‘ต่างชาติ’ เล่นเกมต้มกบ ‘รายย่อย’

การเข้าใจพฤติกรรมของนักลงทุนรายกลุ่ม ในทำนองของเหตุผล การซื้อ หรือขายหุ้น ในช่วงเวลานั้น ๆ สามารถนำพาให้การลงทุนไปสู่ความสำเร็จได้


การเข้าใจพฤติกรรมของนักลงทุนรายกลุ่ม ในทำนองของเหตุผล การซื้อ หรือขายหุ้น ในช่วงเวลานั้น ๆ สามารถนำพาให้การลงทุนไปสู่ความสำเร็จได้

โดยส่วนใหญ่ มักจะมีเหตุผลที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของภาพรวมเศรษฐกิจต่างประเทศ ในประเทศ เฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ พื้นฐานของหุ้นตัวนั้นเข้ามาสนับสนุน ไม่ว่าจะเชิงบวกหรือลบ 

ปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่มีแต่ความไม่แน่นอน รวมถึงความเสี่ยงของการฟื้นตัวที่มีแนวโน้มต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นรอบบ้านแล้ว ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวม ๆ แล้วอยู่ในปริมาณก้อนใหญ่พอสมควร 

นับจากต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ต่างชาติขายสุทธิ 1.2 แสนล้านบาท (7 เดือน) อันนี้พอเข้าใจได้ 

ต่างจาก นักลงทุนรายย่อย ที่ยังทยอยสะสมหุ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่จะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับต่างชาติเสมอ 

ในกรณี ณ วันใดก็ตาม ที่ ต่างชาติขายสุทธิ ก็จะมีรายย่อยเป็นผู้ซื้อสุทธิ ในขณะที่วันที่ต่างชาติ ซื้อสุทธิ รายย่อยจะเป็นผู้ขายสุทธิ 

ในขณะที่ กองทุน มักจะมีสัดส่วนที่เล่นไปในทิศทางเดียวกับต่างชาติ จะมีแตกต่างกันบ้าง 20-30% แต่ส่วนใหญ่ 60-70% จะเล่นคล้าย ๆ กัน

เนื่องจากกองทุน จะมีข้อมูลระหว่างวันว่า ครึ่งวันเช้าตลาดหุ้นปิดไป ต่างชาติ take action ไปฝั่งไหน และส่วนใหญ่ จะไม่เล่นฝืน หรือเล่นสวนกัน เพราะรู้ว่าถ้าเล่นสวนทางกันมักจะมีโอกาสเจ็บตัวได้

กลับมาที่การอ่านเกมตลาดหุ้น ในช่วงเวลานี้ของนักลงทุนรายย่อย ทำไมจึงทยอยสะสมหุ้นกันเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ ยิ่งเห็นตลาดที่เป็นไปในลักษณะของ การต้มกบ กล่าวคือ

ลักษณะของตลาดหุ้นช่วงนี้จะเป็นไปแบบ เปิดตลาดช่วงเช้า SET INDEX บวกดี เขียวสว่างไสว พอตกบ่าย พลิกมาเป็นแดงเข้ม บางวันยังไม่ทันตกบ่าย หลัง 11 โมง ก็แดงเสียแล้ว

เหตุผลที่ยกเรื่องนี้มาพูดเป็นประเด็นเพราะ ผู้เขียนเองก็มีมุมมองในส่วนของ รายย่อย แต่ทำไมถึงคิดไม่เหมือนกันกับ รายย่อยคนอื่น ๆ ที่เข้าไปซื้อหุ้นตอนไฮช่วงเช้า และยอมเห็นหุ้นร่วงลงมาในช่วงบ่าย 

ลักษณะตลาดช่วงนี้ คือ เปิดสูงปิดต่ำ เกือบทุกวัน ระหว่างวันมีแรงเทขายจากนักลงทุนรายกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาเลยไม่เข้าใจว่า ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่เรายังไม่เข้าใจรายย่อยอีกหรือ?

