พาราสาวะถี
แผนเดินเท้าทอดไมตรีที่เพื่อไทยส่ง “อุ๊งอิ๊ง” พร้อม 3 หนังหน้าไฟของพรรคเดินจากที่ทำการพรรคเพื่อไทย เพื่อเจรจากับพรรคก้าวไกลขอเสียงสนับสนุน
แผนเดินเท้าทอดไมตรีที่เพื่อไทยส่ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร พร้อม 3 หนังหน้าไฟของพรรคเดินจากอาคารโอเอไอ ทาวเวอร์ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ไปยังตึกไทยซัมมิท เพื่อเจรจากับพรรคก้าวไกลขอเสียงสนับสนุนโหวตเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการสร้างภาพให้เห็นว่าไม่ได้เป็นศัตรูต่อกันแม้จะฉีกเอ็มโอยูทิ้งและต้องแยกกันเดินก็ตาม คำตอบจากพรรคชนะเลือกตั้งว่าจะยกมือให้นั้นแทบไม่ต้องรอฟัง ก็เดากันไม่ยาก ไม่มีทางเป็นไปได้
เมื่อเป้าหมายและการเดินเกมทางการเมืองต่างกันอย่างสิ้นเชิง มีเพียงแค่จุดร่วมเดียวที่ถูกจับเป็นข้าวต้มมัดร่วมกันคือ เคยเป็นอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านกันมาก่อน จนถูกมองว่าเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย แต่โจทย์ใหญ่ที่รับรู้กันก่อนเลือกตั้ง จนกระทั่งทราบผลเลือกตั้งว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา เงาทะมึนที่คอยบัญชาการเกมเล่นงาน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จนต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. และสกัดก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล มันก็เด่นชัดแล้วว่า การเมืองแบบใหม่ ความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ยังไม่ถึงเวลาจะเกิดขึ้น
แนวรบก็เห็นกันอยู่ พวกที่โผล่มาต่อต้านหน้าสลอน แม้กระทั่งก้าวไกลส่งไม้ต่อไปให้เพื่อไทย และพรรคนายใหญ่ก็ตั้งหน้าตั้งตาล้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคที่ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่โหวตหนุนพิธาและเตะตัดขาก้าวไกลก่อนหน้าไปทั้งหมด สุดท้ายก็ยังมาแว้งกัดเศรษฐาและทำท่าว่าจะรวบเอาเพื่อไทยไปด้วย การประกาศสลายขั้วทางการเมือง ไม่มีลุง ไม่มีฝ่ายไหน ไม่ใช่แค่ความอยากจะเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น แต่มันเป็นการเดินหมากฉายภาพให้สังคมเห็น ยอมกันขนาดนี้แล้วยังไปต่อไม่ได้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องช่วยกันประณามว่า ใครหน้าไหน พวกใดที่เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ
ฟังคำตอบหลังตั้งวงคุยกันระหว่างพรรคอันดับหนึ่งและสองจากปากของผู้นำพรรคที่แท้จริง พิธาและอุ๊งอิ๊ง ก็ทำให้เห็นแล้วว่า ทิศทางการเมืองของก้าวไกลและเพื่อไทยอาจจะเคยเป็นคู่หมั้นกันมาก่อน แต่หลังสวมคอนเวิร์สแยกทางกันแล้ว อาจไม่ถึงขั้นผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ แต่จะให้รู้สึกดีเหมือนมหามิตรที่ยิ่งใหญ่เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว สิ่งที่พิธาบอกว่าพรรคยังไม่ได้ตัดสินใจ ต้องคุยกันเรื่อย ๆ วันนี้ “ขอรับฟังอย่างมีวุฒิภาวะและตั้งใจก่อน” มันก็คือการปฏิเสธอย่างมีศิลปะว่าไม่ต้องแต่งเรื่องอะไรมาโน้มน้าวขอความเห็นใจ ไม่มีทางที่จะใจอ่อนแน่นอน
ขณะที่ อุ๊งอิ๊งก็โพสต์ข้อความกลางดึกของวันที่ไปคุยกับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าผลการเจรจาในวันนี้จะเป็นอย่างไร พรรคเพื่อไทยพร้อมเดินหน้าต่อ และใช้ทุกความสามารถของเราในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ นั่นหมายความว่า เราก็ยังจะคงได้เห็นภาพของการตั้งโต๊ะแถลงข่าวการดึงพรรคการเมืองอื่น ๆ มาร่วมตั้งรัฐบาลกันเป็นรายวัน ไฮไลต์สำคัญคือ จะถึงคิวของพรรค 2 ลุงเมื่อไหร่ ซึ่งที่คอการเมืองจับตาดูหากเป็นไปตามกระแสข่าวคือ ทั้งสองพรรคอาจจะมี สส.บางส่วนที่แสดงตัวหนุนแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย เพื่อไม่ให้เกิดภาพจับมือกับพรรคของลุง แม้ว่าพรรคนายใหญ่จะปูทางด้วยแถลงการณ์สลายขั้วการเมืองแล้วก็ตาม
