พาราสาวะถี

จากที่หวังจะปิดเกมเลือกนายกรัฐมนตรีให้จบในวันนี้ (4 ส.ค.) และประกาศพรรคร่วมตั้งรัฐบาลให้เสร็จสรรพ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้อง


จากที่หวังจะปิดเกมเลือกนายกรัฐมนตรีให้จบในวันนี้ (4 สิงหาคม) และประกาศพรรคร่วมตั้งรัฐบาลให้เสร็จสรรพ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาสั่งคำร้องว่าจะรับหรือไม่รับ เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ตีความปมมติรัฐสภาไม่ให้เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ รอบ 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ออกไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคม ทำให้การนัดหมายประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ วันนี้ก็ต้องมีอันถูกเลื่อนไปโดยปริยาย

เนื่องจากการพิจารณาสั่งคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญที่รับเรื่องมาจากผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ไม่ได้มีแค่ว่ารับหรือไม่รับเท่านั้น เพราะยังมีคำขอให้กำหนดมาตรการ หรือวิธีการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยสั่งชะลอการโหวตเลือกนายกฯ ออกไปจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยพ่วงมาด้วย ดังนั้น กระบวนการทั้งหมดจึงต้องหยุดเพื่อรอให้เกิดความกระจ่างชัด นั่นหมายความว่า การประกาศแนวร่วมตั้งรัฐบาลใหม่ของเพื่อไทยก็จะได้อาศัยจังหวะเวลานี้ประเมินสถานการณ์กันไปในตัว

หลังจากฉีกทิ้งเอ็มโอยู 8 พรรคร่วมเดิมแล้ว ไม่ใช่แค่กระแสโจมตีที่ถาโถมเข้าสู่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น หากแต่แคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคจะชงให้ที่ประชุมรัฐสภาเลือกอย่าง เศรษฐา ทวีสิน ก็กลายเป็นตำบลกระสุนตกเช่นเดียวกัน อาจจะไม่หนักหน่วงเหมือนพิธาแต่โดยรูปการถือว่าดำเนินไปในทำนองเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้นย่อมเกิดคำถามตามมาว่า แล้วใครคือนายกฯ ที่ขบวนการสืบทอดอำนาจต้องการ สุดท้ายต้องให้พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.สมหวังให้ได้อย่างนั้นหรือ

แต่หากทำเช่นนั้นแล้วเพื่อไทยยังดันทุรังร่วมรัฐบาลต่อไป ก็น่าจะเรียกได้ว่าถึงบทอวสานของนายใหญ่และพรรคเจ้าของนโยบายประชานิยมอย่างแท้จริง ลำพังแค่การพลิกขั้วโดยหวังจะใช้ความเชี่ยวชาญด้านงานบริหารมาพลิกฟื้นคะแนนเสียงก็ว่าเหนื่อยแล้ว ยังจะยกอำนาจให้กับพวกอยากอยู่ยาวซ้ำเข้าไปอีก เรื่องศักดิ์ศรีไม่ต้องพูดถึง การกลับบ้านของ ทักษิณ ชินวัตร ก็จะไร้ความหมายไปโดยทันที ดีไม่ดี อาจต้องระหกระเหินอยู่ในต่างแดนต่อไป

เมื่อทุกอย่างเลื่อนออกไปแบบนี้ ก็น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าการกลับบ้านของทักษิณที่วางไว้ 10 สิงหาคมนี้จะถูกเลื่อนตามไปด้วย เวลานี้เกิดเป็นเสียงวิจารณ์ภายในพรรคนายใหญ่ที่ไปตกลงกันไว้ก่อนเลือกตั้ง และระหว่างกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรค จนพรรคถูกค่อนขอดว่าเป็นเพื่อไทยการละครไปแล้วนั้น สุดท้ายจะกลายเป็นเรื่องถูกหลอกซ้ำซากอีกหรือไม่ เขี่ยก้าวไกลไปแล้ว เข้าทางพวกสืบทอดอำนาจที่สามารถกำจัดศัตรูหมายเลข 1 ไปได้ เป้าหมายต่อไปก็คือกำจัดพรรคอันดับ 2 และผู้บัญชาการเกมหรือไม่

มีความเป็นไปได้ เพราะนับตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา การรุมสหบาทาเกิดขึ้นกับพิธาและพรรคก้าวไกลอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่เปลี่ยนสมการทางการเมือง ทำลายสูตรพรรคฝ่ายประชาธิปไตยลงไปได้แล้ว ย่อมจะหันคมดาบมาฟาดฟันพวกที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูกันมาตั้งแต่ต้นนับแต่การรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ก่อนหน้ายังมีหลังคนเสื้อแดงและกองเชียร์ผู้ภักดีให้พิง แต่หลังการพลิกขั้วจนเกิดความไม่พอใจไปทุกหย่อมหญ้า ถ้าถูกเล่นงานถามต่อว่าจะมีคนปกป้องหรือสมน้ำหน้ากันแน่