หรือว่าเราอาจจะมองอะไรบางอย่างที่อาจจะพลาดไป รายย่อยที่ทยอยสะสมหุ้นไปตั้งแต่ต้นปี 2566 จนปัจจุบัน มูลค่าเกิน 8 หมื่นล้านบาท อาจจะกลายเป็นเศรษฐีในอีก 5 เดือนที่เหลือข้างหน้าของปีนี้ก็เป็นได้

คำว่าเหลืออีก 5 เดือน หากเทียบสถิติการเทขายหุ้นของต่างชาติ ในแง่ลบ นั้นก็แสดงว่า ต่างชาติมีโอกาสขายหุ้นได้อีก 5 เดือน ซึ่งลำพังแค่ 7 เดือนที่ผ่านมาขาย –1.2 แสนล้านบาท 

หากเทียบแค่ครึ่งหนึ่งของที่ขายไปแล้ว (6 หมื่นล้านบาท) ก็จะใกล้เคียงกับยอดซื้อสุทธิของต่างชาติในปี 2565 ที่มียอด net buy +1.9 แสนล้านบาท 

คำถามคือ ถ้าต่างชาติยังเทขายหุ้นอีก ดัชนีจะปรับตัวขึ้นหรือลง รายย่อยจะเอาเงินมางัดสู้ หรือจะถอยรับจากแรงขายของต่างชาติ 

หากประเมินจากสถานะของรายย่อยในตอนนี้ ที่เพลี่ยงพล้ำ และสูญเสียเงินไปพอสมควร นับตั้งแต่หุ้น MORE-STARK-OTO-วอร์แรนต์ ของหุ้นเหล่านี้ ฯลฯ 

รวมถึงหุ้นไอพีโอที่เพิ่งเข้ามาย้อนหลังไป 4-5 ตัวล่าสุดที่ผ่านมา ที่ได้สร้างความตราตรึง และความทรงจำเชิงลบอยู่ไม่นาน

ทำให้แนวโน้มพฤติกรรม รายย่อยที่จะซื้อหุ้นเป็นอย่างหลังมากกว่า ประกอบกับ หุ้นที่ต่างชาติขายออกมา ส่วนใหญ่ 90% คือหุ้น SET50 ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้มีผลกดดันต่อดัชนี 

เหตุผลเดียว ที่ประเมินว่า รายย่อยทยอยสะสมหุ้นช่วงนี้ เพราะคาดหวังการเมือง เศรษฐกิจที่อาจจะดีขึ้น ภายหลังการเปลี่ยนผู้บริหารประเทศ

แต่ความหวังนี้ ต่างชาติ ไม่ให้ราคา ไม่เช่นนั้น ออเดอร์ 1.2 แสนล้านบาท เราคงไม่เห็นการย้ายเงินออกจากตลาดหุ้นทั้งที่มีข่าวดี (ของคนในประเทศ) แบบนี้อย่างแน่นอน

ช่วงที่ผ่านมาใครใช้ปัจจัยทางการเมือง มาเป็นข้อกำหนดทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้น อาจจะพบกับความเสียหาย เพราะมันสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับ mindset โดยมีเรื่องการเมืองเข้ามาผูก 

ข่าวสารการเมือง ทำให้เราละเลยการใช้กราฟเป็นตัวกำหนด และกลายเป็นจินตนาการไปเพิ่มว่า กราฟจะต้องตัดขึ้น จากการเมืองที่เป็นแบบนั้น หรือแบบนี้ 

ทางที่ดีควรตัดเรื่องการเมืองออกจาก mindset ที่จะใช้ในการอ่านตลาดประกอบ เพราะตอนนี้ประเด็นการเมืองในเชิงบวก อาจจะเป็นยาพิษที่รายย่อยบริโภคเข้าไป ในช่วงที่ต่างชาติมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะขนเงินออกจากตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่าน

จน รายย่อยกลายเป็นเหยื่อ ถูกต่างชาติ ต้มกบ อยู่ในตอนนี้

Back to top button