KKP ยึดรถ..หดกำไร.!

ปิดจ๊อบแจ้งงบไตรมาส 2/2566 กันไปแล้ว สำหรับกลุ่มแบงก์ โดยภาพรวมก็ถือว่ายังทำกำไรได้ดีแหละ จะมีก็แค่ 2 แบงก์ตระกูล K ที่ผลงานออกมาน่าผิดหวัง


ปิดจ๊อบแจ้งงบไตรมาส 2/2566 กันไปแล้ว สำหรับกลุ่มแบงก์ โดยภาพรวมก็ถือว่ายังทำกำไรได้ดีแหละ จะมีก็แค่ 2 แบงก์ตระกูล K ที่ผลงานออกมาน่าผิดหวัง นำโดย K แบงก์ใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ซึ่งรายงานกำไรสุทธิอยู่ที่ 10,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 10,794 ล้านบาท ต่ำกว่าตลาดคาดเล็กน้อย…

แต่ที่น่าผิดหวังหนักหน่อย เห็นจะเป็น K แบงก์เล็ก ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานกำไรสุทธิที่ 1,408 ล้านบาท ลดลง 30.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 2,033 ล้านบาท

ถามว่าน่าผิดหวังขนาดไหน..? ก็ขนาดที่ว่าเกิดปรากฏการณ์แรงขายกระหน่ำซัมเมอร์เซล 2 วันซ้อน โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ก.ค. 2566 ราคาทรุดไป 7.85% ปิดตลาดที่ 55.75 บาท และจากปกติวอลุ่มเทรดวันหนึ่งไม่ถึง 200 ล้านบาท ก็พุ่งพรวดไปแตะ 1,623 ล้านบาท

ส่วนวานนี้ (25 ก.ค.) ราคาไหลลงไปอีก 1.79% ปิดตลาดที่ 54.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายกว่า 835.06 ล้านบาท

ขณะที่ แบงก์ที่อยู่ในเทียร์เดียวกัน อย่างบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO กลับทำผลงานได้ดีซะงั้น…

ครั้นไปส่องในงบ KKP ก็ถึงบางอ้อ…เกิดจากการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) หรือสำรองหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวอยู่ที่ 1,878 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 812 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 71.2% จากไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1,097 ล้านบาท ที่เป็นตัวกดกำไรในไตรมาสนี้…

ส่งผลให้แค่ครึ่งปีแรก KKP ต้องตั้งสำรองฯ ไปแล้วกว่า 2,975 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 1,878 ล้านบาท

แล้วที่ลึกไปกว่านั้น เหตุที่ต้องสำรองฯ ก้อนโตขนาดนี้ เป็นเพราะผลขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขายที่สูงถึง 967 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 299.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 242 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนจากการขายรถยึดที่มีจำนวน 978 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ และมาตรการเชิงรุกในการบริหารจัดการรถยึดคงค้าง ซึ่งกดดันราคารถมือสอง

อ้าว…กลายเป็นว่า KKP ยึดรถ…แต่กำไรหดซะงั้น..!?

ส่งผลให้ NPL ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.60% จากไตรมาสก่อน ที่ 3.30% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว โดยมูลค่าของ NPL เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบุคคลเป็นหลัก ขณะที่ Coverage ratio ลดลงมาอยู่ที่ 143% จากไตรมาสก่อนที่ 152%

กลายเป็นเซอร์ไพรส์ในเชิงลบของนักลงทุน…เลยเจอแรงขายอย่างที่เห็น

โอเค…ไตรมาส 2/2566 เห็นแผลแล้ว ก็ไม่รู้จะติดเชื้อลุกลามไปถึงไตรมาสต่อ ๆ ไปหรือเปล่า..? อันนี้ต้องติดตามกันต่อไป

แต่เบื้องต้นนักวิเคราะห์หลายสำนักพร้อมใจกันหั่นคาดการณ์กำไรปี 2566 ของ KKP ลง 7-16% โดยคาดมีกำไรราว 6,600-7,200 ล้านบาท และมีทั้งคำแนะนำให้ “ซื้อ” และ “ถือ” ราคาเป้าหมายสูงสุดที่ 78.00 บาท

เอาหน่า…อย่างน้อย ๆ KKP ก็ได้ชื่อว่าเป็นหุ้นปันผลเด่นมาโดยตลอด ถ้ามองว่าเป็นการลงทุนระยะกลาง-ยาว จะมีติดพอร์ตไว้เพื่อนอนรอกินเงินปันผล คาดยีลด์ปีนี้อย่างน้อย ๆ ไม่น่าจะต่ำกว่า 4% ก็พอกล้อมแกล้มอยู่หนา…

แต่ถ้าใครจะเห็นต่างจากนี้ ก็ไม่ว่ากัน…

…เลือกที่สบายใจละกัน…

…อิ อิ อิ…

Back to top button