พาราสาวะถี
คึกคักเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขยับของบรรดาคนที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีใน ครม.เศรษฐา 1
คึกคักเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขยับของบรรดาคนที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีใน ครม.เศรษฐา 1 ภารกิจแรกที่ต้องทำกันคือ การกรอกประวัติของตัวเอง เพื่อที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ตรวจสอบคุณสมบัติ จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ มาถึงตรงนี้มีพรรคที่ขยับรายชื่อเพื่อความลงตัว โดยรวมไทยสร้างชาติที่ขอใช้โควตาคนนอกเพื่อเป็นทางแก้ปัญหาแย่งตำแหน่ง ด้วยการดึงเอา กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดคลังจากเดิมที่เป็นโควตาของเพื่อไทยมาอยู่กับพรรคแทน หากหลุดไปจากนี้ก็จะเป็นคนจากภาคธุรกิจที่แว่วว่าน่าจะเป็นนายธนาคารซึ่งคนทั่วไปรู้จักดี
น่าสนใจกับการวางตัว สุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากคนที่เป็นครูมาทั้งชีวิตก่อนที่จะกระโจนเข้าสู่สนามการเมือง แต่คงไม่ใช่ปัญหาในฐานะนักการเมืองผู้คร่ำหวอดตลอดระยะเวลาของการทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยเฉพาะฐานะประธานวิป การอภิปรายในสภาลีลา ท่วงทำนอง การนำเสนอถือว่าไม่เป็นสองรองใคร สูสีกับ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตดาวสภา สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด กระบวนการรวบรวมเรียบเรียงจัดลำดับความสำคัญ การไปคุมกองทัพต้องอาศัยคนที่มีลูกล่อลูกชนแบบนี้
ขณะที่แนวคิดและทิศทางการบริหารงานของนายกฯ คนใหม่ก็ชัดเจนว่า ผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนั้นต้องมีภาวะผู้นำที่จะคุย และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลหรือใครก็ตามที่เลือกมาแล้ว คงทำงานให้ประชาชนและประเทศชาติเต็มที่ ประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ในมุมของผู้นำประเทศเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ เจ้าตัวยืนยันว่าไม่ชอบคำว่าปฏิรูป แต่จะเป็นการพัฒนาร่วมกันไป โดยต้องมานั่งคุยกับผู้นำเหล่าทัพทั้งหมด ซึ่งก็อยู่ในแผนการเจรจา
ปัญหาสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพลเรือนสำหรับประเทศไทย คงหนีไม่พ้นเรื่องการยอมรับจากคนมีสี เพราะอยากได้ผู้ที่เคยดูแลงานด้านความมั่นคงของประเทศมาก่อน ซึ่งจะว่าไปแล้วเมื่อมีพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ที่การแต่งตั้งผู้นำเหล่าทัพฝ่ายการเมืองไม่สามารถไปล้วงลูก สั่งการได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ว่าเสนาบดีกระทรวงนี้จะต้องมียศฐาบรรดาศักดิ์แต่อย่างใด การใช้บริการพลเรือนน่าจะเป็นผลดีด้วยซ้ำ เนื่องจากความที่ไม่ใช่ทหารเก่าย่อมไม่มีรุ่นไม่มีพวก ทำให้การบริหารงานน่าจะเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะไม่มีปัญหาแบ่งแยกพวกมึงพวกกู
