พาราสาวะถีอรชุน
ยังคงหงุดหงิดไม่เลิกเมื่อถูกถามย้ำซ้ำซากเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ท่วงทำนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุดที่พูดถึงกรณีดังกล่าว “มันเป็นโครงการของกองทัพบกไม่ใช่โครงการของผม เข้าใจเสียที คิดว่าผมเป็นน้องเขา เขาเป็นน้องผม ผมต้องเกี่ยวกับเขาทุกเรื่องจนตายถึงชาติหน้าหรือไง ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ของตัวเอ’”
ยังคงหงุดหงิดไม่เลิกเมื่อถูกถามย้ำซ้ำซากเรื่องอุทยานราชภักดิ์ ท่วงทำนองของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุดที่พูดถึงกรณีดังกล่าว “มันเป็นโครงการของกองทัพบกไม่ใช่โครงการของผม เข้าใจเสียที คิดว่าผมเป็นน้องเขา เขาเป็นน้องผม ผมต้องเกี่ยวกับเขาทุกเรื่องจนตายถึงชาติหน้าหรือไง ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ของตัวเอ’”
ก่อนจะย้ำว่า ไม่เคยสอนลูกน้องในทางเสียหาย แต่ที่มันเสียเพราะอะไรต้องไปสอบถาม ไปลงโทษกันให้ถูกต้อง ใครผิดลงโทษแค่ไหนก็ไปว่ามา สะท้อนภาวะความอึดอึดและรำคาญเต็มแก่ของท่านผู้มีอำนาจ ที่เรื่องนี้ไม่ยอมจบหรือสร่างซาไปเสียที ยิ่งมีข่าวคราวคู่ขนานว่าด้วยการจับกุมกลุ่มคนที่ตรวจสอบ ยิ่งไปสะกิดต่อมความไม่พอใจหนักเข้าไปอีก
ยิ่งคำพูดที่บอกว่า วันนี้ก็ต้องไปตามจับไอ้พวกที่พูดโน่นพูดนี่ เลยบอกต่อไปนี้ไม่ต้องไปจับมัน ปล่อยให้ไปไหนก็ไป เสียเวลา จับมาเดี๋ยวก็ต้องปล่อยอีก คนดีๆ คิดเป็น ถ้าคิดกันอย่างนั้นก็ช่วยไม่ได้ ประเทศไทยก็อยู่อย่างนี้ ข้าราชการ คนในพื้นที่บอกเขาไม่ได้หรือให้กลับบ้านจะมาทำไม เขาก็ตรวจสอบกันอยู่แล้ว อีกหน่อย อีกพวกไม่พอใจก็ลุกมาไล่จำนำข้าวไปอีกก็วนกลับมาที่เดิมอีก
ในฐานะปุถุชนคนธรรมดาย่อมมีความรู้สึกโมโหโกรธาเป็นเรื่องปกติ แต่ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะแสดงความรู้สึกเช่นนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะกรณีการตรวจสอบปมทุจริตต้องตั้งสติและใช้กระบวนการตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ถ้ายึดหลักเช่นนี้ย่อมทำให้คนเชื่อมั่น แต่พอไม่ได้ทำตั้งแต่แรกเลยทำให้หลายฝ่ายไม่เชื่อและเกิดเป็นความเคลื่อนไหว
แน่นอนว่า การเข้ามาสู่อำนาจของท่านผู้นำนั้น ภารกิจสำคัญที่ประกาศไว้เป็นมั่นเหมาะคือการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยท่านผู้นำเองก็เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันกวาดล้างคนโกงให้หมดไปจากแผ่นดิน กรณีอุทยานราชภักดิ์นั้นน่าจะถือเป็นโอกาสอันดีเสียด้วยซ้ำที่คณะผู้บริหารจะใช้เป็นบรรทัดฐาน สร้างความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบให้เป็นแบบอย่าง
ในขณะที่กองทัพบกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วได้บทสรุปอันไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม จนกระทรวงกลาโหมต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซ้ำ ในจังหวะนี้น่าจะยินดีเสียด้วยซ้ำที่มีภาคประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบ เพื่อที่จะทำให้โครงการอันสูงส่งและเป็นศูนย์รวมของคนทั้งประเทศใสสะอาด แม้ว่ากลุ่มคนที่ตรวจสอบจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้มีอำนาจก็ตาม
การใช้มาตรการปิดกั้น ปิดปากและจับกุม จึงไม่มีมุมไหนที่จะเกิดประโยชน์กับรัฐบาลและคสช. มิหนำซ้ำ ยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของผู้มีอำนาจโดยเฉพาะคนมีสี นอกจากนั้น ยังทำลายความศรัทธาที่มีต่อโครงการอุทยานราชภักดิ์ด้วย อย่างที่ย้ำหลายหน พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ยังรู้ซึ้งแล้วว่า ถ้ามีการชี้แจงรายรับ รายจ่าย ใช้เอกสารมาอธิบายให้ละเอียดป่านนี้ทุกอย่างจบสิ้นไปแล้ว
