‘Thailand Focus 2023’ ความหวังสุดท้ายของฟันด์โฟลว์ปีนี้
ความเสื่อมศรัทธา หรือ ความเชื่อมั่นที่หดหายไปจากนักลงทุนต่างชาติ ที่ทยอยถอนการลงทุนจากตลาดหุ้นไทยออกไปเรื่อยนับตั้งแต่ต้นปี 2566
ความเสื่อมศรัทธา หรือ ความเชื่อมั่นที่หดหายไปจากนักลงทุนต่างชาติ ที่ทยอยถอนการลงทุนจากตลาดหุ้นไทยออกไปเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นเม็ดเงินจำนวน 1.3 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยทยอยถอนการลงทุนออกเดือนละ 1.6 หมื่นล้านบาท
จุดพลิกผันตรงนี้ ย่อมเกิดจาก ผลของการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ ที่ปรากฏตัวออกมาในส่วนของภาพรวม การบริหารงานของรัฐบาล ที่ไม่มีความคิดที่จะพัฒนา หรือ มีการสนับสนุน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในเชิงบวก
รวมถึงเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ (เอกชน) จากการเก็บภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ภาษีเกี่ยวกับอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัย ฯลฯ ซึ่งมาทั้งในรูปแบบที่เป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม
เราจึงเห็นผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในช่วงปี 2565 เทียบปี 2564 ที่ออกมามีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น 36.8% ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลง 1.9% โดยมีกำไรสุทธิ จำนวน 974,759 ล้านบาท เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรถูกกดจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ามาในช่วงปี 2565 เกิดจากความเชื่อมั่นในตัวเลขของปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 985,699 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.9% เมื่อเทียบกับปี 2563
สรุปความเนื้อหาตรงนี้ จากช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นปลายปี 2562 และระบาดเข้าไทยจนตลาดหุ้นร่วงหนักวันที่ 13 มีนาคม 2563 SET INDEX ลงไปแตะที่ระดับ 969 จุด
หลังจากนั้นก็ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ จนนักลงทุนต่างชาติ กลับมาซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1.9 แสนล้านบาทในปี 2565 เนื่องจากเชื่อมั่นการฟื้นตัวที่เป็นตัวเลขกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปี 2564 ที่เติบโต 79.9% และคาดหวังปี 2565 จะเติบโตขึ้นอีก แต่สุดท้ายเจอรัฐบาลที่ไม่นำพา และแถมเป็นภาระที่ทำให้เอกชนต้องมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างที่เห็น
ทั้งหมดจึงเป็น เหตุผลว่าทำไม ตั้งแต่ต้นปี 2566 (ต้นเดือน ก.พ.) ต่างชาติจึงต้องรีบทยอยเทขายหุ้นไทยออกไปเป็นจำนวน 68% (1.3 แสนล้านบาท) ของเม็ดเงินที่ซื้อสุทธิไป 1.9 แสนล้านบาทของปี 2565 เพราะความเชื่อมั่นไม่มี และเกรงว่ากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนจะลดลงอีกในปี 2566 แม้วิกฤติโควิด-19 จะจบไปแล้วก็ตามที
อีกสิ่งหนึ่งที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรจะต้องกังวล คือ ปริมาณการซื้อขายต่อวันที่ลดลง แม้เราจะมีหุ้นไอพีโอเข้ามาใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา แม้จะเป็นขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมาก็มีหุ้นขนาดใหญ่เข้าหลายตัว อย่าง TLI และ BTG ซึ่งวอลุ่มเทรดดีไม่ได้น่าสนใจเหมือนช่วงแรก ๆ อาจจะเป็นเพราะผลประกอบการที่ลดลง หรือ มีปัญหาใน
การตั้งราคาไอพีโอ จึงทำให้หุ้นที่เข้าเทรดนับตั้งต้นปี 2566 เหล่านี้ ไม่สามารถกระตุ้นให้ปริมาณการซื้อขายต่อวันเพิ่มขึ้นได้เลย หรืออาจจะเป็นเพราะราคาหุ้นร่วงหนักจนทุกคนติดดอย และไม่กล้ายุ่งกับหุ้นเหล่านี้
กลับมาที่การจัดงาน Thailand Focus 2023 เหมือนความหวังที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย ของบุคลากรในวงการตลาดทุน ที่พยายามหาทางแก้ปัญหา วิธีให้ฟันด์โฟลว์กลับมา
หากเทียบกับจำนวน 96 กองทุนจากทั่วโลก จากสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย ไต้หวัน สวีเดน และ สหราชอาณาจักร ที่เข้ามารับฟังข้อมูล แบบ Group Meeting และ One-on-One กับ 118 บริษัทจดทะเบียน
แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียน แต่ 118 บริษัทเหล่านี้ ถือเป็นบริษัทแนวหน้าและตัวแทนของตลาดหุ้นไทยที่จะไปโชว์วิสัยทัศน์ และข้อมูล ให้ฟันด์โฟลว์เหล่านี้เปลี่ยนมุมมอง กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง ในช่วงไตรมาส 4/66
ทั้งนี้ ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาเปิดให้มีงานแบบ Thailand Focus แบบนี้เพิ่มอีกอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อาทิ กลางปี กับปลายปี ให้ต่างชาติได้อัปเดตหุ้นที่ตนเองถืออยู่ หรือ กำลังสนใจจะเข้ามาลงทุน
ข้อสำคัญ ควรจะขยายจำนวนให้มีการนำเสนอข้อมูลกับต่างชาติที่มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งที่บริษัทจดทะเบียนใน SET มี 619 บริษัท ใน mai มี 207 บริษัท รวมแล้ว 826 บริษัท
มันถึงจะบ่งบอกว่า ตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแรง หุ้นทุกตัวพร้อมที่จะให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างชาติ
ถ้าทำสำเร็จ วอลุ่มการซื้อขายที่ควรจะกลับมาเป็นปกติระดับ 7-8 หมื่นล้านบาทต่อวันขึ้นไป ก็จะกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้ง