KTB รายได้ดอกเบี้ย-NIM ขยายตัวดี

KTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 10,156.20 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับ New High โดยขยายตัว 21.51% จากไตรมาส 2/2565


คุณค่าบริษัท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 1.สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 28.2% 2.สินเชื่อรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 16.2% 3.สินเชื่อธุรกิจ SME 11.6% 4.สินเชื่อรายย่อย 44% โดยภายใต้สินเชื่อรายย่อย 44% สามารถจำแนกต่อได้ดังนี้ 1.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 18.5% 2.สินเชื่อบุคคล 22.7% 3.สินเชื่อบัตรเครดิต 2.6% 4.สินเชื่อเช่าซื้อ (Leasing) 0.2%

KTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 10,156.20 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับ New High โดยขยายตัว 21.51% จากไตรมาส 2/2565 และเพิ่มขึ้น 0.89% จากไตรมาส 1/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 10,066.60 ล้านบาท กำไรที่เติบโตโดยหลักมาจากจากสัดส่วนสินเชื่อที่ดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลงจากการประหยัดต่อขนาดที่ดีขึ้น โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้นถึง 8% จากไตรมาส 1/2566 และ 27% จากไตรมาส 2/2565 ขณะที่สินเชื่อค่อนข้างทรงตัว แต่ NIM ปรับตัวดีขึ้นถึง 0.24% ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 18% จากไตรมาส 1/2566 เนื่องจากค่าธรรมเนียมธุรกิจตลาดทุนอ่อนตัวลง อีกทั้งกำไรจากเงินลงทุนยังลดลงตามภาวะตลาดทุน

โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรอง (PPOP) ไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 2.22 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาส 1/2566 และ 28% จากไตรมาส 2/2565 ด้านค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ปรับลดลง 4.3% จากไตรมาส 1/2566 หลังสัดส่วน NPL ลดลงเหลือ 3.11% จาก 3.22% ในไตรมาส 1/2566 และเทียบสิ้นปี 2565 ที่ 3.26% บล.กสิกรไทย ระบุว่า ในไตรมาส 2/2566 นี้ สังเกตว่าดอกเบี้ยค้างรับของ KTB ลดลงอย่างมากถึง 31% จากไตรมาส 1/2566 และ 13% จากไตรมาส 2/2565 มาที่ 1.76 หมื่นล้านบาท เนื่องจากธนาคารตัดดอกเบี้ยค้างรับของสินเชื่อภายใต้มาตรการบรรเทาหนี้เพื่อให้งบดุลมีความรอบคอบมากขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ลดลง โดยสัดส่วน NPL Coverage Ratio ลดลงมาที่ 177.4% จาก 183.2% ในไตรมาส 1/2566 และเทียบกับสิ้นปี 2565 ที่ 179.7% ด้านบล.ทรีนีตี้ คาดว่าในไตรมาสนี้ KTB มีการตัดหนี้สูญ (Write-off NPL) ออกไปปริมาณค่อนข้างมาก

สินเชื่อรวมของ KTB ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 2,578,909 ล้านบาท ลดลง 0.2% จากไตรมาส 1/2566 และลดลง 0.6% จากสิ้นปี 2565 สินเชื่อรายย่อยยังเติบโตได้ 1.4% จากไตรมาส 1/2566 และ 2.1% จากสิ้นปี 2565 โดยหลักจากสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME ลดลง โดยสินเชื่อ SME ลดลง 4.7% จากไตรมาส 1/2566 ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัว 6.9% จากไตรมาส 1/2566 และสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 1.8% จากไตรมาส 1/2566 สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ KTB ในการเพิ่มสินเชื่อรายย่อยและลดสินเชื่อภาครัฐ KTB โดยสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่ขยับสูงขึ้นเป็น 44% ของสินเชื่อรวมจาก 43.3% ในไตรมาส 1/2566 มีส่วนช่วยหนุนให้ NIM ปรับตัวดีขึ้น

ข้อมูลจาก Refinitiv Consensus สำหรับ KTB ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2566 ที่ 143,421.62 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 39,614.51 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 21.75 บาท จาก 18 โบรกเกอร์

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดว่าไตรมาส 3/2566 ยังเห็นการขยับขึ้นของผลดำเนินงานของ KTB จากฐานรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานหลักยังแข็งแรง เห็นว่า NIM เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 และคุณภาพสินทรัพย์ไม่ได้น่ากังวล ทั้งจาก NPL Ratio ที่ลดลง ส่วน Coverage Ratio อยู่ในระดับที่แข็งแรง หนุนให้คงคาดทั้งปี 2566 KTB จะมีกำไรสุทธิ 37,864 ล้านบาท โต 12.4% จากปี 2565

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น KTB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 31 ก.ค. 2566 ที่ 20.50 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 8.19 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 9.01 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น KTB อยู่ที่ 0.74 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.71 เท่า

Back to top button