กูรูฟันธงจบรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเห็นพ้องกันว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้จะสิ้นสุดลงแล้ว สะท้อนจากมุมมองของคณะกรรมการกนง.


เส้นทางนักลงทุน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี

นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเห็นพ้องกันว่า วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้จะสิ้นสุดลงแล้ว สะท้อนจากมุมมองของคณะกรรมการกนง. ที่ประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง

โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่ากนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.5% ซึ่งจะเป็นระดับสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น (Terminal rate) ในรอบนี้

กนง.คาดว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งในปี 2566 และ 2567 และอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 2% ทำให้มองว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2.25% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง และราคาอาหารโลกที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยอย่างมีนัย อย่างไรก็ตามการประชุมกนง.ในครั้งหน้าขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจและความชัดเจนทางการเมือง

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC คาดว่ากนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนกันยายนนี้ สู่ระดับ Terminal rate ที่ 2.5% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าว

ทั้งนี้ คาดว่ากนง.จะเดินหน้าปรับนโยบายการเงินไทยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary policy normalization) ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%

การปรับนโยบายการเงินให้กลับเข้าสู่ระดับปกติจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยกลับมาเป็นบวกได้เช่นเดียวกับในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องในช่วงหลัง COVID-19 ที่ผ่านมา

ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งจะช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (Policy space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง

ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า กนง.ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาดอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านอาหาร อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง แต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต

นอกจากนี้ กนง.ยังเน้นย้ำถึงแนวทางการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

กนง.ย้ำว่าค่าเงินบาทมีความผันผวนจากแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์เศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

ระบุความเสี่ยงที่ต้องจับตามองคือเรื่องอัตราเงินเฟ้อ ภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในวัฏจักรนี้

ปิดท้ายด้วยมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุในการประชุมครั้งต่อไป กนง.ยังคงมองความเป็นไปได้ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยต่อ และการคงดอกเบี้ยนโยบายในครั้งหน้า โดยขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ออกมาเป็นสำคัญ แต่กนง.มองว่าดอกเบี้ยเข้าใกล้จุดสิ้นสุด (neutral rate) แล้ว

ทั้งนี้ ให้น้ำหนักมากกว่าสำหรับในกรณีกนง.หยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในกรอบเป้าหมายของธปท. ที่ 1-3% ประกอบกับธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ ซึ่งส่งผลให้ความผันผวนของตลาดเงิน รวมถึงแรงกดดันต่อค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะลดลง ขณะที่หากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ตามที่คาดการณ์ไว้ กนง.มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2566 นี้

แม้เหล่ากูรูจะฟันธงว่าจบรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นครั้งนี้แล้ว แต่การเมืองยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ยังต้องติดตามต่อไป

Back to top button