พาราสาวะถี

จบแล้ว แต่จะเป็นการจบแบบไหนต้องรอดูกันยาว ๆ หลังจาก พรรคเพื่อไทยได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวโดย 3 แกนนำสำคัญ ถึงผลการหารือร่วมกับแกนนำจากก้าวไกล


จบแล้ว แต่จะเป็นการจบแบบไหนต้องรอดูกันยาว ๆ หลังจาก พรรคเพื่อไทยได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวโดย 3 แกนนำสำคัญ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค และ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ถึงผลการหารือร่วมกับแกนนำจากก้าวไกล ต่อการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล เมื่ออีกฝ่ายไม่ยอมถอยหรือลดเพดานการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งทั้ง สส.พรรคที่ต้องการเสียงสนับสนุนอยู่ฝ่ายตรงข้ามและพวกลากตั้งไม่ยอมรับก็ เดินหน้าร่วมกันต่อไปไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงจำเป็นที่เพื่อไทยต้องสลัดการจับมือกับก้าวไกลและ 7 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลเดิม เพื่อหาแนวร่วมใหม่เดินหน้าไปสู่เป้าหมายในการเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ให้ผ่านการประชุมรัฐสภาในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ให้ได้ ประเด็นที่ว่าแล้วจะมีเสียงหนุนจากก้าวไกลที่ถูกถีบให้ไปเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ เห็นสิ่งที่ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต สส.ก้าวไกลโพสต์เปิดเบื้องหลังวงหารือแล้ว ไม่น่าจะเป็นไปได้

เพราะการตัดสินใจฉีกเอ็มโอยูของเพื่อไทยหนนี้เป็นการทิ้งเพื่อนที่ได้รับมอบหมายจากฉันทามติของประชาชน ด้วยความเกรงใจพวกลากตั้งที่เกิดมาจากเผด็จการสืบทอดอำนาจ เบื้องหลังที่อมรัตน์ระบุก็คือ ในวงหารือมีแกนนำพรรคเพื่อไทยคนหนึ่งพูดว่า ไม่ได้ต้องการเสียงของก้าวไกล เหตุผล เพราะถ้าก้าวไกลร่วมโหวตด้วยจะทำให้ สว.อาจจะไม่พอใจ และ สว.อาจจะระแวงได้ว่าต่อไปจะเอาก้าวไกลมาร่วมรัฐบาล ก็เท่ากับว่าทุกย่างก้าวของเพื่อไทยเต็มไปด้วยความเกรงใจ ก้มหัวให้พวกลากตั้ง

ต้องรอดูกันว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการโหวตได้ในศุกร์นี้ พวกที่เกรงใจและหวังจะได้คะแนนเสียงมาหนุนแทนที่ก้าวไกลนั้นจะไว้ใจถึงขนาดที่จะสนับสนุนกันถล่มทลายหรือไม่ เพราะเมื่อดูเนื้อหาในแถลงการณ์ที่หมอชลน่านเป็นคนอ่านต่อการจับขั้วตั้งรัฐบาลใหม่นั้น มีประเด็นเรื่องการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การมี ส.ส.ร.มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกลากตั้งหวงนักหวงหนา จะถูกใช้เป็นเหตุในการนำมาปฏิเสธโหวตให้เศรษฐาหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น ในแถลงการณ์ยังพูดถึงเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะเดินหน้าแก้ไขกฎหมายที่เคยทำเอ็มโอยูร่วมกับ 8 พรรคเดิม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพและกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ฯลฯ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เหมือนเป็นการซื้อใจ เอาใจฝ่ายก้าวไกล แต่อาจถูกพวกลากตั้งหยิบยกมาโจมตีได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อถอดรหัสจากแถลงการณ์เพื่อไทยในครั้งนี้แล้ว ทำให้เห็นได้ชัดว่าความคิดเรื่องการฉีกเอ็มโอยู และปล่อยมือให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านนั้น มีมานับตั้งแต่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการโหวตในรอบแรกแล้ว ไม่พูดถึงเงื่อนไขว่าความต้องการดังกล่าวเป็นไปตามดีลลับหรือเข้าเงื่อนไขที่จะทำให้ ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับบ้านหรือไม่ แต่เพื่อไทยต้องการเข้าสู่การมีอำนาจเพื่อโชว์การแก้ไขปัญหาที่ตัวเองเคยทำสำเร็จจนได้รับความนิยมจากประชาชนมาแล้ว

