื่อรอเวลาเปลี่ยนแปลง หลังเลือกตั้งแล้วมีปัญหาที่เป็นกลไกของพวกอำนาจสืบทอด แค่เวลา 10 เดือนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยินดีที่จะรอหากจะได้สิ่งที่ดีกว่า

ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบให้หมอชลน่านที่ตั้งคำถามกับสังคมว่า การแลกอย่างนั้นมันจะคุ้มค่ากับการสูญเสียในระยะเวลา 10 เดือนหรือไม่ ถ้าคุ้มค่าก็สมควรกับการแลก คุ้มค่าหรือเปล่าไม่รู้ แต่การันตีได้ว่าบ้านเมืองจะไม่เกิดความวุ่นวาย และคาดเดาไม่ได้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายถึงขนาดไหนหากเพื่อไทยตระบัดสัตย์ไปจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิมก้าวขึ้นสู่อำนาจ ม็อบที่ก่อตัวช่วงวันหยุดที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่าหากมีการเคลื่อนไหว ม็อบจุดติดทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม

การที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยกเอาตรรกะผลเลือกตั้งมาอธิบายต่อกระบวนการขับเคลื่อนทางการเมือง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับสิ่งที่พรรคตัวเองกำลังทำ ชี้ให้เห็นว่านี่จะเป็นหนทางนำไปสู่ความวิบัติ การอ้างว่า ถ้าพวกสืบทอดอำนาจมัดรวมเสียง ส.ส.อย่างเหนียวแน่นก็จะมี 188 เสียง เป็นอันดับ 1 ในสภา ก้าวไกลเป็นอันดับสอง เพื่อไทยเป็นอันดับสาม อยากรู้ว่าต้องการสื่อถึงอะไร เสียงที่อีกฝ่ายมีพอที่จะตั้งรัฐบาลหรือไม่หาก 8 พรรคร่วมจับมือกันไม่ปล่อย

พวกหัวหน้าพรรคเหล่านั้นก็บอกแล้วว่า ไม่มีวันตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ดังนั้น ตรรกะอย่างนี้พรรคอันดับสองจึงไม่ควรจะนำมาอ้าง ยิ่งอธิบายยิ่งทำให้เห็นภาพชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่า กระบวนการความคิดและการเตรียมจะดำเนินการทางการเมืองหลังจากได้รับโอกาสจากก้าวไกลให้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลนั้นจะออกมาในรูปแบบใด คงต้องรอดูกันว่า ความเชื่อที่ว่าขอแค่ได้เป็นรัฐบาลแล้วโชว์ศักยภาพในการบริหารงาน สร้างผลงานให้ปรากฏ หวังว่าประชาชนจะยอมรับและให้อภัยต่อการตระบัดสัตย์นั้น แล้วจะรู้ว่านรกมีจริง การคบกับพวกสืบทอดอำนาจก็เห็นกันอยู่ว่าเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวขนาดไหน เหลี่ยมแม้วยังไม่เข็ดอีกหรือ

แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะไม่เข้าข้างพวกอยากพลิกขั้วเข้าให้แล้ว เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องที่ 2 นักวิชาการยื่นร้องให้ตีความปมใช้มติรัฐสภายกข้อบังคับห้ามเสนอชื่อพิธาโหวตนายกฯ รอบสอง ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด พร้อมกับขอให้มีคำสั่งชะลอการโหวตเลือกนายกฯ ไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย นั่นเท่ากับว่า เป็นจังหวะที่รัฐสภาจะใช้เลื่อนการโหวตนายกฯ ออกไปก่อน อยู่ที่ว่า 8 พรรคและประธานรัฐสภาจะทำหรือไม่ รวมไปถึงให้รอดูผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย ไม่รู้พวกไหนฝ่ายใดจะเข้าข่ายบุญมีแต่กรรมบังหรือเปล่า

Back to top button