หนทางพิสูจน์ม้าพลวัต 2015
ครั้งนี้ หลังจากยืดยาวมานานเดือน ถือว่าเฟดประสบความสำเร็จอย่างมากในการตัดสินในขึ้นดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์ในรอบเกือบ 10 ปี เพราะขึ้นดอกเบี้ยแล้วตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับเชิงบวก นอกเหนือจากข้อเท็จจริงอื่น เช่น การที่คณะกรรมการเฟดตัดสินด้วยคะแนนเอกฉันท์ทั้งหมด
วิษณุ โชลิตกุล
ครั้งนี้ หลังจากยืดยาวมานานเดือน ถือว่าเฟดประสบความสำเร็จอย่างมากในการตัดสินในขึ้นดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์ในรอบเกือบ 10 ปี เพราะขึ้นดอกเบี้ยแล้วตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับเชิงบวก นอกเหนือจากข้อเท็จจริงอื่น เช่น การที่คณะกรรมการเฟดตัดสินด้วยคะแนนเอกฉันท์ทั้งหมด
ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดที่ว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอีกรวมกัน4 ครั้งในทุกไตรมาส อย่างค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25% ซึ่งทำให้ปลายปี ค.ศ. 2016 ดอกเบี้ยของเฟดจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.375 จุด ใกล้เคียงเป้าหมายเงินเฟ้อ2.0% ก็ไม่มีใครตีความทางลบอีกเช่นกัน
ยิ่งกว่านั้น ยังมีการตีความเพิ่มเติมคำว่า“อย่างค่อยเป็นค่อยไป“ นั้น อาจหมายถึงทำมากกว่าที่ตลาดคาดหมายได้ แต่ไม่ต่ำกว่าขึ้นครั้งละ0.25%
เหตุที่อ้าง ก็เดิมคณะกรรมการ FOMC พิจารณาแล้วเห็นว่าตลาดแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในปีนี้ และคณะกรรมการมีความเชื่อมั่นว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นในระยะกลางสู่ระดับ 2% ตามเป้าหมาย
ดังที่ทราบกันดี เฟดคือธนาคารกลางสหรัฐ ดังนั้น พวกเขาจึงถือเอาผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นแกนกลาง โดยที่เฟดเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะต้องเป็นขาขึ้น จะดีดตัวแตะ 1.375% ในปลายปี ค.ศ. 2016 สู่ 2.375% ในปลายปี ค.ศ. 2017 และ 3.25% ในเวลาอีก 3 ปี บ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็นจำนวน 4 ครั้งในปีหน้า 4 ครั้งในปี 2017 และ 3-4 ครั้งในปี ค.ศ.2018
เฟดยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.4% ในปี ค.ศ.2016, 2.2% ในปี ค.ศ.2017 และ 2.0% ในปี ค.ศ.2018
ขณะเดียวกันเฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นจาก 0.4% ในปี ค.ศ.2015 สู่ระดับ 1.6% ในปี ค.ศ. 2016 และสู่ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟดในปี ค.ศ. 2018
นอกจากนี้ เฟดระบุว่าอัตราว่างงานจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 4.7% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
สรุปคือในสายตาเฟดแล้วเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นขาขึ้นใน3 ปีข้างหน้า จบรอบของการถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นทางการที่ดำเนินมา 7 ปี
คำถามคือ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเป็นขาขึ้น โลกจะเป็นขาขึ้นด้วยหรือไม่ ตามทฤษฎีฝูงห่านป่าบินของอัลวิน ทอฟเลอร์
คำตอบย่อมไม่ใช่แน่นอน จะต้องมีคนที่สังเวยให้กับความสำเร็จของสหรัฐเหมือนเช่นในอดีต เพียงแต่จะเป็นชาติไหนบ้างเท่านั้นเอง
คำตอบที่นักวิเคราะห์ประเมินเบื้องต้นคือ ชาติสมาชิกของ BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
เหตุเพราะว่าเงินเฟ้อที่เกินจริง ผสมเข้ากับภาวะล่มสลายของสินค้าโภคภัณฑ์ และอุตสาหกรรมพื้นฐาน จะทำให้ชาติสมาชิกBRICS ต้องพะวงกับปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องภาวะ stagflation ที่จะมีอิทธิพลสูงมากในสามปีข้างหน้า
