พาราสาวะถี

เป็นช่วงหยุดยาวที่ข่าวสารทางการเมืองไม่ได้หยุดตามไปด้วย มิหนำซ้ำ ยังถูกเกาะติดกันอย่างใกล้ชิดว่าด้วยสูตรตั้งรัฐบาลหรือสมการการเมือง


เป็นช่วงหยุดยาวที่ข่าวสารทางการเมืองไม่ได้หยุดตามไปด้วย มิหนำซ้ำ ยังถูกเกาะติดกันอย่างใกล้ชิดว่าด้วยสูตรตั้งรัฐบาลหรือสมการการเมือง มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา หรือไม่มีทั้งเราและลุง คู่ขนานไปกับ ทักษิณ ชินวัตร จะกลับหรือไม่กลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ กรณีอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 คงต้องดูผลของการประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคมก่อนว่าจะออกมาในรูปแบบใด จะว่าไป วันนี้ (2 สิงหาคม) การประชุมร่วม 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาล น่าจะพอเห็นทิศทาง

ข่าวที่ถูกปล่อยมาโดยตลอด สอดสัมพันธ์กับดีลลับฮ่องกง ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าเป็นตัวละครที่ผุดขึ้นมาว่าไปตกปากรับคำกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ที่จะเปลี่ยนสมการพรรคตั้งรัฐบาล โดยมี 7 พรรคร่วมเดิมจับมือกับภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา และ ส.ส.กลุ่มใหญ่ในปีกคุมเสียงของประชาธิปัตย์ร่วมกันตั้งรัฐบาล ด้วยเสียง สส.ที่ 261 เสียง ซึ่งพรรคก้าวไกลจะรับบทผู้เสียสละโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคอันดับสองถึงฝั่ง แล้วพรรคตัวเองจะไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

หากเป็นไปตามนี้ก็จะเข้าสูตรไม่มีเราและไม่มีลุงยุ่งเกี่ยวกับอำนาจฝ่ายบริหาร แน่นอนว่า ถือเป็นเดิมพันสำคัญทั้งของเพื่อไทยและก้าวไกลที่จะได้สร้างผลงานเพื่อใช้วัดกันอีกหนในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะพรรคนายใหญ่ก็หวังจะได้เข้าไปบริหารประเทศ แสดงฝีมือจากที่เคยได้รับความเชื่อถือมาแล้วในอดีต ถ้าทำสำเร็จก็เชื่อว่าประชาชนจะไม่ลอยแพจากการที่ทิ้งพรรคอันดับหนึ่งไปตั้งรัฐบาล ส่วนก้าวไกลก็ได้ทำงานที่ถนัดคือฝ่ายตรวจสอบ รอจังหวะที่จะกลับมาในการเลือกตั้งครั้งใหม่ซึ่งหวังกันไว้ว่าน่าจะชนะถล่มทลายชนิดแลนด์สไลด์เลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อคนเจรจาเป็นธนาธร ย่อมถูกปฏิเสธโดยคนของพรรคก้าวไกลไปโดยปริยาย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องของพรรค ด้านหนึ่งอาจเป็นการรักษารูปมวย ไม่ให้เสียเหลี่ยม แต่ด้านที่สำคัญคือปฏิเสธการถูกครอบงำจากคนภายนอกพรรค เพราะประธานคณะก้าวหน้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคโดยตรง หากยอมรับก็เท่ากับยื่นดาบให้ฝ่ายตรงข้ามเชือดถึงขั้นยุบพรรคได้ทันที

สมการการเมืองแบบนี้อาจดูโหดร้ายสำหรับฉันทามติของประชาชน แต่เมื่อพิจารณาจากกับดักที่ขบวนการสืบทอดอำนาจได้วางไว้แล้ว หากไม่ขยับอย่างหนึ่งอย่างใดประเทศจะไม่สามารถเดินไปทางไหนได้ กลายเป็นยักตื้นติดกึกยักลึกติดกัก เนื่องจากการที่จะให้เพื่อไทยกระทำการฮาราคีรีด้วยการพลิกขั้วตั้งรัฐบาลนั้นก็เชื่อว่าไม่กล้าถึงขนาดนั้น จึงต้องหาทางลงชนิดที่เจ็บตัวแน่แต่ขอไม่ให้สาหัสสากรรจ์ก็แล้วกัน คำตอบเวลานี้จึงอยู่ที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และสมาชิกพรรคก้าวไกลจะเซย์เยสหรือไม่

