พาราสาวะถี

วันนี้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่มีอะไรต้องคาดเดาให้มาก รอดูเพียงว่าฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลจะทำหน้าที่แข็งขัน


วันนี้มีการประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่มีอะไรต้องคาดเดาให้มาก รอดูเพียงว่าฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลจะทำหน้าที่แข็งขัน ชำแหละสิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนเห็นความไม่ชอบมาพากลในเรื่องใดหรือไม่ แต่หนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือการซักฟอก เต็มที่ก็คงจะตำหนิ หรือทักท้วงกันลืมให้กับพรรคแกนนำว่า สิ่งไหนที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งแล้วไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในนโยบาย

ฟังจากการพูดคุยกับประชาชนในช่วงลงพื้นที่ขอนแก่น หนองคายและอุดรธานีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีแล้ว ที่จะผลักดันเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และมีมติออกมาทำแน่นอนคือ การลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์เบื้องต้นให้กับประชาชน ที่พลาดไม่ได้คงเป็นเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลของคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 1 หมื่นบาท รวมไปถึงการแก้ปัญหาหนี้สินหรือการพักหนี้ให้กับเกษตรกร

ที่ต้องลุ้นกันคงหนีไม่พ้นปมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเคยประกาศเป็นสัญญาประชาคมในวันที่ฉีกเอ็มโอยูและในการแถลงพลิกขั้วตั้งรัฐบาลว่า จะมีการบรรจุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ตั้งแต่การประชุม ครม.นัดแรก ดังนั้น ในวันที่ 13 กันยายนนี้ ต้องจับตากันว่าพรรคแกนนำรัฐบาลจะทำตามสัญญาหรือไม่ แต่ความจริงในช่วงของการแถลงนโยบายวันสองวันนี้ ก็น่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า จะมีการเตรียมการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้มีการทำประชามติและมี ส.ส.ร.มายกร่างกันอย่างไร

ฟังจากเศรษฐาขายฝันในการลงพื้นที่และให้สัมภาษณ์ยาวเหยียดทุกครั้ง กระบวนการทำงานคงเน้นหนักไปที่การรับฟังปัญหา หาแนวทาง และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหา งานนี้มีการทำการบ้านมาดี เตรียมตัวอย่างเต็มที่ จึงจะเห็นได้ว่าเมื่อนักข่าวถามถึงการประชุม ครม.เศรษฐกิจที่รัฐบาลเลือกตั้งส่วนใหญ่มักจะมีขึ้นหนึ่งวันก่อนการประชุม ครม.ชุดใหญ่ เจ้าตัวบอกไม่จำเป็น เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากแล้ว การสื่อสารมีหลากหลายวิธี สามารถที่จะหารือกันผ่านระบบต่าง ๆ ที่มีได้

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า รัฐบาลของประชาชนที่นายกฯ คนที่ 30 ย้ำอยู่ตลอดเวลาจะต้องก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ปัจจัยจากที่เพื่อไทยเทหมดหน้าตัก เดิมพันสูงจึงต้องลุยงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ก็ส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาสารพัดสารพันโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน รอให้คนของพรรคแกนนำรัฐบาลและพรรคร่วมเข้ามาช่วยกันแก้ไข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เงื่อนเวลา 2-3 เดือนจึงเป็นตัวบีบให้รัฐบาลเศรษฐา 1 ต้องมีผลงาน

หลังจากได้ตัวรัฐมนตรีกันครบเรียบร้อย เหลือเพียง 2 เก้าอี้ของ พิชิต ชื่นบาน และ ไผ่ ลิกค์ จากเพื่อไทยและพลังประชารัฐ ซึ่งเศรษฐายอมรับว่าขอเก็บไว้ให้เจ้าของเดิมที่อยู่ระหว่างรอกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติให้เคลียร์เสียก่อน บรรดารัฐมนตรีรวมถึงนายกฯ เองก็เร่งที่จะแต่งตั้งตำแหน่งทางการเมืองสำคัญ ๆ หลายราย โดยในส่วนของเศรษฐานอกเหนือจากมี “หมอมิ้ง”นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขาธิการนายกฯ แล้ว จะต้องมีการแต่งตั้งรองเลขาธิการนายกฯ ด้วย

