พาราสาวะถี

วันนี้จะมีคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่กระบวนการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งพรรคเพื่อไทยกำลังฟอร์มรัฐบาลอยู่ว่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันได้หรือไม่


วันนี้ (16 สิงหาคม) จะมีคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่กระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคเพื่อไทยกำลังฟอร์มรัฐบาลอยู่ว่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววันได้หรือไม่ มีปัจจัยที่ชวนให้คิดว่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหรือไม่ กับกระแสข่าวที่ว่าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต.ในคดี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มาตรา 151 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) จากการถือหุ้นไอทีวี

สรุปให้เข้าใจง่ายก็คือ การไต่สวนเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีอาญากับพิธานั้น มีมติเสนอให้ กกต.พิจารณายกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่า การดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญาที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สส. ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2566 ไม่พบว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีการประกอบกิจการอยู่และมีรายได้จากการทำสื่อ กรณีนี้มีการตั้งข้อสังเกตไว้แต่ต้นแล้วว่าน่าจะออกแนวนี้ เพราะขืนดันทุรังเดินหน้าต่อ เท่ากับว่า กกต.ร้องเท็จเข้าข่ายมีความผิดติดคุกหัวโต

แต่มันก็จะแย้งกับสิ่งที่ กกต.ได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ไปแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา แม้จะไม่เกี่ยวกันแต่มันย่อมข้องเกี่ยวในลักษณะงูกินหาง ต่อกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามติของรัฐสภาห้ามเสนอชื่อพิธาโหวตเป็นนายกฯ รอบ 2 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เหมือนผู้ที่ถูกร้องแสดงข้อกังขาว่าน่าจะเป็นการกลั่นแกล้งกันหรือไม่

ความจริงที่คนส่วนใหญ่มองไม่ต่างจากที่พิธาตั้งข้อสังเกตก็คือ คดีหุ้นไอทีวีเป็นที่น่าสงสัยว่าเป็นการจงใจกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่ เพราะพิธาถือหุ้นนี้มาตลอดเวลาที่ทำงานการเมือง เป็น สส.มา 4 ปี แต่เพิ่งจะเกิดการร้องเรียนกันขึ้นในเวลาที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้าการเสนอชื่อพิธาต่อสภาไม่กี่วัน รวมถึงมีหลักฐานความผิดปกติมากมายที่บ่งชี้ว่ามีความพยายามปลุกปั้นให้ไอทีวีซึ่งเลิกกิจการสื่อไปนานกว่า 10 ปี กลับมาเป็นหุ้นสื่อให้ได้

หากข่าวที่ปรากฏเป็นเรื่องจริง ก็ไม่แปลกใจที่พิธาจะตั้งคำถามกลับไปยัง กกต. คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดังกล่าว ซึ่งทำคดีมาตรา 151 ที่เป็นคดีอาญา มีมติก่อนที่ กกต.จะพิจารณาส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถึงแม้ว่า กกต.จะอ้างว่าการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เป็นคนละกระบวนการกับการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการสืบสวน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่รวบรวมพยานหลักฐานและเรียกพยานบุคคลมาสอบข้อเท็จจริงได้เห็นข้อเท็จจริงว่าไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อและมิได้มีรายได้จากกิจการสื่อมวลชนในขณะที่พิธาสมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด

การที่ กกต.ยังยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยละเลยข้อเท็จจริงบางประการที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนได้หยิบยกมาพิจารณา และละเลยแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวางหลักเรื่องการมีรายได้และที่มาของรายได้เป็นเกณฑ์ว่าบริษัทใดเป็นสื่อหรือไม่ ย่อมทำให้เกิดเป็นเครื่องหมายคำถาม ขณะเดียวกัน ปุจฉาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแต่เฉพาะกับ กกต.เท่านั้น ยังรวมไปถึงกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีการถือหุ้นสื่อด้วย

