อำนาจเหนือกฎหมายในสังคมไทย
กรณีตำรวจทางหลวงที่เรียกกันว่าสารวัตรสิวถูกมือปืนของผู้ทรงอิทธิพลยิงเสียชีวิตในงานเลี้ยงประจำเดือนที่จัดขึ้นที่นครปฐม
กรณีตำรวจทางหลวงที่เรียกกันว่าสารวัตรสิวถูกมือปืนของผู้ทรงอิทธิพลยิงเสียชีวิตในงานเลี้ยงประจำเดือนที่จัดขึ้นที่นครปฐมโดยกำนันนกอย่างอุกอาจต่อหน้าคนร่วมงานเลี้ยง ที่บ้านของกำนันนก แล้วนายตำรวจระดับใหญ่ของหน่วยงานตำรวจภาค 7 แห่งจังหวัดนครปฐมช่วยเหลือให้คนที่ก่อเรื่องหลบหนีไปได้
กรณีดังกล่าวทำให้มีเสียงวิพากวิจาณ์ตามมา จากนั้นคือเสียงวิพากวิจารณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะเสียงเรียกร้องให้ทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือมือปืนถูกวิสามัญฆาตกรรมจริง คดีลามปามไปถึงผู้บังคับบัญชานายตำรวจที่ถูกยิงตายต้องฆ่าตัวตาย จนมีการคาดเดากันว่าจะมีการตายเกิดขึ้นอีก
ท่ามกลางเสียงประณามตำรวจที่เกี่ยวข้องกับงานเลี้ยงในวันเกิดเหตุนั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. ดำเนินการขยายผลถึงขั้นการประมูลงานโดยทุจริตของกำนันนกรวมทั้งการยึดทรัพย์ของกำนันนกตามกฎหมายฟอกเงินของปปง.อีกด้วย กรณีดังกล่าวมีข้ออ้างว่ากำนันนกใช้อิทธิพลผ่านเส้นสายตำรวจทางหลวงในกรณีส่วยทางหลวงที่ทำให้รถบรรทุกของกำนันนกได้รับอภิสิทธิ์จากการนี้ ทำให้ต้นทุนการประมูลงานต่ำกว่าคู่แข่งมากกว่าครึ่ง จนสามารถสร้างอิทธิพลครอบงำตำรวจเขต 7 ได้
ข้อกล่าวหาดังกล่าวทำให้กำนันนกตกเป็นผู้ร้ายของสังคมโดยที่ยังไม่ได้ขึ้นศาลพิสูจน์ตามกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมไทยนั้นมีความชอบธรรมให้มีการดำเนินการเหนือกฎหมายได้ โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ กรณีนี้แม้จะเกิดข้อเรียกร้องตรงกันข้ามกับลูกชายของเสี่ยกระทิงแดงที่ขับรถชนตำรวจตายกลางเมืองบนถนนทองหล่อย่านสุขุมวิท แล้วตำรวจกลับพาลูกชายของเสี่ยคนนั้นหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเพื่อรอให้คดีหมดอายุความ โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีพากันปิดปากเงียบโดยอ้างว่าไม่สามารถรู้ถิ่นที่อยู่ของผู้ต้องหาในต่างประเทศได้
สองกรณีนี้มีความคล้ายคลึงกันตรงที่ว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดถูกตีความว่ามีความผิดจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้หลักปรัชญากฎหมายที่เรียกว่า Rule by Law แทนที่จะใช้หลักปรัชญากฎหมายว่าด้วย Rule of Law ทั้งสองปรัชญามีความหมายแตกต่างกันตรงที่
Rule by Law ถือว่าทุกคนในรัฐนั้นต้องยอมรับอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์โดยไม่มีข้อสงสัยถึงที่มาของรัฏฐาธิปัตย์ เช่น ถือว่าทหารยึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่คนต้องยอมรับกับกฎหมายที่เผด็จการออกมา
ส่วน Rule of Law ถือว่าประชาชนต้องยอมรับข้อกฎหมายที่เกิดจากฉันทามติของประชาชนโดยพร้อมจะขัดขืนต่ออำนาจเผด็จการ
สังคมที่ใช้หลักปรัชญากฎหมาย Rule by Law นั้นมักจะเป็นสังคมเผด็จการที่เปิดช่องให้คนจำนวนน้อยใช้อำนาจอยู่เหนือกฎหมายได้ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐและระเบียบกติกาของสังคมที่คนกลุ่มน้อยเป็นผู้ตีความตามความต้องการของพวกเขา ดังเช่นกรณีลูกชายเสี่ยกระทิงแดง และกำนันนก ซึ่งจะให้ผลรับที่แตกต่างทั้งที่เป็นการกระทำความผิดทำนองเดียวกัน
หากจะให้ย้อนความหลังไปไกลกว่านี้ก็มีกรณีนายปิ่น จักกะพาก ที่ทำเศรษฐกิจไทยพังพินาศในปี 2538-2540 จากกรณีกลุ่มฟินวันที่ก่อหนี้มหาศาลจากการทำ cross holding หรือการถือหุ้นไขว้ แล้วหนีไปอยู่อังกฤษจนหมดอายุความถึงกลับมาโดยไม่รู้สึกผิดอะไรเลย
ปรัชญา Rule by Law นี้ยังคงอยู่คู่สังคมไทยและถ่วงรั้งไปอีกยาวนาน เพราะคนไทยไม่เข้าใจว่า Rule by Law และ Rule of Law ต่างกันอย่างไร และกระบวนการออกกฎหมายที่บิดเบี้ยวยังคงทรงอำนาจ
ดราม่าเรื่องของกำนันนกและตำรวจทางหลวงอาจจะเป็นเรื่องฮือฮาชั่วครู่ชั่วยามก่อนที่จะมีดราม่าอื่นเข้ามาแทนที่โดยที่ไม่มีการแก้ไขอะไรเลย