ตามข่าวที่ปรากหากรายชื่อเป็นไปตามนี้ก็คือ การเลือกคนทำงานการเมืองด้านต่าง ๆ ของพรรคที่เป็นผู้สมัคร สส.สอบตกให้เข้ามามีตำแหน่งแห่งหน เพื่อจะได้มีบทบาทหวังผลไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยบุคคลที่ถูกวางไว้จากพรรคแกนนำก็คือ สมคิด เชื้อคง อดีต สส.อุบลราชธานี จะมารับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง จักรพล ตั้งสุทธิธรรม อดีต สส.เชียงใหม่ เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายสังคม และ พงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ อดีตผู้สมัคร สส.ฉะเชิงเทรา เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ

ขณะที่เก้าอี้โฆษกรัฐบาล เดิมทีมีการคาดหมายว่าผู้ที่จะมาทำหน้าที่กระบอกเสียงให้เศรษฐา น่าจะเป็นคนการเมืองที่โชกโชนทั้งในสภาและนอกสภา ไม่ว่าจะเป็น ดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จิรายุ ห่วงทรัพย์ อดีต สส.กทม. และ ธีรัตถ์ รัตนเสวี อดีตโฆษกรัฐบาลในยุคของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ปรากว่าหวยไปออกที่ชื่อของ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ คณะทำงานด้านนโยบายการเกษตรพรรคเพื่อไทย

แม้ว่าเศรษฐาจะออกตัวว่าขอดูรายละเอียดตามขั้นตอนการแต่งตั้งอีกครั้ง แต่คงไม่หนีไปจากนี้ เหตุผลที่นายกฯ เลือกนายสัตวแพทย์ชัย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเจ้าตัวมีส่วนร่วมในการร่างนโยบายด้านการเกษตรของพรรคเพื่อไทย และถือเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจที่ดีคนหนึ่ง สิ่งสำคัญการเลือกผู้ที่มีบุคลิกเช่นนี้ หมายความว่าเศรษฐาไม่ต้องการใช้บริการนักการเมืองเพื่อตอบโต้ทางการเมืองมากเกินไป โดยต้องการรักษาภาพลักษณ์ของการสร้างความปรองดองกับทุกฝ่าย

สำหรับการแถลงนโยบายฝ่ายค้านอย่างก้าวไกล ผู้ที่จะจองกฐินอภิปรายคงหนีไม่พ้นประเภทตัวตึงทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รังสิมันต์ โรม รวมทั้ง ศิริกัญญา ตันสกุล โดยสองคนแรกจะเน้นไปในประเด็นทางการเมืองที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนรายหลังจะชี้เป้าไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ งานนี้ข่าวว่าซีกรัฐบาลเตรียมตัวมาดีเพราะเศรษฐาได้วางแนวทางและหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยตัวเอง จนนำไปสู่การเขียนเป็นนโยบายร่วมกัน สำคัญไปกว่านั้นคือภายในก้าวไกลก็ออกอาการระแวงคนกันเอง ที่มองว่าอาจรู้เห็นเป็นใจหรือเข้าข่ายสมคบคิดกับแกนนำเพื่อไทยในการพลิกขั้วเสียด้วยซ้ำไป

อย่างที่บอกการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ จะเป็นประเภทเดินหน้าแล้วฆ่ามันเพียงอย่างเดียวไม่มีทางที่จะก้าวไปถึงฝั่งฝันได้ อาจได้ใจกองเชียร์ แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์และไม่สามารถนำพาพรรคไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ ฐานมวลชนด้อมส้มจำนวนไม่น้อยคือพวกสลิ่มที่มีวาระซ่อนเร้นบางประการ เมื่อไม่ได้ดั่งใจจึงหันไปหาทางเลือกที่เชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พวกตัวเองไม่ต้องการได้ แต่หากสุดท้ายประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่ สามารถนำพาคนส่วนใหญ่ก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ และทุกคนอยู่ดีกินดี คนพวกนี้ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนความนิยมได้อีกเช่นกัน

Back to top button