พาราสาวะถี

มาถึงบทสรุปที่ยังไม่ใช่ตอนอวสานกับการได้รับมอบหมายจากมติที่ประชุม 8 พรรคให้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หนึ่งในภารกิจสำคัญคือประสานเสียง สว.และพรรคอื่น


มาถึงบทสรุปที่ยังไม่ใช่ตอนอวสานกับการได้รับมอบหมายจากมติที่ประชุม 8 พรรคให้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หนึ่งในภารกิจสำคัญคือประสานขอเสียง สว.และพรรคการเมืองอื่นที่อยู่นอกเหนือเอ็มโอยู ต้องรอกันไปก่อนจากเดิมที่เพื่อไทยนัดหมาย 8 พรรคประชุมวานนี้ ต้องเลื่อนไปก่อน เพราะการโหวตนายกฯ วันที่ 27 กรกฎาคมนี้ถูกยกเลิกไป แต่โจทย์ที่พรรคเพื่อไทยไปรับมาจากการพูดคุย ถูกส่งไม้ต่อให้พรรคก้าวไกลไม่ใช่ว่าจะอยู่ร่วมกันต่อหรือเสียสละไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะพรรคอันดับ 1 ไม่ทำเช่นนั้นแน่ แต่สิ่งที่อยากรู้คือปมแก้ไขมาตรา 112 พวกที่ต่อต้านนั้นติดใจในประเด็นใด

เป็นการลงลึกในรายละเอียดเพื่อที่จะให้ก้าวไกลได้กลับไปพิจารณาว่าลดเพดานของประเด็นที่ได้เสนอเป็นนโยบายไปแล้วอย่างไร หรือความจริงแล้วนั่นเป็นเพียงแค่ปมที่ใช้หาเหตุในการไม่สนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และกีดกันไม่ให้ก้าวไกลเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเท่านั้น ความจริงไม่ว่าจะยกเลิกเรื่องนี้ หรือลดเพดาน ปรากฏการณ์ที่เห็นจากกรณีสองเรื่องที่คาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่า เป็นความต้องการที่จะขจัดพรรคสีส้มให้พ้นเส้นทางการเมือง เหมือนที่เคยทำกับอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้

บริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป การตื่นรู้ ปฏิกิริยาของมวลชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อคราวยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้ฝ่ายจ้องจะเล่นงานต้องคิดหนัก แม้แต่พรรคการเมืองด้วยกันเองก็ต้องชั่งใจ การถูกกระทำไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม มันหมายถึงโอกาสแลนด์สไลด์ของก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าพรรคนี้จะอยู่ในสารบบการเมืองไทยต่อไปหรือเปลี่ยนไปเป็นพรรคใหม่แล้วก็ตาม เหมือนที่พรรคของ ทักษิณ ชินวัตร เคยได้รับความนิยมและสงสารมาตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย

การไม่ลืมกำพืด และปมที่ตัวเองถูกกระทำต้องมาก่อนความกระสันอยากในการอยากได้เก้าอี้บริหารประเทศ แน่นอนว่า เสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยในพรรคอาจจะไม่ดังเท่าผู้บริหารพรรค แต่อย่างน้อยก็ช่วยกระตุกเตือนว่า การพลิกขั้วไปสมสู่กับขบวนการสืบทอดอำนาจมีแต่หายนะเท่านั้นที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้น การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องของที่ประชุมรัฐสภาใช้มติอ้างข้อบังคับที่ 41 ไม่ให้พิธาถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ รอบสอง พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชั่วคราวเลื่อนการโหวตนายกฯ ไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยนั้น จึงน่าจะเป็นจังหวะที่ให้ผู้บัญชาการพรรคเพื่อไทยและคณะผู้บริหารมีเวลาได้ทบทวน

แม้ว่ายังไม่อาจคาดเดาได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องไว้พิจารณาหรือไม่ หากรับแล้วจะมีการกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัย ด้วยการมีคำสั่งให้รัฐสภายุติการเลือกนายกฯ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยหรือไม่ นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับกระบวนการเจรจาหรือจับมือเพื่อตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะ 8 พรรค เพราะแม้จะมีคำสั่งให้ชะลอการเลือกนายกฯ ออกไปก็จะมีผลใช้บังคับได้เพียงไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลกำหนดมาตรการชั่วคราวเท่านั้น

