3 ปัจจัยทำ ‘ฟันด์โฟลว์’ หาย หุ้นไทยหงอย
เกิดคำถามมากมายสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยท่ามกลางภาวะนักลงทุนต่างชาติเทขาย ขณะที่นักลงทุนในประเทศถอยห่างออกจากตลาด นำไปสู่ปัญหา “สภาพคล่องหดหาย”
เส้นทางนักลงทุน
เกิดคำถามมากมายสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยท่ามกลางภาวะนักลงทุนต่างชาติเทขาย ขณะที่นักลงทุนในประเทศถอยห่างออกจากตลาด นำไปสู่ปัญหา “สภาพคล่องหดหาย” ซึ่งเรื่องนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์ว่า มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยพื้นฐานของไทยที่ค่อนข้างเปราะบาง
ฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ไหลออกสุทธิกว่าแสนล้านบาทในช่วงครึ่งแรกปี 2566 หลังสภาพคล่องทั่วโลกถูกดึงออกจากระบบตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา กดดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ร่วงต่ำสุดในรอบ 2 ปี
ปรากฏการณ์ต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐานของไทยที่ค่อนข้างเปราะบางอยู่ก่อนแล้วตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผลตอบแทนหุ้นไทยที่ต่ำกว่าภูมิภาค เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้าลง และความไม่แน่นอนทางการเมือง
ตลาดหุ้นไทยกำลังเข้าสู่ภาวะตลาดซบเซา หรือตลาดหมี (Bear Market) ชัดเจนมากขึ้น จาก SET Index ที่ร่วงลงต่อเนื่องจนหลุดแนวต้านสำคัญที่ 1,500 จุด ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเบาบางลงเพียง 3-4 หมื่นล้านบาท/วัน จากที่เคยสูงถึงแสนล้านบาท/วัน
ต่างชาติขายสุทธิตลอดช่วงครึ่งแรกของปีกว่า 1.07 แสนล้านบาท ด้านรายย่อยที่ส่วนใหญ่เป็นขาช้อนซื้อก็ลดลงไปมาก สอดคล้องกับจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นในรอบ 6 เดือนล่าสุด (Active User) ที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเหลือเดือนละ 9.8 แสนบัญชี เทียบกับช่วงตลาดร้อนแรงที่สูงถึง 1.3 ล้านบัญชี ซึ่งกรณีที่ฟันด์โฟลว์ต่างชาติหลั่งไหลออกจากตลาดหุ้นไทย ขณะที่นโยบายการเงินทั่วโลกก็ตึงตัวขึ้นกว่าในอดีตมาก
ปรากฏการณ์ต่างชาติขายหุ้นไทยไม่หยุดอาจไม่ใช่เพียงปัจจัยด้านสภาพคล่องในตลาดที่หดหายไปเพียงชั่วคราว แต่ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐานของไทยที่ค่อนข้างเปราะบาง คือ 1.หุ้นไทยแพง-กระจุกตัว ผลตอบแทนต่ำ ในเดือน มิ.ย. 2566 ราคาหุ้น/กำไรในอดีต (Historical P/E) ของไทย โดยเฉลี่ยค่อนข้างสูงที่ 19.9 เท่า สูงกว่าระดับก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 19.4 เท่า และสูงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคผ่านดัชนี MSCI เอเชียแปซิฟิก ไม่รวมญี่ปุ่น (MSCI All Country Asia Pacific ex Japan) อยู่ที่ 14.9 เท่า และดัชนี MSCI ตลาดเกิดใหม่ (MSCI Emerging Markets) 12.98 เท่า
ในทางกลับกัน อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Market Dividend Yield) ของไทยกลับต่ำกว่าภูมิภาคที่ 3.2% เทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียที่ 5.0% และ 4.4% ตามลำดับ ขณะที่ตลาดยังมองว่าราคาหุ้น/กำไรในอีก 1 ปีข้างหน้า (Forward P/E) ของไทยจะทยอยลดลงมาอยู่ที่ 16.1 เท่า แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นในเอเชียถึง 30% ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตลอดครึ่งแรกของปีต่ำกว่าคาด ส่งผลให้ต่างชาตินำเงินออกไปลงทุนในตลาดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
