BBL สินเชื่อรายใหญ่ดันกำไร
BBL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 11,293.52 ล้านบาท เติบโต 62.24% จากไตรมาส 2/2565 และขยายตัว 11.49% จากไตรมาส 1/2566
คุณค่าบริษัท
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อตามประเภทธุรกิจ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 1.อุตสาหกรรมการผลิตและการพาณิชย์ 29.7% 2.การสาธารณูปโภคและบริการ 18.3% 3.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 12.6% 3.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 7.2% 5.การเกษตรและเหมืองแร่ 3.3% 6.ธุรกิจอื่น ๆ 28.9%
BBL รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 11,293.52 ล้านบาท เติบโต 62.24% จากไตรมาส 2/2565 และขยายตัว 11.49% จากไตรมาส 1/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 10,129.29 ล้านบาท กำไรที่ขยายตัวดีจากไตรมาส 1/2566 มาจากกำไรจากตราสารทางการเงินที่ซึ่งวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) อยู่ที่ 3,372 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2566 เทียบกับ 1,445 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2566 เนื่องจากสภาวะตลาดที่ดีขึ้นและสินเชื่อรวมที่สูงขึ้น 2% จากไตรมาส 1/2566 รวมถึง NIM ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่กำไรที่เติบโตแข็งแกร่งเมื่อเทียบไตรมาส 2/2565 ได้แรงหนุนจาก NIM ที่สูงขึ้น 0.64% จากไตรมาส 2/2565 ตามอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อมาตรฐานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลง ด้านบล.เคจีไอ ระบุว่า NIM ที่ดีขึ้นมาจากยีลด์จากการปล่อยกู้ในตลาดเงิน และการลงทุนในตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามยีลด์สินเชื่อเพิ่มขึ้นเพียง 0.10% ซึ่งช้ากว่าต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น 0.20% อาจจะกล่าวได้ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ NIM ดีขึ้นคือโครงสร้างสินทรัพย์เปลี่ยนแปลงไป
ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 BBL มียอดสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 93,285 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ 2.9% ลดลงเมื่อเทียบสิ้นไตรมาส 1/2566 ที่ 3.1% และเทียบสิ้นปี 2565 ที่ 3.1% ส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (LLR) มีจำนวน 267,836 ล้านบาท BBL ตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) สูงขึ้นมาที่ 1.33% ในไตรมาส 2/2566 จาก 1.27% ในไตรมาส 1/2566 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 287.1% สูงขึ้นเมื่อเทียบสิ้นไตรมาส 1/2566 ที่ 265.1% และเทียบสิ้นปี 2565 ที่ 260.8% และสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของไทย
ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 BBL มียอดสินเชื่อรวม 2,698,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากสิ้นไตรมาส 1/2566 และเพิ่มขึ้น 0.6% จากสิ้นปี 2565 ส่วนใหญ่จากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ โดยสินเชื่อระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้นถึง 10% จากไตรมาส 1/2566 และราว 27% จากไตรมาส 2/2565 โดยยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาส 1/2566 ส่วนใหญ่จากภาคธุรกิจอื่น ๆ และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 จากภาคธุรกิจอื่น ๆ ขณะที่ธุรกิจการสาธารณูปโภคและบริการลดลง
ข้อมูลจาก Refinitiv Consensus สำหรับ BBL ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2566 ที่ 162,158.58 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 40,004.07 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 185.82 บาท จาก 20 โบรกเกอร์
บล.กสิกรไทย คาดว่ากำไรไตรมาส 3/2566 จะยังคงยืนเหนือระดับ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก 1.NIM ที่ขยับขึ้นต่อเนื่องตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น เนื่องจากคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาส 3/2566 เป็น 2.25% 2.การเติบโตของสินเชื่อจากสินเชื่อธุรกิจ และ 3.credit cost ที่อาจจะลดลง
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น BBL ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 25 ก.ค. 2566 ที่ 168.50 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 9.95 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 8.81 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น BBL อยู่ที่ 0.62 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.69 เท่า