KBANK ตั้งสำรองเรื้อรัง.!

สร้างความผิดหวังไม่น้อย เมื่อ KBANK ประกาศตัวเลขกำไร Q2/66 ออกมา 10,994 ลบ. ไม่ใช่ว่าตัวเลขกำไรไม่ดี แต่ตัวเลขการตั้งสำรองสูงถึง 12,784 ลบ.


สร้างความผิดหวังไม่น้อย..เมื่อธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ประกาศตัวเลขกำไรไตรมาส 2/66 ออกมาที่ 10,994 ล้านบาท ไม่ใช่ว่าตัวเลขกำไรไม่ดี แต่ตัวเลขการตั้งสำรองสูงถึง 12,784 ล้านบาท ไม่เพียงไม่ลด แต่ยังกลับเพิ่มขึ้นเทียบไตรมาส 1/66 ที่มีการตั้งสำรอง 12,692 ล้านบาท และไตรมาส 2/65 มีตัวเลขตั้งสำรอง 9,852 ล้านบาท

นั่นทำให้ KBANK ถูกตั้งคำถามว่าจะผ่านพ้นวิบากกรรมจาก “โรคตั้งสำรองเรื้อรัง” ได้อย่างไร.!?

แต่กว่าจะถึงคำตอบนั้น…ระหว่างทางมีหลายประเด็นที่ KBANK ต้องเผชิญและท้าทายฝีมือการบริหารจัดการของผู้บริหารไม่น้อยทีเดียว

เริ่มจากแผนการ “สะสางงบดุล” ที่ฝ่ายบริหารหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ดูเหมือนมีเหตุต้องเลื่อนไปช่วงปีหน้า หลังพบว่า “ลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง” ที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้ กดดันให้ต้องตั้งสำรองระดับสูงต่อไป

นั่นหมายถึงการกลับมาตั้งสำรองระดับปกติได้ อาจต้องรอถึงปี 2568 เลยทีเดียว..

ตามมาด้วย NPL เพิ่มขึ้นช่วงไตรมาส 2/66 มาจากลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง นั่นคือบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK มีโอกาสต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมได้อีก

นี่ยังไม่รวมเรื่องการเร่งจัดชั้นที่เข้มงวดจากสินเชื่อ SME และรายย่อยเพิ่มขึ้น โดยลูกหนี้ SME และรายย่อยมีแนวโน้มเป็น NPL ได้ต่อเนื่อง

ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ดูเหมือนมีผลกระทบจำกัดและจัดการได้ เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลหมุนเวียน (Revolving) และบัตรเครดิต ที่จ่ายขั้นต่ำประมาณ 150,000 ล้านบาท

ทั้งนี้…ผู้บริหารประมาณการว่าจะมีลูกหนี้เข้าร่วมไม่มากนัก..!!

อีกหนึ่งไฮไลต์ นั่นคือเป้าหมายปี 2566 ที่ผู้บริหารยอมรับว่า “สินเชื่ออาจเติบโตไม่ถึงเป้า 5-7%” แต่ภาพรวมครึ่งหลังปี 2566 จะเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา..

ขณะที่ NIM มีโอกาสเพิ่มขึ้นช่วงไตรมาส 3/66 จากกนง.จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับขึ้นทุก ๆ 0.25% จะทำให้ NIM เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5-8%

“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBANK ประเมินว่า“ช่วงครึ่งปีหลังแม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจประคองทิศทางการเติบโตได้ แต่แนวโน้มภาพรวมยังเปราะบาง มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม..

โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองในประเทศ นโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ สัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเด็นคุณภาพหนี้ หลังอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ทยอยปรับขึ้นตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา”

ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 66 KBANK มีสินทรัพย์รวม 4,268,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2565 จำนวน 21,731 ล้านบาท หรือ 0.51% หลัก ๆ เกิดจากรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิและเงินลงทุนสุทธิเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดีเงินให้สินเชื่อสุทธิลดลง เป็นผลจากการดำเนินการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ อย่างเช่น การปรับ โครงสร้างหนี้ การขายหนี้ การตัดหนี้สูญ เป็นต้น อย่างไรก็ตามเงินให้สินเชื่อใหม่ยังเติบโตตามกลุ่มลูกค้า ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร

ส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.20% และค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ 147.31%

สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน KBANK ตามหลักเกณฑ์ Basel III มีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.01% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.04%

ดูจากอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ของ KBANK ถือว่าแข็งแกร่งไม่น้อยหน้ากลุ่ม Big 4 เลยทีเดียว แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า “โรคตั้งสำรองเรื้อรัง” จะทุเลาหรือหายขาดจริง ๆ ได้เมื่อไหร่..!!??

Back to top button