การเมือง-ภัยแล้ง-หนี้ครัวเรือน ฉุด GDP ไทย
ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์ทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วงที่เหลือของปี 2566
เส้นทางนักลงทุน
ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงว่าสถานการณ์ทางการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (GDP) ในช่วงที่เหลือของปี 2566
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายค่ายยังเชื่อมั่นว่า GDP ไทยในครึ่งหลังของปีนี้ยังสามารถเติบโตได้ แต่ก็อยู่ในภาวะที่ท้าทาย เพราะจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามาฉุดรั้งหลายด้าน
โดยในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นภาพการขยายตัวที่ดีกว่าครึ่งปีแรก รับแรงหนุนฤดูกาลท่องเที่ยว คาดทั้งปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 28.5 ล้านคน ทำให้ GDP ครึ่งหลังปีนี้ จะขยายตัวราว 4.3% จากครึ่งปีแรก 3%
แต่มี 3 โจทย์สำคัญท้าทายการฟื้นตัวของ GDP คือ 1.การจัดตั้งรัฐบาล และการรับมือกับเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแรง ซึ่งเป็นความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจอาเซียนและไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง
2.ภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรคิดเป็นมูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาทแล้วในปีนี้ โดยเฉพาะกับธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง ซึ่งมีโอกาสประสบกับสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อย หรือน้อยจนเข้าขั้นวิกฤต ธุรกิจอาจต้องลดกำลังการผลิตหรือจำกัดการให้บริการ ทำให้สูญเสียรายได้ ส่วนบางอุตสาหกรรม เช่น อาหาร ยังมีต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่จะสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ภัยแล้งอาจลากยาวไปถึงปี 2567 และความรุนแรงอาจมากกว่าในปี 2566
3.หนี้ครัวเรือนสูง สัดส่วน 88.5-91% ในช่วงปลายปีนี้ จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2566 และคาดสัดส่วนหนี้จะยังไม่ลดลงแตะ 80% แม้มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้หนี้ใหม่โตช้าลง และหนี้เก่าลดลงเร็วขึ้นกว่าเดิม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการ GDP ปี 2566 ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่ติดลบ 1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีความซับซ้อนซึ่งเป็นโจทย์ที่รอการแก้ไข
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารยูโอบี ระบุว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 มอง GDP จะฟื้นตัวต่อเนื่อง มีอัตราไม่น้อยกว่า 3% ในปีนี้ และขยับเป็น 3.5% ในปี 2567 ซึ่งเป็นผลพวงการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว หนุนด้วยปัจจัยภายนอกจะช่วยให้ไทยคงสถานภาพดุลการค้าเกินดุล โดยเชื่อมั่นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี มีสถานะทางการคลัง และนโยบายการเงินที่มั่นคง
ทั้งนี้ คาดอัตราเงินเฟ้อไทยเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 2.7% เมื่อเทียบกับ 6% ในปีที่ผ่านมา และเฉลี่ยทั้งปี 2567 จะลดลงไปอยู่ที่ 2.2% เงินเฟ้อที่ต่ำจึงกระทบเชิงลบน้อยลงต่อ GDP โดยรวม และสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของธปท.ที่ประเมินอยู่ที่ 1-3%
แม้ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายการเข้าสู่สังคมสูงวัย และปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังคงสามารถมองหาโอกาสในการพัฒนา จากภาคการส่งออกอาหารที่มีความเข้มแข็ง การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และอีคอมเมิร์ซ
ก่อนหน้านี้ (มิ.ย. 2566) ธนาคารโลก (World Bank) ปรับคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 3.9% จากเดิม 3.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย. 2566 มองโมเมนตัมการฟื้นตัวจะแข็งแกร่งขึ้นจากที่ขยายตัว 2.6% ในปี 2565 จากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ก่อนที่จะชะลอลงในระยะข้างหน้าจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงในประเทศเศรษฐกิจหลัก
การบริโภคภาคเอกชน ในปีนี้จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ถือว่ายังคงแข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และดีขึ้นของตลาดแรงงานและความต้องการท่องเที่ยวจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากที่อั้นมานาน แต่การลงทุนภาครัฐจะยังคงอ่อนแอ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ใช้เวลานาน
ส่วน GDP ในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% และ 3.4% ตามลำดับ การท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายนอกอ่อนตัวลง สำหรับศักยภาพการเติบโตในระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งชะลอลงจากกว่า 3.6% ในช่วงปี 2553-2562
สำหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เมื่อเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้ลงสู่ 3.4% ซึ่งลดลง 0.3% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน ต.ค. 2565 ส่วนในปี 2567 นั้น IMF คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะเติบโต 3.6% ซึ่งเท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว
ณ ปัจจุบัน ถือว่าปัญหาการเมือง ภัยแล้ง หนี้ครัวเรือน เป็น 3 โจทย์ใหญ่ที่ไทยจะต้องฝ่าฟันไปให้ได้