ความเคลื่อนไหวของเศรษฐาตั้งแต่วันลงพื้นที่ภูเก็ต-พังงา จนกระทั่งล่าสุด เชิญ กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสายการบินต่าง ๆ เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและหาแนวทางแก้ไขด้านการบินเพื่อยกระดับการท่องเที่ยว ภาพของแกนนำพรรคที่มาร่วมวงหารือครั้งนี้ ก็คือการยืนยันภาพของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้นั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็น ปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ถูกวางให้เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ผู้ที่จะนั่งว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นรัฐมนตรีช่วยคลัง ขาดแต่ ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งจะรับตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่แค่นี้ก็แทบจะฉายภาพให้เห็นแล้วว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเพื่อไทยจะเป็นไปในทิศทางใด
เสียงขานรับจากภาคเอกชนทุกส่วนต่อการเข้ามาเป็นผู้นำประเทศของเศรษฐา ก็น่าจะเป็นสัญญาณเชิงบวก การเริ่มต้นเดินสายพบปะผู้ประกอบการสาขาต่าง ๆ ถือเป็นการทำการบ้าน รวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปประกอบกับนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของเพื่อไทยที่ได้วางแผนกันไว้แล้ว ร่างเป็นนโยบายเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้หลังผ่านกระบวนการแต่งตั้งและพา ครม.เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว น่าจะได้เห็นการขับเคลื่อนเดินงานของรัฐบาลโดยทันที
อย่างไรก็ตาม การจัดโผรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยใช่ว่าจะไม่ติดขัด เนื่องจากเดิมทีที่วาง ชูศักดิ์ ศิรินิล มือกฎหมายคนสำคัญของพรรคเป็นรองนายกฯ แต่ปรากฏว่ามีการจองตำแหน่งนี้กันแน่นเอี๊ยด เจ้าตัวจึงจำเป็นต้องเสียสละเก้าอี้ไปให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน เพื่อบริหารการเมืองภายในพรรคไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม จึงเกิดการแก้ปัญหาให้มีนักกฎหมายใน ครม.ด้วยการส่ง พิชิต ชื่นบาน อดีตทนายถุงขนมที่ดูแลคดีสำคัญของคนในตระกูลชินวัตรเข้าประจำการในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แทน
ส่วนประเด็นที่เศรษฐาแย้มเองว่าอาจมีเซอร์ไพรส์บางรายชื่อที่ไม่ตรงตามโผซึ่งปรากฏตามหน้าสื่อ มีการคาดหมายกันว่าหากไม่ใช่บิ๊กเนมในพรรคเพื่อไทย ก็จะเป็นคนโตจากภาคเอกชนซึ่งภาพที่ปรากฏของการพบปะกับบรรดาเจ้าสัวทั้งหลายนั้น เป็นการยืนยันว่า การก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ของคนชื่อนิดนั้นไม่ธรรมดา เป็นที่ยอมรับของกลุ่มอีลิท นอกจากได้รับแรงหนุนเต็มที่แล้ว อาจจะมีการจัดส่งตัวบุคคลเพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจให้แข็งแรง
ฟากพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญอย่างภูมิใจไทย การเลือกที่จะไปกุมบังเหียนกระทรวงมหาดไทย แรงงานและศึกษาธิการ ตรงนี้ก็ชัดเจนว่าต้องการที่จะเข้าไปขับเคลื่อนงานสร้างมวลชน เพื่อหวังผลถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังจากที่เคยทำมาแล้วกับการเอาใจอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ในยุครัฐบาลสืบทอดอำนาจ แม้จะไม่ได้จำนวน สส.ตามเป้า แต่ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จในแง่ของการทำให้พรรคมีเสียงในสภาที่อยู่ในฐานะผู้มีอำนาจต่อรองทางการเมือง
ไม่เพียงเท่านั้น ผลจากการคุมกระทรวงคมนาคมก่อนหน้าทำให้พรรคของเสี่ยหนูได้ทั้งกระสุนและกล่อง จนสามารถกำชัยชนะได้ในหลายจังหวัดทางภาคอีสาน รวมทั้งภาคใต้ นั่นเป็นฐานสร้างทั้งมวลชนและนายทุนของพรรคระดับท้องถิ่น การจัดวางขุมกำลังดูแลกระทรวงในรัฐบาลนี้ จึงจะเป็นการใช้กลไกระบบราชการที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับประชาชนโดยตรง รวมไปถึงกลุ่มแรงงาน เป็นการรุกขยายฐานทางการเมืองให้กว้างมากขึ้น