ไม่มีความลับในแวดวงการเมืองยังคงใช้ได้อยู่เสมอ ประเด็นที่ใครต่อใครบินไปฮ่องกงเพื่อพบทักษิณ แทบจะไม่มีหลุดไปจากที่คุณแหล่งข่าวรายงานมาทั้งหมด ล่าสุด เป็นคิวของ เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา และรักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยอมรับว่าบินไปจริง แม้จะอ้างว่าไปแก้บนที่ผลักดันให้เมียเป็น ส.ส.ได้ แต่การไม่ปฏิเสธว่าได้พบคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยหรือไม่เท่ากับการยอมรับ มิหนำซ้ำ ยังแสดงท่าทีให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมรัฐบาลกันด้วย

นี่กระมังที่บอกว่าประเทศไทยไม่เหมือนเดิม จากพรรคที่เป็นคู่แค้นกันมาโดยตลอดกลับจะมาจับมือกันได้ในยุคนี้ คงจะจริงอย่างที่เดชอิศม์ว่า พรรคเก่าแก่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเหตุการณ์เปลี่ยน คนก็เปลี่ยนไปหมด เหลือแต่ยี่ห้อของพรรค คนในพรรคเปลี่ยนไปหมดแล้ว ถ้าเป็นอย่างที่ว่าจริงแสดงว่าประชาธิปัตย์ได้ถอดบทเรียนและตกผลึกจากความพ่ายแพ้มาโดยตลอด จากการใช้ความแค้น ความชิงชังส่วนตัวมาเป็นหลักในการต่อสู้กับเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม สูตรผสมพันธุ์ทางการเมืองรอบใหม่ ด้วยโจทย์ของเพื่อไทยที่ต้องจัดให้ได้แบบไม่มีเรา ไม่มีลุง ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม จะไม่มีเฉพาะลุงที่หมายถึงผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้วเท่านั้นหรือไม่ ส่วนลุงอีกคนจะต้องร่วมหอลงโรงกันให้ได้ใช่หรือไม่ ด้วยสถานการณ์โหวตเลือกนายกฯ ที่ถูกยืดออกไป ทำให้ถูกมองว่านี่น่าจะเป็นการขยับของพวกอยากอยู่ยาวที่ต้องการจะให้พี่ใหญ่ไปถึงฝันให้ได้

มองข้ามเรื่องพรรคอันดับ 3 ภูมิใจไทย ที่แคนดิเดตนายกฯ อย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล อาจเป็นม้ามืดเข้าวินไปได้เลย เพราะพรรคนี้ขอเป็นผู้มีอำนาจในการต่อรองได้เก้าอี้ตามที่ต้องการก็พอแล้ว เหมือนอย่างที่เคยเป็นในยุคผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทุกอย่างถูกจัดวางกันไว้แบบนี้ อยู่ที่ว่าเพื่อไทยที่เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลจะจัดวางฐานะของตัวเองไว้ในส่วนไหนของโครงสร้างอำนาจ หากต้องทำให้ได้เหมือนที่แถลงการณ์ฉีกเอ็มโอยู คนของตัวเองต้องเป็นนายกฯ เท่านั้น หลุดไปจากนี้ถือว่าผิดข้อตกลง

ประเด็นสำคัญนาทีนี้คงอยู่ที่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า จะรับคำร้องไว้หรือไม่ รับแล้วจะมีคำสั่งชะลอเลือกนายกฯ ออกไปหรือเปล่า แล้วก็ต้องลุ้นผลวินิจฉัยด้วยหากพิธาสามารถเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ ได้อีกรอบ จะเกิดการพลิกขั้วอีกตลบหรือไม่ การเมืองที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามเช่นนี้ถือเป็นสัญญาณร้ายสำหรับประเทศ การคาราคาซังตั้งรัฐบาลไม่ได้ทั้งที่ผ่านการเลือกตั้งมานานจนจะเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว ใครบอกว่าปกติก็อำมหิตกับบ้านเมืองแล้ว ยังจะยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการปฏิรูปประเทศกันอีกไหม ไม่ต้องถามหาความรับผิดชอบจากคนร่างทุกอย่างดีไซน์เพื่อพวกเราจริง ๆ ความฉิบหายอื่น ๆ ช่างมัน

Back to top button