TTB บุกรีไฟแนนซ์บ้าน

ดูเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “ดีลซื้อกิจการ” (M&A) หรือ “ควบรวมบริษัท” กลายเป็นกลยุทธ์ที่หลายธุรกิจนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโทรคมนาคม ค้าปลีก ธนาคาร หรือพลังงาน


ดูเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “ดีลซื้อกิจการ” (M&A) หรือ “ควบรวมบริษัท” กลายเป็นกลยุทธ์ที่หลายธุรกิจนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโทรคมนาคม ค้าปลีก ธนาคาร หรือพลังงาน เป็นต้น เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด…ไม่ต่างจากขึ้นลิฟต์แทนการขึ้นบันไดทีละขั้นนั่นแหละ..!!

หนึ่งในตัวอย่างของการควบรวมกิจการที่สะท้อนว่า 1+1 ไม่ใช่แค่ 2 แต่อาจเป็น 3, 4, 5 หรือ 10 ก็ได้นะ ต้องยกให้ดีลควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK ที่กลายมาเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB ในวันนี้…

ส่วนที่ควบรวมกันแล้วยังไม่ค่อยเห็นผลนั้น อย่าให้ต้องสาธยายเลยนะว่าเป็นค่ายไหนบ้าง…น่าจะเห็นกันอยู่ทนโท่

กลับมาที่ TTB หลังจากรายการพิเศษจากการควบรวมหมดไป ก็เข้าสู่โหมดการเก็บเกี่ยวดอกผลจากการควบรวม สะท้อนได้จากงบหลังควบรวมที่เริ่มนิ่ง ประเดิมด้วยงบไตรมาสแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 4,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 3,194 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน 16,870 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% เมื่อทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 15,774 ล้านบาท

ตอกย้ำด้วยงบไตรมาส 2/2566 มีกำไรสุทธิ 4,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่มีกำไรสุทธิ 3,438 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน 17,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 15,889 ล้านบาท

ส่งผลให้งบงวด 6 เดือนแรก TTB ตุนกำไรสุทธิไว้แล้ว 8,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,633 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการดำเนินงาน 34,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 31,663 ล้านบาท

โมเดลที่น่าสนใจของ TTB เกิดจากการใช้จุดเด่นของทั้งสองแบงก์มาผสมผสานกัน…โดยในส่วนของทหารไทยมีจุดเด่นเรื่องฐานทุนค่อนข้างต่ำจากฐานเงินฝาก แต่โปรดักส์ไม่หลากหลาย จะเน้นคอร์ปอเรต หรือสินเชื่อธุรกิจ ในขณะที่ธนชาตมีความเชี่ยวชาญ Hire Purchase สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อรถมือสอง…เพื่อมุ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติม เช่น การบุกสินเชื่อจำนำทะเบียน ผ่านสินเชื่อรถแลกเงิน ทีทีบีไดรฟ์ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน สินเชื่อมีอัตราการเติบโตที่ดีเกือบ 10%

รวมทั้งการบุกตลาดรถมือสองเต็มสูบ ด้วยการเปิดตัว “รถโดนใจ” (Roddonjai) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อ-ขายรถมือสองออนไลน์ ในเดือน ก.ย.นี้ เป็นต้น

ไม่หมดแค่นั้น ล่าสุดเปิดเกมรุกตลาดสินเชื่อบ้าน โดยใช้ความได้เปรียบของทหารไทยที่มีฐานทุนต่ำ ซึ่งเดิมก็ปล่อยกู้บ้านอยู่แล้ว และใช้ความเชี่ยวชาญของธนชาต จับจังหวะดอกเบี้ยขาขึ้น…ช่วยลดความกังวลอัตราดอกเบี้ยบ้าน นำมาสู่ “สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ ทีทีบี” ชูจุดขายดอกเบี้ยพิเศษที่สามารถเลือกได้ทั้งแบบดอกเบี้ยคงที่และดอกเบี้ยลอยตัว ด้วยดอกเบี้ยคงที่ปีแรกอยู่ที่ 2.75% ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรก 3.35% ต่อปี หรือดอกเบี้ยลอยตัว เฉลี่ย 3 ปีแรก เริ่ม 3.25% ต่อปี พร้อมฟรีค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย และฟรีค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ลูกค้าที่ยื่นรีไฟแนนซ์ฯ และได้รับการอนุมัติภายใน 31 ต.ค. 2566 นี้

TTB หมายมั่นปั้นมือไว้ว่าภายในสิ้นปี 2566 จะมีลูกค้ากลุ่มคนมีบ้านผ่านสินเชื่อนี้ได้กว่า 6,000 ราย…ก็ไม่น้อยนะ ส่วนจะพุ่งชนเป้าหมายได้หรือเปล่า..? ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ

ว่าแต่ผลการดำเนินก็กลับมาเติบโตแล้ว…แล้วเมื่อไหร่จะเห็นราคาหุ้น TTB กลับไปยืนเหนือ 3 บาทได้สักทีล่ะ…คงเป็นอีกอย่างที่นักลงทุนอยากเห็น

อย่าลืมว่ายังมีคนติดหุ้นที่ราคา 3 บาทกว่า ๆ อยู่เยอะนะ…

ไม่เชื่อก็ไปตามกระทรวงการคลังดูสิ..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button