BAY ขยายสินเชื่อกลุ่มอาเซียน

BAY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 8,425.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.55% จากไตรมาส 2/2565


คุณค่าบริษัท

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 1.ธุรกิจขนาดใหญ่ 35.42% แบ่งเป็น 1.1 บรรษัทไทย 23.02% 1.2 บรรษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC) 12.40% 2.ธุรกิจ SME 16.55% 3.สินเชื่อรายย่อย 48.03% 3.1 สินเชื่อเช่าซื้อ 21.34% 3.2 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 14.15% 3.3 สินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อบุคคล และอื่น ๆ 12.54% (สัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่ + สินเชื่อ SME รวม 51.97% สินเชื่อรายย่อย 48.03%)

BAY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 8,425.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.55% จากไตรมาส 2/2565 แต่ลดลง 2.89% จากไตรมาส 1/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 8,676.29 ล้านบาท กำไรไตรมาส 2/2566 ที่ลดลงเนื่องจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่สูงขึ้นมาที่ 1.58% จาก 1.19% ในไตรมาส 1/2566 จากการตั้งสำรองสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่ BAY เพิ่งเข้าซื้อกิจการ และธนาคารหัตถาในกัมพูชา ส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นในระดับปานกลางเมื่อเทียบไตรมาส 2/2565 ได้แรงหนุนจาก NIM ที่สูงขึ้น 0.32% จากไตรมาส 2/2565 มาอยู่ที่ 3.53%

ยอดสินเชื่­อรวมของ BAY ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 2,010,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากสิ้นไตรมาส 1/2566 และขยายตัว 3.1% จากสิ้นปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่­เร่งตัวขึ้น ทั้งนี้หากไม่รวมพอร์ตธุรกิจสินเชื่อเพื่­อผู้บริโภคจากฟิลิปปินส์และเวียดนาม ยอดสินเชื่­อรวมเพิ่มขึ้น 1.3% จากสิ้นไตรมาส 1/2566 โดยสินเชื่อที่ขยายตัวโดดเด่นคือ สินเชื่­อบรรษัทไทย เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาส 1/2566 และสินเชื่อธุรกิจ SME ที่ขยายตัว 9.1% จากสิ้นปี 2565 แต่สินเชื่อจากบริษัทข้ามชาติและบริษัทญี่ปุ่นที่หดตัวลง 7.5% เนื่องจากลูกค้ายังรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดย BAY มีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม BAY ยังคงเป้าสินเชื่อในปี 2566 ว่าจะเติบโต 3-5% ไว้เหมือนเดิม

BAY รายงานอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ที่ 2.8% ทรงตัวจากไตรมาส 1/2566 จากการคำนวณของ บล.กสิกรไทย ระบุว่า การก่อตัวของ NPL ใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 แต่การตัดจำหน่ายที่สูง ส่งผลให้ NPL ratio สุทธิทรงตัว ขณะเดียวกัน BAY เพิ่ม credit cost เป็น 1.58% ในไตรมาส 2/2566 จากการตั้งสำรองพิเศษสำหรับบริษัทลูกในต่างประเทศ หากตัดรายการสำรองพิเศษออกไป credit cost ในไตรมาส 2/2566 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ขณะที่อัตราการตั้งสำรอง (coverage ratio) ไตรมาส 2/2566 ลดลงเหลือ 157% จาก 162% ในไตรมาส 1/2566 คาดว่าการชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตจะสูงขึ้นเป็น 8% / 10% ในปี 2567-2568 จาก 5% จะเป็นส่วนผลักดันให้ credit cost สูงขึ้นในปีหน้า สินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือของ BAY คิดเป็น 7% ของสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2566

ข้อมูลจาก Refinitiv Consensus สำหรับ BAY ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2566 ที่ 137,392.83 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 33,567.33 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 36.13 บาท จาก 3 โบรกเกอร์

บล.กสิกรไทย ระบุว่า ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2566 ขึ้น 20% เป็น 3.42 หมื่นล้านบาท จากสมมติฐานอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงขึ้น 0.15% ต้นทุน/รายได้ที่ลดลง 1.11% และ credit cost ที่ลดลง 0.11% เพื่อสะท้อนแนวทางการบริหารในครึ่งปีหลังที่ดีกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ตามได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2567-2568 ลง 1% / 5% เป็น 3.42 หมื่นล้านบาท / 3.79 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปรับเพิ่ม credit cost 0.10% ในปี 2567-2568 เพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้น

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น BAY ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 15 ส.ค. 2566 ที่ 31.50 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 7.25 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 8.90 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น BAY อยู่ที่ 0.66 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.71 เท่า

Back to top button