จุดวัดใจจึงอยู่ที่เพื่อไทยจะพลิกขั้วหรือเปล่า ถ้าไม่พลิกจะเดินเกมร่วมในฐานะ 8 พรรคตั้งรัฐบาลกันอย่างไร สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นปล่อยให้มีการลากยาวกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ ออกไปจนกว่าพวกลากตั้งจะหมดอำนาจในการร่วมลงมติในเดือนพฤษภาคมปีหน้า หรืออีกประมาณ 10 เดือน คงไม่ถึงขั้นที่ว่าจะมีการถอดใจปล่อยให้พรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำในการประสานพรรคการเมืองต่าง ๆ ตั้งรัฐบาล เพราะหาก 8 พรรคจับมือกันแน่น 188 เสียงที่มี ก็จะเป็นได้แค่รัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งไปไม่รอดตั้งแต่คิดแล้ว

ส่วนที่มองว่าปล่อยให้ตั้งกันไปก่อน แล้วเพื่อไทยจะฉีกเอ็มโอยูกระโดดเกาะร่วมขบวนด้วยนั้น ถามกันดัง ๆ ว่าจะยอมเสียศักดิ์ศรีกันขนาดนั้นเชียวหรือ ความจริงปัญหาที่เกิดต้องปล่อยให้ขบวนการสืบทอดอำนาจที่วางแผนกันมาเป็นฝ่ายแก้ไข แก้ไม่ได้ก็ต้องถามหาความรับผิดชอบ โดยเฉพาะพวกที่ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองโดยไร้ทางออก ทั้งคำถามพ่วงให้พวกลากตั้งมาร่วมโหวตนายกฯ และการไม่จำกัดระยะเวลาในการประชุมเพื่อเลือกผู้นำประเทศ

ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ระบุไว้ชัดว่า การเลือกนายกฯ ต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภา ถ้า 30 วันแล้ว ยังไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกินครึ่ง ก็ให้เลือกหนที่ 2 หนที่ 2 ถ้าใครได้คะแนนเสียงสูงสุดให้นำชื่อคนนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ กรณีนี้ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ “เขาอยากอยู่ยาว” ฉีกทิ้ง ได้บรรยายทางกฎหมายเอาไว้ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ล็อกเวลาในการโหวตเลือกนายกฯ เอาไว้ ก็หมายความว่า เลือกไปได้เรื่อย ๆ ถ้าพรรคการเมืองตกลงกันไม่ได้ อาจจะใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้

นั่นหมายความว่า ระยะเวลาที่เหลือ 10 เดือนจึงไม่ใช่ปัญหา โดยที่ต่างประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง อิตาลีและเบลเยี่ยม ก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว การอ้างต่าง ๆ นานาของบรรดานักเลือกตั้งบางคน และพรรคการเมืองบางพวกนั้น จึงเป็นเพียงการหาเหตุเพื่อสนองตัณหาที่อยากจะเป็นรัฐมนตรีเท่านั้น หาใช่ประเด็นความห่วงใยต่อบ้านเมืองไม่ ล่าสุด ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็บอกเองว่าใครจะตั้งรัฐบาลก็ทำกันไป “เราก็ดูแลบ้านเมือง ทำหน้าที่ของเราไป แต่อยากให้อยู่ในความสงบ เพราะทุกอย่างกำลังจะดี เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นักท่องเที่ยวก็กำลังมานะ”

แสดงว่ารัฐบาลรักษาการยังทำงานได้อยู่ แม้จะยากลำบากด้วยเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้โดยรัฐธรรมนูญ เมื่อคนอยากอยู่ยาวการันตีว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ท่องเที่ยวก็ไปได้ การรอต่อไปอีก 10 เดือนเพื่อให้ได้รัฐบาลที่มีคุณภาพจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย การเน้นย้ำว่าอยากให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายต้องการพลิกขั้วต้องเลิกทำ เพราะนั่นมีโอกาสที่ประเทศจะลุกเป็นไฟ ได้รัฐบาลมาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มิหนำซ้ำ ยังจะหนักข้อยิ่งกว่าเดิม ถือว่าไม่คุ้มค่าที่จะต้องเสี่ยง

ความจริงทางเลือกของเพื่อไทยไม่ได้มีอะไรซับซ้อนหากไม่มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่มากไปกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ต้องจับมือกันในฐานะ 8 พรรคร่วมให้แน่น เพราะนี่คือเสียงที่มาจากฉันทามติของประชาชน เป็นเสียงที่มีพลังและมีความชอบธรรมอย่างสง่างามในการที่จะได้อำนาจบริหารประเทศ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้กรณียังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ต้องโยนให้เป็นเรื่องของพวกลากตั้งและขบวนการสืบทอดอำนาจ อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเป็นไป คิดง่าย ๆ ทุกอย่างเป็นไปตามกรรม

Back to top button