ประเด็นการใช้ความรู้สึกถือเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ผู้มีอำนาจจะต้องทบทวนหรือสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระมัดระวัง เหมือนกรณีการจับกุมคนที่เผยแพร่ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ในประเด็นมาตรา 112 นั้นถือเป็นการใช้ดุลพินิจและดูเนื้อหาที่เข้าข่าย แต่กรณีการกดไลค์แสดงความชื่นชอบนั้น มีคำถามว่าเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่
กรณีนี้ สาวตรี สุขศรี อาจารย์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นไว้น่าสนใจ ไม่ผิดเพราะหลักกฎหมายอาญาที่ใหญ่ที่สุดคือไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย ดังนั้น หากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดแสดงความชื่นชอบหรือเห็นด้วยกับอะไรสักอย่าง เป็นความผิดต้องระวางโทษ สิ่งนี้ก็ผิดไม่ได้ ตำรวจ ทหารซึ่งไม่ใช่กฎหมายจะมโนไปเอง เพ้อเจ้อเอง กำหนดว่าอันนั้นอันนี้ผิดไม่ได้
เป็นความเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมาย แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีน้ำหนักอะไรที่จะไปหักล้างผู้ที่มีอำนาจ เมื่อตั้งธงกันไว้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องเดินหน้าไปให้สุด ขนาดกรณีขอนแก่นโมเดลที่ออกหมายจับคนที่อยู่ในเรือนจำ ยังตะแบงกันมาถึงวันนี้ รวมไปถึงจับฝาแฝดผิดตัวก็มั่วซั่วปล่อยตัวไปแบบเนียนๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือความจริงในแง่ของผู้บังคับใช้กฎหมายในเวลานี้
การใช้ความรู้สึกเป็นตัวชี้วัดนั้น ยังมีรายของ พลตำรวจตรีปวีณ พงษ์ศิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ที่ขอลี้ภัยไปออสเตรเลีย ซึ่งบิ๊กตู่ให้สัมภาษณ์ล่าสุด เรียกร้องให้นายตำรวจรายดังว่า กลับมาแจ้งความกล่าวโทษตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ร้องผ่านสื่อ ถือเป็นการทำลายประเทศ ก่อนจะการันตีพร้อมจัดการกับผู้ข่มขู่หากมีหลักฐาน
ไม่เพียงเท่านั้นตามสไตล์หัวหน้าคสช. ยังกำชับไม่ให้สื่อขยายความด้วยวาทกรรมให้เลือกระหว่างคนคนเดียว ที่ทำให้ประเทศเสียหายหรือเลือกคนทั้งประเทศ นี่เป็นการใช้ความรู้สึกตัดสินไปเรียบร้อยแล้วว่า พลตำรวจตรีปวีณนั้นเป็นคนอย่างไร ทั้งๆ ที่เป็นผู้รับคำสั่งไปปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา อย่างเด็ดขาด
คงไม่ต่างจากคนโตแห่งวงการสีกากีกับวลี “รับราชการมาทั้งชีวิต เพิ่งเห็นตำรวจลี้ภัย ไม่รู้เห็นแต่นักการเมืองลี้ภัย เจอครั้งนี้ตกใจเหมือนกัน” ซึ่งท่วงทำนองที่ผู้บริหารสูงสุดของตำรวจแสดงออกนั้น เป็นท่าทีเดียวกันกับผู้ยิ่งใหญ่ในรัฐบาลและคสช. จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่านั่นเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกองทัพเกิดใหม่กันแน่ ดุดันเสียเหลือเกิน
ดีใจกับอดีตตำรวจอีกราย พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ได้รับเลือกจากที่ประชุมป.ป.ช.ให้รับหน้าที่ประธานป.ป.ช.ด้วยคะแนน 7 ต่อ 2 เสียง ว่ากันว่า ไม่ใช่แค่การเลือกแบบธรรมดา แต่จะเป็นการพลิกโฉมขององค์กรอิสระแห่งนี้กันเลยทีเดียว เพราะมันหมายถึงขั้วอำนาจที่เปลี่ยนไป ส่วนจะเป็นขั้วไหนไปขั้วไหนนั้น มองกันไม่ยาก บอกได้แค่ว่า จากนี้ไปต้องติดตามการทำงานกันอย่ากะพริบตาเลยทีเดียว