IAA มองรัฐบาล ‘เศรษฐา’
วานนี้ (28 ส.ค.) “สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เขาได้เผยแพร่บทความ "ได้รัฐบาลใหม่: มีผลกับมูลค่าหุ้น หรือว่าแค่ Sentiment"
วานนี้ (28 ส.ค.) “สมบัติ นราวุฒิชัย” เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เขาได้เผยแพร่บทความ
“ได้รัฐบาลใหม่ : มีผลกับมูลค่าหุ้น หรือว่าแค่ Sentiment”
หลังจากได้อ่านแล้ว จึงขอนำมาสรุปได้ประมาณนี้
1.ความมั่นคงของรัฐบาลใหม่ มีสูงกว่ารัฐบาลเดิม เท่ากับตัวแปรด้าน Risk ลดลง จึงส่งผลทางบวกต่อมูลค่าหุ้น
นั่นคือ รัฐบาลชุดใหม่มีเสียงถึง 314 เสียง ถือว่าแข็งแรงมาก
1.1 “ทีมพรรคเพื่อไทย” ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะ “ต่างชาติ” จากประวัติผลงานการบริหารเศรษฐกิจสมัยที่เคยเป็นรัฐบาล รัฐบาลใหม่มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมากในสายตาของต่างชาติ
อีกทั้งการเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี
ถือเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จในการนำพาองค์กรขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศมาแล้ว
มีการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ
พรรคเพื่อไทยจึงน่าจะผลักดันนโยบายหลักทางเศรษฐกิจไปได้ด้วยดี
1.2 ทุกพรรคนอกจากพรรคก้าวไกล ไม่อยากเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เงินทุนเยอะ ยังน่าจะถูกพรรคก้าวไกลกวาดเก็บยึดส่วนแบ่งที่นั่ง สส.อีกด้วย
ดังนั้น การต่อรองและบีบคั้นของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีต่อพรรคเพื่อไทย “คงไม่รุนแรงเกินรับได้”
ประเด็นนี้จึงไม่มีความเสี่ยงที่จะใช้กระบวนท่ายุบสภาในช่วงอย่างน้อย 2-3 ปีแรก
จึงหวังว่ารัฐบาลใหม่นี้น่าจะอยู่ได้นานกว่าที่คอการเมืองวิจารณ์
และในเบื้องต้นใช้สมมติฐานที่ 3-4 ปี นานพอที่จะฟื้นเศรษฐกิจไทยขึ้นไปได้
สรุป ตัวแปรตามเนื้อหาข้างบนนี้ เบื้องต้นใช้สมมติฐานว่ามีผลบวกกับมูลค่าหุ้น 5%
2.ความคาดหมายด้านการเติบโต ปี 66 ต้องปรับลด แต่จะเพิ่มปี 67-69
2.1 ความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลน่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้าลง จึงส่งผลให้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนปี 66 ต้องลดลง ในเบื้องต้นคาดการณ์ลดลงประมาณ 2%
2.2 เมื่อรัฐบาลใหม่เข้าทำหน้าที่จัดทำงบประมาณเสร็จ และเร่งทำตามนโยบายเศรษฐกิจหลัก
ผลบวกชัดเจนจะเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 67
และมั่นใจว่าบรรดานักวิเคราะห์และผู้ลงทุนจะเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจ
ส่งผลให้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 67-69 สูงกว่าสมมติฐานยุครัฐบาลเดิม อีกปีละ 2% รวม 3 ปี เท่ากับ 6%
3.นโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะเร่งมือ ส่งผลบวกต่อหลายธุรกิจ
3.1 ส่งเสริมภาคท่องเที่ยว โดยงานวันแรกที่ “เศรษฐา” ทำทันที คือ บินไปหารือภาคท่องเที่ยวที่จังหวัดสำคัญ ๆ
เมื่อเข้าบริหารจริง รัฐบาลจะเน้นหนักทันทีในการโปรโมตเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ผลบวกของนโยบายนี้ จะกระจายความดีไปทั้งธุรกิจโรงแรม อาหาร ค้าปลีก ส่งผลถึงการจ้างงานทำให้มีรายได้เติมกำลังซื้อให้ผู้บริโภค
3.2 การเติมกำลังซื้อด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัลทันที 10,000 บาท ในกลางไตรมาส 1 ปี 67
เงินเหล่านี้จะทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยสินค้า ทั้งอาหารการกิน เครื่องใช้ไม้สอย ของใช้นานาชนิด
จุดที่น่าติดตามดู คือความเชื่อเรื่องการหมุนหลายรอบทางเศรษฐกิจจากการกระตุ้นแรง ๆ ครั้งนี้
3.3 นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี เป็น 25,000 บาท ตั้งเป้าภายในปี 70
ต้องติดตามว่าจะใช้วิธีทยอยขึ้นอย่างไร
การเติมกำลังซื้อให้ประชาชนด้วยการขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนนี้ จะหนุนให้เกิดการใช้จ่าย
และแม้ว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจบางส่วนที่มีโครงสร้างต้นทุนจากแรงงานมาก
ทว่าการประกาศล่วงหน้ายาว ๆ ทำให้ภาคธุรกิจมีเวลาเตรียมการปรับตัว และได้รับการชดเชยบางส่วนจากการที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับการกระตุ้นให้ฟื้นตัวขึ้นติดต่อกันตั้งแต่ปี 67-70
3.4 การลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้า ช่วยให้ประชาชนเหลือเงินไปจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำเป็นอื่น ๆ ได้มากขึ้น
และยังช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจลดต้นทุนได้อีกด้วย
4.มีความกังวลเรื่องเก็บภาษีการขายหุ้น ยังมีลุ้นว่ารัฐบาลใหม่อาจไม่ประกาศเก็บ
สรุปผลประเมิน เมื่อรวมผลบวกและลบทั้งหมด
มูลค่าของหุ้นโดยรวมซึ่งจะสะท้อนออกไปที่ SET Index ควรจะมีมูลค่าสูงขึ้น 6.5% เทียบกับวันฐานที่ยังไม่มั่นใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีกันแน่ (ช่วงระดับ 1,520 จุด) มูลค่าหุ้นจะไปที่ 1,619 จุด
ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าจะขานรับทางบวก
โดยแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ ผลบวกกระจายไปหลากหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก ทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม สนามบิน ค้าปลีกและศูนย์การค้า ผู้ผลิตของใช้หลากหลายที่มีโอกาสรองรับการเติมกำลังซื้อประชาชน
กลุ่มธนาคาร Finance ธุรกิจสื่อ และธุรกิจสื่อสารก็น่าจะเก็บเกี่ยวผลบวกไปด้วยกัน