พาราสาวะถี
จริงจังขนาดไหนกับคำพูดของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่มีต่อ 16 รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่ย้ำว่า เจอหน้าประชาชนห้ามพูดว่าทำไม่ได้
จริงจังขนาดไหนกับคำพูดของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่มีต่อ 16 รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่ย้ำว่า เจอหน้าประชาชนห้ามพูดว่าทำไม่ได้ ติดขัดข้อกฎหมายให้แก้กฎหมาย ติดขัดที่คนให้เปลี่ยนคน อย่างหลังนี่แหละสำคัญ คนที่จะเปลี่ยนนั้นคือข้าราชการประจำที่ต้องทำงานร่วมกันในกระทรวง กรม กองต่าง ๆ หรือนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีและคณะทำงานทั้งหลาย หากเป็นข้าราชการก็ถือเป็นการส่งสัญญาณจะมาเกียร์ว่างหรืออ้างโน่นอ้างนี่เพื่อที่จะไม่แก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้
เข้าใจโจทย์สำคัญของเพื่อไทยกันอยู่แล้ว ต้องการโชว์ศักยภาพสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ จึงไม่มีเวลาฮันนีมูน ถ้าเป็นนักมวยก็ประเภทเดินหน้าอย่างเดียว ถอยหลังแล้วหกล้ม อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนงานให้ไปสู่เป้าหมาย ตามที่ได้กำหนดนโยบายไว้ไม่ได้มีเพียงแค่พรรคแกนนำเพื่อไทยเพียงลำพัง หากแต่ต้องฟังเสียงของ 10 พรรคร่วมด้วย ประเมินเบื้องต้น ทุกพรรคพร้อมให้ความร่วมมือตามที่ท่านผู้นำร้องขอ
ทว่านิสัยของนักเลือกตั้งช่วงเริ่มต้นก็ต้องเออออกันไปก่อน หลังจากที่ได้ทำงานไปแล้ว ก็จะมีวาระผลักดันนโยบายในส่วนของพรรคตัวเอง เท่าที่ได้ฟังมาจากทีมประเมินการเมืองของพรรคแกนนำ หนนี้ดูเหมือนว่า หลายพรรคตั้งใจที่จะเข้ามาสะสมกระสุนไม่ได้เตรียมไว้ใช้สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป บางรายคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายในทางการเมืองที่ถึงวาระต้องวางมือแล้ว จึงตั้งใจทิ้งทวนจะถือเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของคนที่เป็นนายกฯ ว่าจะดักทาง จับได้ไล่ทันพวกเขี้ยวลากดินหรือไม่
วาระขับเคลื่อนในการประเดิมของรัฐบาลเศรษฐา 1 หนีไม่พ้นเรื่องเงินดิจิทัล การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น อย่างน้อยก็ผ่านการลดค่าครองชีพทั้งไฟฟ้า ราคาพลังงานต่าง ๆ จากนั้นก็จะไล่กวดนโยบายที่เป็นการแก้ปัญหาหลังจากถูกเพิกเฉยมาจากรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะราคาพืชผลทางการเกษตร ภาระต้นทุนและหนี้สินของเกษตรกร รวมไปถึงผลกระทบต่าง ๆ ของภาคธุรกิจทุกระดับ
ส่วนของบรรดาเจ้าสัวทั้งหลายที่เศรษฐาได้พบปะมานั้น แทบจะไม่ต้องเป็นห่วงอะไรแล้ว เพราะได้รับอานิสงส์จากรัฐบาลสืบทอดอำนาจกันถ้วนหน้า ภาพใหญ่ที่จะขับเน้นจะเป็นด้านการต่างประเทศที่ต้องไปฟื้นความสัมพันธ์ สร้างความร่วมมือให้กลับคืนมา สามารถทำมาค้าขายได้เหมือนปกติ เพราะตลอดระยะเวลาภายใต้ร่มเงาของเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น ต้องยอมรับความจริงกันว่าทั้งด้านการต่างประเทศ และการค้าระหว่างประเทศอยู่ในภาวะถดถอยอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่อำนาจของเพื่อไทยรอบนี้ไม่ได้เป็นไปแบบปกติ สืบเนื่องมาจากกลไกของพวกอยู่ยาวที่วางกับดักเอาไว้ จึงทำให้ส่วนหนึ่งเกิดการต่อรองมีข้อแลกเปลี่ยนสำคัญคือการกลับบ้านเกิดของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ใช่แค่ยอมตระบัดสัตย์พลิกขั้ว และดึงเอาพรรคสองลุงเข้าร่วมรัฐบาลเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงการไม่ไล่เช็กบิลย้อนหลังผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและพรรคพวกบางรายด้วย ซึ่งตรงนั้นอาจมีข้ออ้างได้ว่า การตรวจสอบและตามเอาผิดเป็นหน้าที่ขององค์กรตรวจสอบไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล
มีพรรคร่วมรัฐบาลอย่างนี้คงทำให้เศรษฐาสบายใจได้ไม่น้อย เมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยหยอดคำหวานพร้อมทำงานรับใช้นายกฯ สุดความสามารถ ได้ฟังแบบนี้ก็เคลิ้มกันยกใหญ่ คงได้รับการติวมาอย่างดีจากที่ปรึกษาระดับอาจารย์ใหญ่ 8 รัฐมนตรีของพรรคได้สมดั่งใจเป็นใครก็พร้อมทำงานถวายหัว แต่ที่คนอยากเห็นเป็นจริงเหมือนคำที่เสี่ยหนูพูดคือให้ยึดหลักทำงานด้วยความซื่อสัตย์อย่างเต็มที่ก็แล้วกัน
ดูทิศทาง แนวโน้มการทำงานของฝ่ายบริหารยังไม่พบวี่แววว่าจะเกิดการสะดุด แต่งานของฝ่ายนิติบัญญัติทำท่าว่าจะเล่นเกมการเมืองกันหนักหน่วง ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้การจัดแบ่งคณะกรรมาธิการสามัญ 35 คณะยังหาข้อยุติไม่ได้ เมื่อฝ่ายค้านหลักอย่างก้าวไกลต้องการที่จะฮุบคณะกรรมาธิการหลัก ๆ โดยอ้างว่าเพื่อใช้ตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาล แต่ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องการที่จะครอบครองตำแหน่งเหล่านั้น ทั้งเพื่อที่จะไว้ใช้ป้องกันรัฐมนตรีของพรรคตัวเอง และส่วนหนึ่งเพื่อใช้ต่อยอดทำมาหากิน
ดูเหมือนว่าการเจรจาไม่มีท่วงทำนองที่จะลดราวาศอกกันเสียด้วย ร้อนถึง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ต้องออกมาขู่หากสุดท้ายไม่สามารถตกลงกันได้จะต้องใช้วิธีการจับสลาก เป็นการใช้หลักการของ กกต.ที่ใช้วิธีจับสลากเบอร์ผู้สมัคร ซึ่งไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้าคุยไม่ได้จำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะสิ่งที่เห็นผ่านการประชุมร่วมกันของตัวแทนพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็คือ ไม่มีใครยอมใคร
แต่ละพรรคได้เตรียมความต้องการที่จะเป็นประธานแต่ละคณะมาแจ้งต่อที่ประชุม บางพรรคไม่ยอม โดยตั้งเป้ามาแบบไม่เปลี่ยน ไม่ถอย ไม่เจรจา ทำให้ตกลงกันไม่ได้ และไม่รู้เดินหน้าต่อไปอย่างไร น่าสนใจทุกพรรคต่างอ้างว่ายึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก กับสิ่งที่ทำกันอยู่มันสวนทางอย่างสิ้นเชิง เพราะหากยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการกันได้ ก็เท่ากับว่าโอกาสที่จะได้นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและเสนอแนะไปยังรัฐบาลก็จะต้องรอ และล่าช้าออกไปอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
น่าเห็นใจไม่น้อยสำหรับพรรคในซีกฝ่ายค้าน ที่เมื่อมองไปแล้วต้องยอมรับความจริงว่าไม่ได้อยากมายืนอยู่ตรงจุดนี้ ก้าวไกลก็รับไม่ได้กับความเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งแล้วกลายเป็นฝ่ายค้าน จนถึงขนาดที่ปฏิเสธรับเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้าน ส่วนประชาธิปัตย์จาก 16 เสียง สส.ที่โหวตหนุนเศรษฐาเป็นนายกฯ ก็ทำให้มองทะลุถึงความต้องการแล้วว่าต้องการยืนอยู่ตรงจุดไหน ไม่ต้องพูดถึงพรรคอย่างไทยสร้างไทย และพรรคเล็กอื่น หากสองพรรคหลักออกอาการอย่างนี้ พรรคที่เหลือก็ทำงานกันเหนื่อย ซึ่งนั่นอาจทำให้รัฐบาลทำงานกันได้ง่ายขึ้น