การเมืองเป็นเรื่องที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เหมือนที่เซียนการเมืองอย่าง ประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนาว่า จากประสบการณ์ที่มีมา การเมืองเป็นเรื่องการเจรจาตกลงเรื่องผลประโยชน์ว่าใครจะทำงานอะไรได้ ดังนั้น ไม่ต้องสนใจว่าสูตรนั้นจะมี หรือสูตรนั้นจะมา ซึ่งไม่มีใครรู้จริง เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือ การเมืองต้องมีการเจรจายื่นหมูยื่นแมว ไม่มีใครที่ยกมือโดยไม่มีการเชื้อเชิญ หรือจะยกมือโดยส่วนตัว 

ส่วนเหตุผลสนับสนุนที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเพื่อไทยจะพลิกขั้ว เพราะมีปมทักษิณกลับบ้านมาประกบด้วย หากไม่เกิดการเจรจากับฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบัน ที่จะว่าไปแล้วก็คือคนวางกลไกของการใช้อำนาจทั้งหมด โอกาสที่จะเดินทางกลับมาด้วยเรียบร้อย ปลอดภัย ก็ไม่น่าจะมีใครการันตีได้ ตรงนี้อย่าไปตีความหมายในทางเดียว เคยย้ำไว้แล้วว่า ดีลดังว่าต้องรู้ก่อนใครคือผู้เสนอ ทำไมหนนี้นายใหญ่ถึงกล้าประกาศวันว.เวลาน.พร้อมสถานที่จะมาชัดเจนขนาดนี้

คนที่เคยถูกหลอกซ้ำซากย่อมจะลำดับความสำคัญของเหตุการณ์ได้ดีว่า ควรจะตัดสินใจอย่างไร ลำพังปัจจัยอยากกลับมาเลี้ยงหลาน หรือได้อยู่ใกล้กับครอบครัว แม้ตัวเองจะต้องติดคุกติดตะราง ฟังดูแล้วมันไม่สมเหตุสมผลกับคนที่ตัดสินใจระเห็จตัวเองไปอยู่ต่างแดนเกือบ 20 ปี ยิ่งมองถึงการเดินทางไปเยี่ยมของลูกหลานที่ไม่ได้ลำบากยากเข็ญอะไร กับการกลับมาเผชิญความเสี่ยง ดูมุมไหนมันก็ไม่คุ้มกัน นั่นแสดงว่าหนนี้ มันมีอะไรที่มีน้ำหนักและความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับทักษิณมากกว่าการเจรจากันแค่ผลประโยชน์ทางการเมือง

ไม่ว่าทั้งสองเรื่องสิ่งไหนจะเท็จ เรื่องไหนจะจริง สองสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมถือเป็นห้วงเวลาที่คนไทยห้ามกะพริบตา กรณีการนัดโหวตเลือกนายกฯ วันศุกร์นี้นั้น ต้องรอดูผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้องให้ตีความปมมติที่ประชุมรัฐสภาใช้ข้อบังคับข้อ 41 ห้ามเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ รอบสองขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลรับแล้วจะมีคำสั่งให้มีการชะลอการโหวตนายกฯ ออกไปหรือเปล่า

เท่าที่ดูแนวโน้ม เชื่อว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่รับ เช่นเดียวกับที่ ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุดและอาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและกฎหมายพยานหลักฐานหลายมหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า หากพิจารณาข้อกล่าวอ้างในประเด็นเรื่องบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญจากการลงมติของรัฐสภาน่าจะเป็นพิธา ซึ่งถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่พิธาไม่ได้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กลับเป็น สส.และประชาชนจำนวนหนึ่งเป็นผู้ร้องเรียน

ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า สส.และประชาชนผู้ร้องเรียนไม่ได้เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของรัฐสภาที่ลงมติดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาวินิจฉัย และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุติการเลือกนายกฯ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยย่อมเป็นอันตกไปด้วย ถ้าเช่นนั้นก็จะเข้าสู่โหมดลุ้นระทึกทางการเมืองกันต่อไปแบบยาว ๆ

Back to top button