จีนนั้นมีปัญหาเงินทุนภายในไหลออกไปต่างประเทศ และมียอดอัตราเติบโตของหนี้สูงกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใน ซึ่งหากไม่จัดการให้ดี อาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่เศรษฐกิจแตกได้ง่ายมาก
การขึ้นดอกเบี้ยเฟดจะทำให้ต้นทุนการเงินของจีนและญี่ปุ่นที่หลายปีมานี้ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการทำแครี่เทรด กู้เงินดอลลาร์ต้นทุนต่ำไปปล่อยกู้ต่อในตลาดเงินสกุลอื่นที่มีกำไรมหาศาล จากนี้ไปจะทำไม่ได้อีกแล้ว เว้นแต่จะสามารถหาแหล่งต้นทุนเงินที่ต่ำกว่าซึ่งยังไม่เคยปรากฏ
สำหรับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะชาติที่กำลังมีปัญหาเรื่อง“กับดักชาติรายได้ปานกลาง“ เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วงไม่น้อย เพราะว่าการขึ้นดอกเบี้ยเฟด อาจทำให้ส่งผลต่อกระแสการไหลของทุนเก็งกำไรในรูปของการไหลออกได้
เงื่อนไขทุนจะไหลออกนั้นขึ้นกับหลายปัจจัย นับแต่ผลประกอบการของบริษัทชั้นนำของประเทศนั้นมีแนวโน้มย่ำแย่ลง หรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นรายได้หลักของประเทศร่วงลงแรงจนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลหรือทุนสำรองเงินตราร่อยหรอลง
ชาติในตลาดเกิดใหม่นั้นมีแนวโน้มที่จะมีแนวทางเศรษฐกิจ และการเมืองชาตินิยมมากเกินขนาด ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาทุนต่างชาติและภายในไหลออกรุนแรง จะเกิดความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับปัญหาการเมืองเสมอมา ซึ่งเป็นเงื่อนไขลบที่ทำให้กองทุนต่างชาติถือเป็นจุดอ่อนโจมตีได้ง่ายมาก
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากผสมโรงด้วยปัญหาภายในของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่รายประเทศ จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าจะเกิดปัญหาจนมีผลทำให้ทุนไหลออกจากตลาดจนเกิดเป็นภาวะถดถอยของตลาดทุน และหายนะของตลาดหุ้น
สำหรับกรณีของไทย ที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจในชนบทยังมีส่วนหนึ่งพึ่งพารายได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงย่ำแย่หลายปีทั่วโลก และความเหลื่อมล้ำของกระบวนผลิตเพื่อส่งออก หรือทดแทนนำเข้า ยังคงมีปัญหาในการปรับตัวค่อนข้างมาก เพราะกระบวนหาทางออกจาก “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” ไม่มีเอกภาพชัดเจน เป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่จะลุกลามจนเป็นประเด็นทางการเมืองระลอกใหม่ และทำให้ทุนไหลออกรุนแรงได้ในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐเป็นขาขึ้น
สถิติเก่าๆ บ่งบอกว่า ในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหาทางการเงิน ไทยได้รับความเสียหายโดยตรง แต่ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐมีปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจไทยจะเฟื่องฟูเพราะปรับตัวสร้างการเติบโตจากแหล่งอื่นทดแทนได้
คราวนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีฐานะแข็งแกร่ง ทุนสำรองเงินตรายังบวกมากเพราะใช้เงินไม่เป็น แม้อัตราเติบโตจะย่ำแย่ แต่ก็ยังถูไถเดินหน้าไปได้เพราะบุญเก่าเยอะ เพียงแต่จุดอ่อนที่ยังไม่ได้แก้เลยคือการเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อรับมือกับยุคใหม่ในอนาคตเพื่อก้าวข้ามกับดักชาติรายได้เป็นกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวล
ครั้งนี้ก็จะเป็นการพิสูจน์อีกครั้งว่า สถิติเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้น จะย้อนรอยมาเป็นความจริงอีกหรือไม่ ต้องคอยดูกัน