ความจริงของการเมือง ที่อ้างว่าเวลานี้ขอให้กระบวนการโหวตเลือกนายกฯ ผ่านพ้นไปก่อน ไม่ได้มีการต่อรอง เจรจาเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีแต่อย่างใด เป็นเพียงนิทานหลอกเด็กเท่านั้น มันไม่มีนักการเมืองคนไหน หรือพรรคการเมืองใดที่จะยกมือโหวตให้โดยปราศจากผลประโยชน์ตอบแทน อยู่เพียงแค่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดเท่านั้น กรณีนี้ก็เช่นกันที่อ้างว่าเป้าหมายใหญ่ของเพื่อไทยคือแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และผลักดันนโยบายแก้ปัญหาของประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจ พรรคที่เข้าร่วมเห็นและคิดแบบนั้นหรือไม่
เรื่องปากท้องประชาชนอาจเห็นตรงกันทุกพรรค แต่ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญบางพรรคใช่ว่าจะคล้อยตาม ยิ่งกรณีที่บอกว่าจะนำเอานโยบายของฝ่ายค้านซึ่งในที่นี้หมายถึงพรรคก้าวไกลมาขับเคลื่อนด้วย หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ยิ่งเป็นไปได้ยาก เมื่อได้อำนาจเรียบร้อยก็จะมีข้ออ้างติดเงื่อนไขจากพรรคร่วมรัฐบาล หรือได้วางลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำไว้แล้ว พวกเขี้ยวลากดินดิ้นกันได้ตลอดเวลา ความอย่างหนาเป็นรองแค่พวกเผด็จการสืบทอดอำนาจเท่านั้น
กระบวนการรวมเสียงเพื่อตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยต้องใช้เวลานานอีกเท่าใด คำตอบอยู่ที่ 16 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำสั่งรับหรือไม่รับเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้องหรือไม่ ถ้ารับจะสั่งให้ชะลอการโหวตเลือกนายกฯ ออกไปหรือไม่ ยังคงต้องลุ้น แต่ข่าวที่เกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งโต๊ะแถลงกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ของเพื่อไทยคือ การทำหน้าที่ของ กกต.โดยเฉพาะกับกรณีเอาผิดพิธาในคดีถือหุ้นไอทีวี ซึ่งล่าสุด มีความน่าสนใจจากกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกหนังสือถึงสำนักงาน กกต. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาให้ชี้แจงประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับคดีดังกล่าว
โดยศาลได้จี้ถาม กกต.ใน 8 ประเด็น ที่ถือเป็นจุดสำคัญคือ เหตุใด กกต.ถึงเพิ่งพบว่าพิธาถือหุ้นไอทีวี ทั้งที่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ที่สำคัญไปกว่านั้นคือถามว่า กกต.ได้ใช้เวลากี่วันในการตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของพิธา ได้ให้พิธารับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงข้อกล่าวหาหรือไม่ กรณีนี้ กกต.ได้อธิบายหลังยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่า โดยอ้างว่าเมื่อ กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ สส.คนหนึ่งคนใด มีเหตุสิ้นสุดลง กกต.จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา หรือให้ สส.ผู้มีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพนั้นมารับทราบข้อกล่าวหา หรือให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาได้
ต้องรอดูว่าจะมีการชี้แจงต่อศาลอาญาฯ แบบเดียวกันนี้หรือไม่ แต่จุดตายของ กกต.ตามที่ผู้รู้กฎหมายหลายรายเห็นตรงกันก็คือ คดีนี้ กกต.ได้วินิจฉัยว่าไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ชัดเจนแล้วหรือยังก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลอาญาหรือคู่ความ อาจให้ กกต.ชี้แจงหรือหาพยานหลักฐานมาแสดงในศาลว่าตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมานั้น มีสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข่าวสารข้อมูลในนามของไอทีวีหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่คนทั่วไปรู้กันอยู่แล้ว บางทีนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนหมดเวลาของพวกนิติสงครามแล้วก็เป็นได้