การเมืองแบบสงครามนอมินี
รัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่เกิดขึ้นมาแล้ว และข้อสรุปที่ดีสุดในยามที่หมอชลน่านลาออก โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อรักษาคำพูดเรื่อง “มีเราไม่มีลุง”
รัฐบาลผสมร้อยพ่อพันแม่เกิดขึ้นมาแล้ว และข้อสรุปที่ดีสุดในยามที่หมอชลน่าน ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยโดยอ้างเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ ว่าเพื่อรักษาคำพูดเรื่อง “มีเราไม่มีลุง” ก็คือการเมืองไทยจากนี้ไปเป็นการเมืองแบบ “สงครามตัวแทนหรือ สงครามนอมินี” ที่มีคนชักใยอยู่เบื้องหลังในขณะที่คนรับตำแหน่งในฐานะตัวเปิดล้วนเป็นหุ่นเชิดทั้งสิ้นแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีอย่างนายเศรษฐา ทวีสินก็ตาม
สงครามนอมินีดังกล่าวเกิดจากการไม่อยากปะทะกันซึ่งหน้าของตัวจริงเสียงจริงระหว่างกลุ่มทุนใหญ่อย่างทักษิณ ชินวัตรกับกลุ่มพันธมิตรอนุรักษนิยมอันได้แก่กองทัพ เทคโนแครตในระบบอำนาจรัฐและกลุ่มรอยัลลิสต์
ที่ไม่กล้าเปิดหน้าสู้กันตรง ๆ เพราะแต่ละฝั่งรู้ดีถึงข้อจำกัดของตนเองในการต่อสู้และจุดอ่อนจุดแข็งของฝ่ายตรงข้ามมาอย่างโชกโชนนานกว่า 10 ปีมาแล้วนั่นเอง เรียกว่าต่างฝ่าย “ต่างรู้ไส้รู้พุง” กันหมดแล้ว จึงต้องการใช้สงครามตัวแทนผ่านการเมืองระบบรัฐสภาที่วกวนและซ่อนเงื่อนในการต่อสู้
จนกว่าเครื่องมือในระบบรัฐสภาจะไม่ทำงานอีกต่อไปแล้วนั่นแหละ การใช้อำนาจดิบเถื่อนนอกระบบรัฐสภาและกฎหมาย จึงจะถูกใช้ตามมาด้วยการทำรัฐประหารของกองทัพ
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของ real politik ตามที่มาคิอาเวลลีเคยกล่าวเอาไว้มาแล้วเมื่อ 600 กว่าปีก่อนที่ยังคงใช้อธิบายการเมืองแบบไทย ๆ ได้เสมอ
ทำไมพวกพันธมิตรอนุรักษนิยมทั้งหลายจึงไม่ยอมใช้อำนาจดิบแบบการทำรัฐประหารของกองทัพ เหตุผลหลักคือมันยังใช้การไม่ได้เนื่องจากประชนชนไม่ใช่วัวควายหรือสัตว์เลี้ยงที่จะยอมให้พวกเขาสนตะพายต่อไปนั่นเอง การที่กฎหมายเลือกตั้งกลับไปใช้กติกาของปี 2544 ที่บังเอิญประชาชนที่เข้าคูหาเลือกตั้งดันไปเลือกพรรคก้าวไกลให้เป็นพรรคใหญ่สุด ซึ่งพวกเขาไม่ต้องการ การขัดขวางนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีและการเตรียมการยุบพรรคก้าวไกลจึงต้องเกิดขึ้นมา
การที่พันธมิตรแห่งการทรยศของพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจึงเข้าใจกันได้ว่าอำนาจของพวกเขาได้พบกับจุดลงตัวบางอย่างของกลยุทธสู้ไปกราบไป จนกลายมาเป็นสงครามนอมินีดังที่ขัดหูขัดตา ประชาชนผู้มีสิทธิใช้การเลือกตั้งแสดงเจตนารมณ์
สงครามนอมินีนี้จะดำเนินต่อไปอีกยาวนานจนกระทั่งผ่านยุคสมัยนี้ไปแล้วถ้าหากว่าบังเอิญคนไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในพลังสันติวิธีของการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอนาคต ไม่ยอมมอบตัวให้กับเผด็จการเสียก่อนจากความเบื่อหน่ายของระบบการเลือกตั้งที่ต้องผ่านความอึดและอดกลั้นของ “ขันติธรรม” มากเป็นพิเศษ
ที่ต้องพูดเช่นนี้เพราะว่านับแต่ 2475 รธน. 2560 ได้ให้อำนาจและอิทธิพล แก่กองทัพมากกว่าครั้งใด ๆ ในการแทรกแซงทางการเมือง ถือเป็นข้อจำกัดทางการเมืองไทยที่ต้องยอมรับสภาพกันว่าจะไม่หายไปง่าย ๆ จากคนหยิบมือที่ได้รับผลประโยชน์จากกติการัฐธรรมนูญปัจจุบัน
พรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะเจ้าของพรรคตัวจริง อย่างครอบครัวชินวัตรนั้น หากย้อนดูพฤติกรรมทางอำนาจของพวกเขาแล้ว จะเข้าใจดีถึงประวัติศาสตร์การเมืองระบบรัฐสภาของไทย ที่พวกเขาเชื่อมั่นอย่างผิด ๆ ว่า ถ้าไม่มีนโยบายที่เรียกว่าประชานิยม ก็ไม่เคยมียุคไหนที่รัฐบาลจะมีนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนชั้นล่างได้อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมมากที่สุดเลย
ดังนั้น ประชานิยม จึงเป็นปัญหาของชนชั้นอื่นที่ไม่ได้ประโยชน์ เพราะมันเป็นผลประโยชน์โดยตรงของประชาชน ภายใต้ความเชื่อมั่นที่ว่า
“คนที่รังเกียจประชานิยม ย่อมเป็นคนชนชั้นสูง และชนชั้นกลางระดับบน”
แต่น่าตลกว่า มีคนชนชั้นล่างที่พ่อแม่เป็นชาวไร่ชาวนา แต่มีโอกาสได้เรียนในเมืองหลวง และทำงานในออฟฟิศหรูหรา มีรายได้ประมาณพออยู่พอกิน พอผ่อนรถผ่อนบ้าน แต่ด้วยจุดยืนทางการเมืองที่เกลียดชังเพื่อไทยและชินวัตร เลยมีความสุขไปด้วยที่ประชานิยมล้มคว่ำลงและหันมาศิโรราบกับเผด็จการอยู่พักหนึ่งและกลับมาตาสว่างในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วยการปฏิเสธจุดยืนของคสช. ที่ใช้พลังกองทัพมาควบคุมบ้านเมืองให้อยู่ในกรอบ เน้นความมั่นคงของชาติอยู่เหนืออื่นใด ทุ่มเทให้กับการเสริมเขี้ยวเล็บกองทัพอย่างจริงจังมากกว่าปากท้องและเสรีภาพของประชาชน
สื่อต่างชาติเคยประเมินตรงกันว่า หลังการเลือกตั้ง กองทัพจะยังครอบงำการเมืองไทยต่อไปจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญและโครงสร้างทางการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลที่ไม่ยอมแตะต้องโครงสร้างที่อัปลักษณ์ของการเมืองไทย อาทิเช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศตามแผน 20 ปี
รวมทั้งการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกองทัพ และรัฐบาลที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตจะต้องดำเนินการตามกรอบเงื่อนไขยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งถูกออกแบบในสมัยรัฐบาลทหาร จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าประชาธิปไตยของไทยในช่วงหลังการเลือกตั้งก็จะยังคงถูกจำกัดอยู่เช่นเดิม และประเทศไทยจะยังตกอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงเปิดโอกาสให้กองทัพมีอำนาจทางการเมือง
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการระบุให้วุฒิสมาชิก 250 รายมาจากการสรรหา รวมถึงการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อกำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลไทยในอนาคตเป็นรัฐบาลผสม ส่วนสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างกองทัพ และองค์กรอิสระ ก็จะยังมีอิทธิพลทางการเมืองต่อไป
ความเชื่อมั่นของเจ้าของพรรคเพื่อไทยที่ว่านโยบายประชานิยมจะดึงให้พรรคร่วมรัฐบาลผสมอยู่กันไปยาวนาน ในการทำสงครามนอมินีได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เปรียบเสมือนฝันกลางวันกลางฤดูฝนของครอบครัวชินวัตรที่โดดเดี่ยวต่อมวลชน ที่ความคิดก้าวหน้ากว่าพรรคไปแล้ว