อีกด้านคือ ต้องการเข้าไปมีอำนาจเพื่อการเดินหน้าผลักดันทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่าง ๆ ที่หวังว่าจะสามารถเรียกร้องความเห็นใจจากฝ่ายประชาธิปไตยได้ แต่เมื่อดูจากปฏิกิริยาของม็อบที่เคลื่อนไหวไปราดเลือดและเผาหุ่นจำลองที่หน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ต้องบอกว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ต้องดูกันต่อว่า ถ้าตั้งรัฐบาลได้ แรงกดดันจากการชุมนุมเคลื่อนไหวของมวลชนจะปะทุจนกลายเป็นมวลมหาประชาชนหรือไม่

ไม่เพียงเท่านั้น หลังการเข้าสู่อำนาจของเพื่อไทย ยังต้องติดตามดูต่อไปด้วยว่าข้อตกลงที่ผ่านดีลลับเรื่องของการยุบพรรคจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ หากมีการหยิบยกขึ้นมาเล่นงานควบคู่ไปกับการจัดการพิธาและก้าวไกล ก็แสดงว่างานนี้โดนหลอกอีกแล้ว ซึ่งมันก็จะส่งผลไปถึงการเดินทางกลับบ้านของทักษิณด้วยว่าไม่น่าจะเป็นไปตามที่ตกลง และคงไม่ต่างกับคนในตระกูลชินวัตรที่ถูกโจมตี เล่นงานมาเกือบ 20 ปีก็ยังจะตกเป็นเป้าต่อไป

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น วันนี้มาลุ้นกัน เรื่องแรกศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้องไว้หรือไม่ ถ้าไม่รับก็จะเข้าสู่โหมดโหวตเลือกนายกฯ ได้ในวันรุ่งขึ้น หากรับแต่ไม่สั่งชะลอกระบวนการเลือกนายกฯ ก็ว่ากันไปตามปกติ แต่ถ้าชะลอก็เป็นปมให้ต้องหาทางแก้ไขกันอีก ขณะที่อีกเรื่องคือ เพื่อไทยจะประกาศตัวพรรคที่ร่วมตั้งรัฐบาลกันชุดใหม่ ในส่วนของพรรคร่วมเดิมน่าจะตามมากันเกือบหมด เว้นไทยสร้างไทยที่จะถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้านกับก้าวไกลด้วย

ส่วนพรรคขั้วเดิมเมื่อมีการตั้งโจทย์ไว้ว่า ไม่มีเราและไม่มีลุง ดังนั้น จึงต้องให้รวมไทยสร้างชาติและพรรคสืบทอดอำนาจไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านเหมือนกัน แต่อาจมีข้อยกเว้นกรณีของพรรคพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ที่น่าจะมีการแสดงท่าทีไม่ขอรับตำแหน่งใด ๆ เพื่อแลกกับการให้ไพร่พลได้เข้าไปมีตำแหน่งแห่งหนในฝ่ายบริหาร ส่วนเพื่อไทยก็จำเป็นต้องอาศัยบารมีของพี่ใหญ่ในการที่จะสั่งให้พวกลากตั้งในสังกัดยกมือหนุนเศรษฐาให้ถึงฝั่งฝัน ไม่แน่อาจมีทีเด็ดรวมไทยสร้างชาติร่วมรัฐบาลได้เพราะลุงวางมือไปแล้ว

ส่วนประชาธิปัตย์ยังเป็นเครื่องหมายคำถามจะร่วมรัฐบาลแบบไหน แต่สไตล์พรรคเก่าแก่การที่จะทำเรื่องใดต้องอาศัยมติพรรคคงไม่มีปัญหาเรื่องการแตกแถว ขณะเดียวกันยังมีข้อกังขาตามมาอีกว่า แม้ก้าวไกลจะเป็นฝ่ายค้านไปแล้วด้วยท่วงทำนองทางการเมืองที่ท้าทายฝ่ายกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ สุดท้ายคนของพรรคอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ และพรรคอาจจะถูกยุบซ้ำรอยอนาคตใหม่ก็เป็นได้ นี่คือชะตากรรมที่ด้อมส้มต้องทำใจยอมรับให้ได้ และรอเวลาที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงกันต่อไป

Back to top button