พาราสาวะถี
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลังจากนี้ก็จะเป็นการฟอร์มรัฐบาล
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลังจากนี้ก็จะเป็นการฟอร์มรัฐบาล แต่จะเริ่มงานภายใต้รัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการหลังจากที่นายกฯ ได้นำ ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณเรียบร้อยแล้ว และจะต้องมีการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน ตรงนั้นคงไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนจับตา นาทีนี้ทุกฝ่ายต่างจับจ้องไปยังรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกเลือกเฟ้นมาทำงาน ซึ่งชัดเจนแล้วว่าด้วยภาระที่หนักอึ้งจะไม่มีช่วงฮันนีมูน
ในส่วนของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ตัวบุคคลไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะตัวเลือกภายในพรรคไม่ได้มีมาก ประกอบกับตำแหน่งที่ได้รับก็มีจำกัด จึงต้องวางตัวตามลำดับความสำคัญ ผิดกับพรรคแกนนำอย่างเพื่อไทย ที่ต้องบริหารการเมืองภายในพรรคไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมของแกนนำ สส.จากกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ก็จะต้องจัดวางตัวบุคคลที่สังคมให้การยอมรับเพื่อเป้าหมายที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
หากตั้งต้นที่อาการ “ยี้” แล้ว การเดินต่อไปข้างหน้าก็จะลำบาก เมื่อเริ่มทำหน้าที่นโยบายที่เศรษฐาจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาและขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.เพื่อทำทันทีคือ ดิจิทัลวอลเล็ตเติมเงินเข้ากระเป๋าคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ตรงนี้จะต้องได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่แข็งแรงเพื่อมาประสานทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับข้าราชการผู้ปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนงานให้ได้ตามเป้าหมายที่ประกาศไว้
อีกเรื่องคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศเป็นจุดยืนชัดเจนวาระแรกของการปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลพิเศษเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง เป็นรัฐบาลสลายขั้วการเมืองคือ การมีมติ ครม.เพื่อนำไปสู่การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เข้ามายกร่างเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน คำถามตัวโตมันจะง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ จะไม่ต้องเผชิญกับกลเกมการต่อต้านของเครือข่ายขบวนการสืบทอดอำนาจใช่หรือไม่
คำตอบคือไม่ใช่ และไม่ง่าย ทั้งจากองค์กรที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนการทำประชามตินำไปสู่การแก้ไขอย่าง กกต. ที่มีตัวอย่างให้เห็นแล้วจากการล่ารายชื่อของไอลอว์เพื่อเสนอกำหนดทิศทางประชามติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมี ส.ส.ร.ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งพบว่ากว่า 4 หมื่นรายชื่อไม่ได้เป็นกระดาษ แต่เป็นการลงนามผ่านระบบออนไลน์ ทำให้ใช้ไม่ได้ต้องระดมล่ารายชื่อกันอีกรอบ ท่ามกลางเดดไลน์ที่ถูกขีดไว้ นี่เป็นความยากลำบากประการหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยคำถาม ทำไมองค์กรอย่าง กกต.จึงให้คำตอบแค่ว่ารายชื่อที่ได้มาต้องเป็นกระดาษหรือไฟล์จากระบบออนไลน์ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