นอกจากนี้ หุ้นขนาดใหญ่เป็นหุ้นหน้าเดิมที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก หากพิจารณาบจ. 50 อันดับแรก (SET50) ตามมูลค่าตลาดในปัจจุบัน กว่า 64% ของกลุ่มนี้ เป็นบจ.ดั้งเดิมตั้งแต่ 10 ปีก่อน ขณะที่บางส่วนโตจากการควบรวมกิจการ (M&A) มูลค่าตลาด SET50 ก็มีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทยถึงเกือบ 70% หรือ 12.4 ล้านล้านบาท กระจุกตัวในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่อิงกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (Cyclical Stock) ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเป็นหุ้นที่เติบโตสูง (Growth Stock) กลับมีน้ำหนักเพียง 14% ของมูลค่าตลาด ท่ามกลางบจ.รายใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้น ซึ่งยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน
2.เศรษฐกิจเปราะบางตั้งแต่ก่อนโควิด-ไร้ปัจจัยหนุนใหม่ เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเฉลี่ยปีละ 3-4% ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ที่โตได้ถึงปีละ 5-7% รายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) ของไทยขยายตัวต่ำสุดในอาเซียนเฉลี่ยเพียงปีละ 2% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคู่แข่งอย่างเวียดนาม ที่รายได้ต่อหัวโตเฉลี่ยปีละ 5.4% อีกทั้งผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยไม่สามารถกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพในอดีตได้โดยง่าย
ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนสูงที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง การขาดแคลนวัยแรงงานท่ามกลางโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ผลกระทบที่ตามมาคงหนีไม่พ้น การเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวที่จะมีแนวโน้มลดลง ท่ามกลางแรงกดดันจากภาระทางการคลังตึงตัวมากขึ้น ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เจอปัญหาเชิงโครงสร้างและการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำไม่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว
3.เสถียรภาพทางการเมืองต่ำ ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน นับแต่ปี 2556 ต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องแทบทุกปี ในปีที่มีการเลือกตั้ง ต่างชาติจะเทขายหุ้นออกมาบางส่วนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ก่อนที่จะเห็นแรงซื้อกลับเข้ามาเป็นลำดับ ในทางกลับกัน การเลือกตั้งรอบนี้ต่างชาติขายสุทธิเพิ่มเติมหลังเลือกตั้งต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท สะท้อนความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายและบั่นทอนความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติในระยะยาว เห็นได้จากเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังปี 2556 และลดลงมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย
ไม่เพียงต่างชาติลงทุนน้อยลง ในประเทศยังมองหาการลงทุนนอกบ้านอีกด้วย โดยบจ.ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ไปลงทุนนอกประเทศต่อเนื่องปีละ 1-2 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันสนใจหุ้นไทยลดลง สะท้อนจากตัวเลขการซื้อขายกองทุนจากสถาบันในประเทศในกลุ่มหุ้นในประเทศที่ลดลงอย่างมากจากซื้อสุทธิเฉลี่ย 9.4 พันล้านบาท ในปี 2560–2562 มาเป็นขายสุทธิ 6.4 พันล้านบาท ในช่วงปี 2564 จนถึง 6 เดือนแรกของปี 2566 สวนทางกับสัดส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เทียบกับกองทุนทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นจาก 18.7% เป็น 20% ภายในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ttb analytics มองว่า SET Index ครึ่งหลังปี 2566 มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้บ้าง จากตลาดรับรู้ความเสี่ยงไปแล้ว โดยปัจจัยที่ช่วยให้เกิด Upside หนีไม่พ้นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและความชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจที่จะพัวพันไปถึงการตั้งงบประมาณปี 2567 ซึ่งอาจช่วยดึงฟันด์โฟลว์ต่างชาติได้ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเจอแรงปะทะรอบด้านเช่นนี้