ผักผลไม้ความเร็วสูง

โครงการรถไฟความเร็วสูง น่าจะถือเป็น “แบบเรียนใหญ่” ของการบริหารราชการแผ่นดินไทย ที่มุ่งเน้นการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ


โครงการรถไฟความเร็วสูง น่าจะถือเป็น “แบบเรียนใหญ่” ของการบริหารราชการแผ่นดินไทย ที่มุ่งเน้นการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อผลักดันไทยสู่ชาติชั้นนำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

แต่โครงการกลับถูกทำลายลงด้วยอคติ การผสมปนเปไม่แยกแยะความกังวลกับหลักการและเหตุผลที่เป็นจริง เช่นกลัวการคอรัปชั่น กลัวหนี้ 2 ล้านล้านจะตกทอดไปถึงลูกหลานอีก 50 ปี และกลัวจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ใช้งานได้ไม่คุ้มค่า

เอาแต่กลัวนั่นกลัวนี่ ในสิ่งที่ยังไม่เกิดจนลืมไปว่า ประเทศชาติจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เพื่อจัดวางอนาคตให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งของภูมิภาคอาเซียนทั้งทางราง ทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ

บางคน (นักการเมืองคู่แข่ง นักกฎหมาย นักวิชาการและสื่อที่เกลียดทักษิณ) ถึงกับพูดติดตลกเยาะเย้ยว่า จะใช้เงิน 2 ล้านล้านบาทนี่นะ ไปสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อขนผักผลไม้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านก็บอกให้ถนนลูกรังหมดไปก่อน ค่อยสร้างความเร็วสูง

ผลสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 12 มี.ค. 57 วินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการจ่ายเงินแผ่นดิน จะต้องกระทำผ่านกฎหมายงบประมาณเท่านั้น จะใช้กฎหมายพิเศษตามร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ได้

จากบัดนั้นมาบัดนี้เป็นเวลา 9 ปีแล้ว เริ่มจะเห็นบทพิสูจน์ทั้งในเรื่องของรถไฟความเร็วสูงขนผักผลไม้ และยุทธศาสตร์การสร้างไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน จากโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เกิดขึ้นในประเทศลาว ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน ธ.. 64

การเกิดของรถไฟความเร็วสูงลาวจีน กลายเป็นการเปิดโอกาสของไทยในการส่งสินค้าไปทำตลาดในจีน เพราะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมง จากการขนส่งทางบกที่ใช้เวลาถึง 48 ชั่วโมง และหากใช้การขนส่งทางเรือไปยังกวางเจาทางตอนใต้ของจีน ก็ต้องใช้เวลาถึง 2 เดือน

คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งกรอบอาเซียนจีน และหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นมาก

ในปี 2564 ที่เปิดเดินรถลาวจีน เพียงเดือนเดียวมีการส่งออกผลไม้ผ่านด่านหนองคายเป็นมูลค่า 90.41 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาทในปี 2565 และปี 2566 ในช่วง 5 เดือนแรก (..-..) มูลค่าสินค้าส่งออกไปยังจีน (ส่วนใหญ่เป็นผลไม้) พุ่งพรวดเป็น 2,848 ล้านบาท

สูงกว่าสินค้าส่งออกไปจีนทั้งปี 65 เสียอีก! และนับวันแนวโน้มยิ่งเพิ่มพูนจากการใช้ประโยชน์ FTA อาเซียนจีน

10 อันดับสินค้าไทยส่งออกจีนมากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรกมีดังนี้ 1) ทุเรียนสดมูลค่า 2,073.18 ล้านบาท เทียบปี 65 ที่ 446 ล้านบาท 2) มังคุดสด 378.65 ล้านบาท เทียบปี 65 ที่ 52 ล้านบาท 3) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 315.21 ล้านบาท

4) ลำไยสด 37.40 ล้านบาท 5) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงอื่น ๆ 17.89 ล้านบาท 6) สับปะรดแปรรูป 11.43 ล้านบาท 7) ส้มโอสด 2.99 ล้านบาท 8) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 2.72 ล้านบาท 9) มะม่วงสด 1.79 ล้านบาท และ 10) ผลไม้อื่น ๆ 1.52 ล้านบาท

นี่ไงครับ การระบายสินค้าเกษตรผ่านรถไฟความเร็วสูง ซึ่งนับวันจะทวีจำนวนและมูลค่ามากขึ้นจากกรอบข้อตกลง FTA เป็นตัวช่วย โดยไม่ต้องรอให้ถนนลูกรังหมดไปเสียก่อน

ถ้าเราได้ทำยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานประเทศ 2 ล้านล้านบาทเสียตั้งแต่ปี 2556-57 ป่านนี้เราคงมีรถไฟความเร็วสูง 4 ภาค ทั้งอีสานเหนือใต้ตะวันออก อีกทั้งรถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ และท่าเรือสำคัญ ๆ ไปแล้ว

นี่คือ 1 ทศวรรษที่สูญหายทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 2 ล้านล้านบาท และข้อตกลงการค้าเสรี ที่ถูกทุบทิ้งทำลายลงโดยมายาคติอย่างน่าเสียดาย

Back to top button