กรณีนี้พิธาตั้งคำถามว่า การที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนมีมติว่าหุ้นไอทีวีไม่ใช่หุ้นสื่อ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ยังสอดรับกับความเห็นของประชาชนทั่วไป ดังนั้น การสั่งให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่ไอทีวี และอินทัชซึ่งเป็นบริษัทแม่ ล้วนแต่มีเอกสารงบการเงินยืนยันว่าไอทีวีหยุดประกอบกิจการ และไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ ประกอบกับคดีหุ้นสื่อ นอกจากคดีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.คนอื่นประมาณ 60 คน ศาลก็ไม่ได้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในคดีตนกลับสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงขอให้สังคมพิจารณาว่าการสั่งให้ตนหยุดปฏิบัติหน้าที่มีความเป็นธรรมหรือไม่

บอกไว้แล้วว่า กระบวนการใดก็ตามที่ถูกมองเป็นเรื่องไม่ปกติ อันเป็นผลพวงมาจากกลไกที่ขบวนการสืบทอดอำนาจได้วางไว้ ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะถูกสังคมและคนที่ถูกดำเนินการตั้งข้อกังขา ซึ่งนั่นย่อมนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือ ศรัทธาที่มีต่อองค์กรนั้น ๆ หากกรณีพิธามีปัญหาในแง่ของการใช้อำนาจ มันจึงน่าเป็นห่วงว่า ถ้าเช่นนั้นการดำเนินการเพื่อฟอร์มรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นหมันหรือไม่ ขืนดันทุรังกันต่อไป ปลายทางจะเห็นเหตุให้ประเทศต้องเกิดภาวะชะงักงันหรือเปล่า

ต้องไม่ลืมว่า หากคนที่เสียสิทธิแล้วสุดท้ายกระบวนการยุติธรรมคืนความชอบธรรมให้ทั้งหมด สิ่งที่ทำกันอยู่เวลานี้จะมีความชอบธรรมได้อย่างไร คงไม่สามารถใช้อภินิหารกฎหมายใดมาเสกเป่าให้ผิดกลายเป็นถูก ให้ความไม่ชอบธรรมกลายเป็นความถูกต้องได้ เว้นเสียแต่ว่าข่าวหลุดจาก กกต.ที่ออกมาจะไม่เป็นเรื่องจริง หรือจริงแต่ กกต.ทั้งหลายกล้าที่จะสวมหัวใจเสือแทงสวนมติของคณะกรรมการสืบสวน นั่นก็อีกเรื่อง ซึ่งต้องถามว่าใครจะเสี่ยงต่อการเอาขาข้างหนึ่งแหย่เข้าไปในคุก

อีกด้าน กระบวนท่าของเพื่อไทยที่กำลังดำเนินไป ก็ดูเหมือนว่ากำลังจะถูกบีบให้เข้ามุมอับ ต้องเคาะเก้าอี้รัฐมนตรีก่อนโหวตเลือกนายกฯ เงื่อนไขที่ว่าเสนาบดีจากขั้วอำนาจปัจจุบันห้ามกลับไปนั่งกระทรวงเดิม ถูกปฏิเสธจากทุกพรรคที่ถูกเชิญมา โดยเฉพาะภูมิใจไทยที่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าต้องกลับไปที่เดิมเพื่อสะสางเรื่องที่ยังคั่งค้างอยู่ ส่วนพวกลากตั้งก็ขู่ฟ่อด ๆ จะไม่ยกมือให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ จากที่คิดว่าส้มหล่นจะได้โชว์เหนือกำลังจะกลายเป็นทุกขลาภ

ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หากเดินกันไปแบบนี้มีแต่เสียกับเสีย ที่หวังจะไปแสดงฝีมือในการบริหารประเทศ แบ่งเค้กกันไปมาจะกลายเป็นเข้าอีหรอบเละตุ้มเป๊ะ อีกด้านก็ถูกมวลชนตีขนาบแสดงความไม่พอใจต่อการตระบัดสัตย์ทิ้งฝ่ายประชาธิปไตยไว้กลางทาง ผลการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 3 ระยองจะเป็นบทพิสูจน์ สัญญาณทางการเมืองจากที่มองว่าเผด็จการสืบทอดอำนาจยังคงมีฤทธิ์เดช อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว เมื่อพบว่าฝ่ายที่ถูกอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ครอบงำมานับแต่การรัฐประหาร กำลังจะแสดงตนให้เห็นว่าบุคลากรและองค์กรยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งหลัก และประชาชนคงความศรัทธาในการอำนวยความยุติธรรมต่อไป 

Back to top button