พาราสาวะถีอรชุน
ภาพของนายทหารพระธรรมนูญเข้าไปคุยกับตัวแทนของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT จากการที่จะมีการจัดงานเสวนาหัวข้อ "ACADEMIC FREEDOM UNDER THE MILITARY" หรือ เสรีภาพทางวิชาการภายใต้กองทัพ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ว่าด้วยสิทธิในการแสดงความคิดเห็น
ภาพของนายทหารพระธรรมนูญเข้าไปคุยกับตัวแทนของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยหรือ FCCT จากการที่จะมีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “ACADEMIC FREEDOM UNDER THE MILITARY” หรือ เสรีภาพทางวิชาการภายใต้กองทัพ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สะท้อนอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะข้อจำกัดที่ว่าด้วยสิทธิในการแสดงความคิดเห็น
เดิมมีข่าวว่าทหารขอให้ผู้จัดงานเปลี่ยนหัวข้อในการเสวนา เมื่อเจรจาไม่สำเร็จจึงอนุญาตให้งานเดินหน้าต่อไป โดยที่ขอส่งทหารเข้าไปร่วมฟังเนื้อหาของการเสวนาด้วย คงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะหัวข้อดันมีคำว่าทหารหรือกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นของต้องห้ามทำให้ฝ่ายความมั่นคงรู้สึกอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่ง ความจริงภาพในลักษณะอย่างนี้คงไม่ได้สร้างความตกอกตกใจแก่นักข่าวต่างประเทศในไทยแต่อย่างใด
เพราะเคยเกิดภาพทหารบุกเข้าจับกุมตัว จาตุรนต์ ฉายแสง ในงานของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฯมาแล้ว เหมือนที่ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หนึ่งในวิทยากรที่จะไปพูดในงานระบุว่า ไม่แปลกใจมากที่มีการแทรกแซงจากทหาร แต่มันไม่ควรจะทำให้เหตุการณ์แบบนี้เป็นเรื่องปกติ ตรงนี้แหละที่ต้องขีดเส้นใต้
ขณะที่ เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่ได้รับเชิญไปพูดในงานเดียวกัน ก็แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ โดยที่เมื่อมองไปยังรายชื่อของวิทยากร 3 รายนั้น เข้าใจได้ว่าคณะผู้จัดงานน่าจะต้องการทราบมุมมองของนักวิชาการที่มีสถานะต่างกัน กล่าวคือ ปองขวัญในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชัยอาจารย์ภาคเอกชนและ ฐิติพล ภักดีวานิช จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก็จะได้มุมมองจากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด
แน่นอนว่า เสรีภาพในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ถูกจำกัดได้อยู่แล้ว โดยตัวของแต่ละองค์กรเอง ซึ่งจะมีวิธีการในการจำกัดที่แตกต่าง บางสถาบันอาจเลยเถิดไปถึงขั้นกำจัดนักวิชาการที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเสียด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ อย่างที่ทราบกันว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายแห่งนั้นได้เข้าไปรับตำแหน่งจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ย่อมปล่อยผ่านให้องค์กรของตัวเองมีเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้
จะด้วยเหตุที่มีขุมพลังของผู้บริหารของสถาบันปัญญาชนทั้งหลายเหล่านี้ไปค้ำยันอำนาจ บวกกับการมีเนติบริกรชั้นครูอยู่เคียงข้างด้วยหรือเปล่าไม่ทราบ จึงทำให้ผู้มีอำนาจไม่ยอมที่จะเปิดโอกาสให้คนเห็นต่างได้แสดงออกอย่างสันติ บนพื้นฐานของการเคารพความแตกต่าง ไม่ยอมเปิดให้คนได้แสดงความเห็นอย่างสันติ
ถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ ความแตกต่างทางความคิดไม่ใช่ปัญหา แต่ประเด็นก็คือ ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ ไม่ลำเส้น ไม่ใช้กำลังความรุนแรงได้หรือไม่ แน่นอนว่าในภาวะที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเป็นหน้าที่ของคสช.ที่จะควบคุมให้ทุกฝ่ายแสดงออกอย่างสันติ อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่วาดภาพว่ามีคนแตกต่างแล้วยกพวกไปตีกันนั่นคือ อนาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตย
คสช.ต้องไม่สับสนว่าความแตกต่างทางความคิดคือความแตกแยก สังคมไทยควรมีวุฒิภาวะขึ้น โดยมีคสช.เป็นผู้สร้างบรรยากาศ ที่จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ มิเช่นนั้น หลังการร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มเห็นหน้าตาแล้วว่าจะเป็นอย่างไรและการปฏิรูปที่คิดว่าจะทำกันได้ในระดับหนึ่ง สังคมไทยก็จะกลับไปสู่ภาวะไม่สามัคคีเหมือนเดิม
ภาวะที่เป็นอยู่ บุญเลิศ วิเศษปรีชา มองว่าคสช.กำลังอยู่บนทางสองแพร่งนั่นก็คือ จะค่อยๆ เปิดพื้นที่สังคมให้ได้แสดงออก สร้างสังคมที่มีวุฒิภาวะรับฟังความเห็นซึ่งกันและกันหรือจะเลือกปิดกั้นประชาชนต่อไป ท่องคาถาเช่นเดียวกับการรัฐประหารใหม่ๆ ไม่พยายามทำความเข้าใจและฝึกที่จะบริหารความคิดเห็นและความรู้สึกของประชาชนที่แตกต่างกันในสังคม
แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน จะเห็นว่านอกจากจะไม่เกิดภาพเช่นนั้นแล้ว ผู้มีอำนาจยังกลับไปเดินย่ำซ้ำรอยต้นตอของเหตุความขัดแย้งเดิม นั่นก็คือปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ขณะที่อีกฝ่ายซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบปมการทุจริตที่กระทบภาพลักษณ์รัฐบาล กลับถูกควบคุมตัว
ภาพสะท้อนเรื่องสองมาตรฐานนั้นยืนยันชัดเจนมาจากท่วงทำนองของ มาร์ค เคนท์ ทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและนิตยสารไทม์ ที่ได้วิจารณ์รัฐบาลไทยไปก่อนหน้านี้ โดยเปรียบเทียบเหตุการณ์ทหารจับกุมนักศึกษาไม่ให้ไปอุทยานราชภักดิ์ว่าปิดกั้นเสรีภาพ แต่การชุมนุมประท้วงทูตสหรัฐฯที่วิจารณ์มาตรา 112 หน้าสถานทูตสหรัฐฯของอีกฝ่ายกลับทำได้
ความเห็นของ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่น่าสนใจ ถ้ากลุ่มไหนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลถ้าจะออกมาทำกิจกรรมเคลื่อนไหว จะไม่มีการห้ามหรือถูกควบคุมตัว ทั้งยังได้รับการปกป้อง แต่หากเป็นกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับการปกป้อง ทั้งยังถูกคุกคามและควบคุมตัว แจ้งความดำเนินคดี
แม้รัฐบาลจะพูดมาตลอดว่าเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมือง เข้ามาสลายความขัดแย้ง แต่สิ่งที่ทำนั้นกลับตรงกันข้ามและแสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งดีขึ้น เชื่อว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ประชาชนที่เห็นต่างจะตกอยู่ในความไม่แน่นอนจากการใช้อำนาจของรัฐบาล การใช้อำนาจในลักษณะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ กังวลว่ารัฐบาลอาจถูกขับไล่จากประชาชน
สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือต้องอธิบายว่าจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพราะอะไร ถ้าไม่ทำ เวลาที่ต้องไปพูดในเวทีนานาชาติจะทำให้เกียรติภูมิของประเทศตกต่ำ ขณะเดียวกันเวลานี้มีเรื่องที่ต้องถกเถียงแลกเปลี่ยนกันหลายเรื่อง โดยทุกเรื่องเป็นสิ่งที่ที่คนเห็นต่าง ต้องถกเถียงแสดงความคิดเห็นกันในวงกว้าง แต่ภายใต้รัฐบาลนี้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ด้วยเหตุนี้เหมือนที่เคยย้ำมาโดยตลอดถนนสายปรองดองยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์