จะอ้างกลไกระบบราชการคงฟังไม่ขึ้น ขณะเดียวกัน ตัวขวางทางสำคัญคือพวกลากตั้ง อันจะเป็นบทพิสูจน์ว่ายังมีฤทธิ์มีเดชที่จะระงับยับยั้งกระบวนการของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้อีกหรือไม่ แม้จะใช้ช่องทางผ่าน ครม. เพื่อทำประชามติ มีเสียงของประชาชนเป็นตัวตัดสิน แต่คนเหล่านี้มีอำนาจจากระบอบเผด็จการย่อมจะปกป้องมรดกจากปลายกระบอกปืนอย่างสุดชีวิต ที่หนีไม่พ้นคือจะยกเอาเหตุว่ารัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจก็ผ่านประชามติมาเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่เศรษฐาได้รับเสียงโหวตนั่งนายกฯ ด้วยคะแนนสูงถึง 482 เสียง ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า เวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน คนในองคาพยพของพวกอยากอยู่ยาวก็ได้รับคำสั่งให้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์เช่นเดียวกัน แม้จะเกิดคำถามสำหรับพวกลากตั้งว่า ทำไมคนจากสายพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.กับสายผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจึงลงมติไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งงดออกเสียง อีกฝ่ายเห็นชอบ ไม่นับรวมพวกตัวตึงที่คอยป่วนตลอดเวลาซึ่งไม่เห็นชอบตามคาด
ค้นหาเหตุผลไม่ยาก เพราะพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ยังหวังว่าจะมีโอกาสได้ถึงฝั่งฝันเป็นนายกฯ ส้มหล่น เด็กในคาถาจึงแสดงตัวอย่างนั้น อีกพวกคือมองเห็นว่ายกมือหนุนไปลูกพี่ก็ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาลอยู่แล้ว ด้วยสัญลักษณ์ที่เพื่อไทยต้องการแก้ต่างกับมวลชนที่หนุนอย่างน้อยใน ครม.ก็ไม่มีสองลุงร่วมอยู่ด้วย ขณะที่ฟากของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเมื่อประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว เด็กในคาถาย่อมสามารถปล่อยของได้เต็มที่
ความจริงการการันตีว่าเศรษฐาไม่พลาดเก้าอี้แน่ คงเป็นการเข้าร่วมประชุมของ สว.โดยตำแหน่งจากสายกองทัพคือ 3 ผบ.เหล่าทัพ ผบ.ตร. ผบ.สส. และปลัดกระทรวงกลาโหม 6 คนนี้มาจากที่การโหวตนายกฯ ครั้งแรกอ้างติดภารกิจสำคัญไม่ได้เข้าร่วม เท่ากับเป็นสัญญาณส่งไปยัง สว.เสียงส่วนใหญ่ว่าต้องยกมือกันแบบไหน หนนี้ต้องยอมรับการข่าวของ วันชัย สอนศิริ ผู้ที่เสนอคำถามพ่วงให้อำนาจ สว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ที่ย้ำ 1 วันล่วงหน้าก่อนวันลงมติว่า มีพวกลากตั้งที่จะออกเสียงเห็นชอบเศรษฐาไม่น้อยกว่าร้อยคน แล้วก็เป็นไปตามนั้น
นี่แหละสีสันของการเมือง ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์พรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล จน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องยอมรับชะตากรรมพร้อมประกาศเชิงประชดประชัน ทุกฝ่ายพร้อมใจปิดสวิตช์ก้าวไกล แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดเหตุการณ์ที่หลุดกรอบจากธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคมาโดยตลอด นั่นก็คือมี สส. 16 คนจาก 25 คน โหวตหนุนเศรษฐา ทั้งที่พรรคมีมติให้งดออกเสียง ทำให้มองกันว่านี่คือกลุ่มที่อยากจะร่วมรัฐบาล สวนกับแนวทางของพรรค
แต่ก็ยังมีเหตุให้เกิดข้อถกเถียงกันในพรรคเก่าแก่ หากจะชี้ว่า 16 สส.ไม่ปฏิบัติตามมติพรรค แล้วที่ ชวน หลีกภัย กับ บัญญัติ บรรทัดฐาน สอง สส.อาวุโสโหวตไม่เห็นชอบ ขัดกับมติพรรคด้วยหรือไม่ รอยปริแยกที่เกิดขึ้น ยังต้องลุ้นบทสรุปว่าจะเป็นอย่างไร จะถึงขั้นขับออกจากพรรคกันหรือไม่ ซึ่งคนที่โหวตสวนคงอยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะสถานะ สส.ยังคงอยู่แค่หาพรรคใหม่สังกัด ถามว่าผู้มีอำนาจในพรรคจะกล้าฮาราคีรีอย่างนั้นหรือ คงไม่มีใครคิดว่าผลจากการถือหางเผด็จการ คสช.ยึดอำนาจครั้งนั้น จะส่งผลสะเทือนรุนแรงกับประชาธิปัตย์ได้ถึงเพียงนี้