‘เอเวอร์แกรนด์’ มูลค่าตลาดสูญ 7 หมื่นล้าน

หลังกลับมาซื้อขายหุ้นอีกครั้ง “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป” ของจีน มาร์เก็ตแคปวูบกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่ง


หลังกลับมาซื้อขายหุ้นอีกครั้ง “ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป” ของจีน มาร์เก็ตแคปวูบกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่ง สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มีหนี้สินมากสุดในโลก เนื่องจาก “เอเวอร์แกรนด์” กำลังแสวงหาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ

“เอเวอร์แกรนด์” เป็นจุดศูนย์กลางวิกฤต ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจีน เห็นได้ชัดจากมีการผิดนัดชำระหนี้หลายครั้งนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 และหุ้นถูกระงับการซื้อขายมาเป็นเวลานานมากถึง 17 เดือน โดย “เอเวอร์แกรนด์” กำลังอยู่ในกระบวนการขออนุมัติจากบรรดาเจ้าหนี้และศาล เพื่อดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทแจ้งว่าช่วงเวลาบันทึก การลงคะแนนเสียงของเจ้าหนี้ขยายออกไป จนถึงวันที่ 20 ก.ย. (จากเดิมวันที่ 23 ส.ค.)

ผู้บริหารเอเวอร์แกรนด์ ระบุว่า การประชุมแผนกับเจ้าหนี้จะถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 26 ก.ย. จากเดิมที่ 28 ส.ค. เพราะว่า “มันเป็นสิ่งสำคัญมากว่าเจ้าหนี้ทุกราย เข้าใจถึงกระบวนการของการปรับโครงสร้างหนี้ และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่บริษัทได้นำเสนอ”

“เอเวอร์แกรนด์” ซื้อขายเมื่อวันจันทร์ (28 ส.ค.) โดยลดช่วงติดลบจากตอนเปิดตลาดที่ร่วงลงถึง 87% ทำให้มูลค่า ณ เวลาปิดตลาดลดลงเหลือ 4,600 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (หรือเทียบเท่า 586.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 21,800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 2,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากเมื่อตอนเปิดให้ซื้อขายครั้งล่าสุด

โดยหุ้นเอเวอร์แกรนด์ ถูกระงับการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 65 และกลับมาเปิดให้ซื้อขายอีกครั้ง หลังจากบริษัทบรรลุเงื่อนไขทั้งหมดของตลาดหุ้นฮ่องกง..

ทั้งนี้ธุรกิจในเครือเอเวอร์แกรนด์ประกอบด้วย ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ยานยนต์พลังงานใหม่ (China Evergrande New Energy Vehicle Group) และเอเวอร์แกรนด์บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ (Evergrande Property Services Group) ทั้ง 2 บริษัทได้กลับมาเปิดการซื้อขายหุ้นหลังจากหยุดซื้อขายนาน 16 เดือน ทั้งนี้ “เอเวอร์แกรนด์” กำลังเผชิญกับการถูกเพิกถอนออกจากตลาดหุ้น (delisting) ถ้าหากมีการหยุดพักการซื้อขายหุ้นนานถึง 18 เดือน

Steven Leung ผู้อำนวยการ UOB Kay Hian ประจำฮ่องกง ระบุว่า “สิ่งต่าง ๆ ที่ก้าวหน้าและปรับปรุงดีขึ้นจะดำเนินต่อไปอย่างยากลำบาก ทั้งการดำเนินงานและการปรับตัวของราคาหุ้น มีความหวังเล็กน้อยที่ว่าเอเวอร์แกรนด์ จะสามารถพึ่งพาการขายบ้านเพื่อจ่ายหนี้สิน เนื่องจากผู้ซื้อบ้านชอบผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลมากกว่าและบริษัทจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นต่าง ๆ”

การประเมินมูลค่าของเอเวอร์แกรนด์แตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ ที่มูลค่าใกล้เคียง 420,000 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในปี 2560 การให้กลับมาซื้อขายหุ้นอีกครั้งของเอเวอร์แกรนด์ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 ส.ค.) บริษัทรายงานผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิลดลง สำหรับงวดครึ่งปีแรก เนื่องจากรายได้สูงขึ้น

ส่วนหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์ลดลงเล็กน้อย 2% มาที่ 2.39 ล้านล้านหยวน (หรือเทียบเท่า 3.28 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ช่วง 6 เดือนแรก ขณะที่สินทรัพย์สุทธิลดลง 5.4% มาที่ 1.74 ล้านล้านหยวน เอเวอร์แกรนด์ รายงานผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิรวมสำหรับทั้งปี 2564 และปี 2565 ที่ 81,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินกำหนดการรายงานผลการดำเนินงานในเดือนล่าสุด เทียบกับกำไรสุทธิ 8,100 ล้านหยวน ในปี 2563

Back to top button