พาราสาวะถี
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน ยังคงขับเคลื่อนเป็นสื่อที่เกาะติด ตามกระแส ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไร
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน ยังคงขับเคลื่อนเป็นสื่อที่เกาะติด ตามกระแส ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไร โลกสื่อสารเปลี่ยนแปลงขนาดไหน ข่าวหุ้นยังคงยืนหยัดด้วยอุดมการณ์เดิม เพิ่มเติมคือการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย รองรับพฤติกรรมการเสพของผู้รับสารให้ทันสถานการณ์ รับข้อมูลที่เป็นจริงของข่าวสาร และเป็นประโยชน์ในแง่การลงทุนอย่างมั่นคงต่อไป
เป็นการประเดิมเก้าอี้โฆษกรัฐบาลที่จะเรียกว่าหน้าแหกเลยก็ว่าได้ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ หลังจากตอบคำถามนักข่าวในการแถลงหลังประชุม ครม.เมื่อวันพุธที่ผ่านมา “ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์” เพื่อที่จะขยายความต่อขอบเขตอำนาจในข้อสั่งการของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และมติ ครม.เพื่อที่จะไปยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของเผด็จการ คสช. รวมไปถึงมาตรา 44 ด้วย หลังจากกลับไปทำการบ้านมาแล้ว คิดว่าท่านโฆษกคงต้องมาแก้ตัวต่อเรื่องนี้
ความเป็นจริงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้ ผู้ที่จะถูกเรียกขานเช่นนี้ก็คือ ผู้นำเผด็จการที่ยึดอำนาจเท่านั้น เพราะสามารถล้มล้างรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้ ขณะเดียวกัน อำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการก็ถูกรวบไว้ที่ตัวผู้นำแต่เพียงผู้เดียวได้ ขณะที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือที่เศรษฐาบอกว่าเป็นรัฐบาลของประชาชนนั้น เป็นเพียงแค่ 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตยคือ ผู้กุมอำนาจฝ่ายบริหารเท่านั้น
การที่บอกว่าคำสั่งการของนายกฯ สามารถล้มล้างคำสั่งหรือประกาศ คสช. รวมทั้งมาตรา 44 ได้ด้วยนั้น อาจจะถูกแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่า การจะยกเลิก เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข ประกาศหรือคำสั่ง คสช.ต้องไปดูด้วยว่าประกาศหรือคำสั่ง คสช.ฉบับใด มีผลหรือฐานะเป็นกฎหมาย หากเป็นเช่นนั้น ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว หากจะยกเลิกเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะต้องทำโดยการออกกฎหมายยกเลิกแก้ไขเปลี่ยนแปลง ต้องทำเป็นกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา ไม่อาจทำได้โดยมติ ครม.เพียงอย่างเดียวได้
ส่วนกรณีที่ประกาศหรือคำสั่งของ คสช.เรื่องใดที่มีผลเป็นมติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรี ประกาศหรือคำสั่งนั้น สามารถที่จะใช้มติ ครม.ยกเลิกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ หรือนายกฯ อาจมีคำสั่งยกเลิกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้แล้วแต่กรณี นี่เป็นบทเรียนที่ผู้ทำหน้าที่กระบอกเสียงของรัฐบาลจะต้องตระหนัก เรื่องอ่อนไหวที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ต้องไม่รีบตอบ เพราะทุกคำพูดที่ออกไปมันไม่ได้หมายถึงความรับผิดชอบเฉพาะบุคคล แต่จะรวมไปถึง ครม.ทั้งคณะด้วย
ความผิดพลาดตรงนี้ จึงทำให้คนที่ติดตามการเมืองพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมานั่งเป็นรัฐมนตรีด้วย ไม่ว่าจะในตำแหน่งรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เหมือนที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสบายใจตลอดระยะเวลากว่า 9 ปีที่ผ่านมา กล้าที่จะพูดย้ำเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายได้เต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่เพราะวางกลไกรองรับขบวนการสืบทอดอำนาจไว้แล้ว แต่มีเนติบริกรศรีธนญชัยและมือกฎหมายชั้นครูรายล้อมรอบตัวนั่นเอง
ความจริงเรื่องนี้แทบจะไม่มีอะไร หากโฆษกรัฐบาลไม่หลุดคำพูดว่ารัฏฐาธิปัตย์ออกมา มันสะท้อนในแง่ของความเข้าใจในระบอบและกลไกทางการเมืองของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี อาจจะถูกใจเศรษฐาในมุมของความรู้ ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจและการนำเสนอรายละเอียด อธิบายเรื่องที่รัฐบาลจะทำในปัจจุบันและอนาคต หากจะใช้งานลักษณะนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องเร่งตั้งรองโฆษกรัฐบาลที่จะมาสื่อสารงานด้านการเมืองไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วม
อีกประเด็นที่กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันในแวดวงข้าราชการจากมติ ครม.ก็คือ การจ่ายเงินเดือน 2 รอบ มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยที่โฆษกรัฐบาลให้สัมภาษณ์ทางรายการโทรทัศน์ชี้แจงว่า หากเป็นปัญหาก็ให้ถือเป็นทางเลือกก็แล้วกัน พร้อมอธิบายว่า อาจใช้การโอนเงินสองรอบ ใครที่ไม่ใช่เงินรอบแรกที่โอนก็รอรอบสองโดยเงินได้เท่าเดิม ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร แต่คำถามที่จะตามมาคือ เมื่อเป็นมติ ครม.ไปแล้ว จะให้ส่วนราชการเลือกที่จะทำตามหรือไม่ก็ได้เช่นนั้นหรือ หรือว่าให้ทำตามมติโอนเงินกันสองรอบ ส่วนจะกดเงินไปใช้ช่วงไหนก็เป็นเรื่องที่ข้าราชการแต่ละคนตัดสินใจเอาเอง แบบนี้ก็ว้าวุ่นกันใหญ่ 555
ปัญหาที่เศรษฐาและรัฐบาลนี้จะต้องเร่งแก้ไข ซึ่งนายกฯ ได้นั่งหัวโต๊ะประชุมไปวันวานคือ พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่โดยปกติทุกปีในเดือนตุลาคมจะได้เริ่มใช้จ่ายงบตามปีงบประมาณใหม่แล้ว แต่ผลจากการเลือกตั้งและตั้งรัฐบาลได้ช้า ทำให้จนป่านนี้ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา ที่โดยปกติแล้วขั้นตอนตั้งแต่รับหลักการในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จนไปถึงการพิจารณาของ สว.ใช้เวลาราว 6 เดือน
หากเป็นเช่นนั้น หมายความว่า ต้นปีหน้ารัฐบาลเศรษฐา 1 ยังไม่ได้ใช้เงินก้อนใหม่ แล้วนโยบายต่าง ๆ ที่จะเดินหน้ามันจะขยับกันแบบไหน ด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ใช้เงินชั่วคราวได้เท่าที่ พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2566 ได้อนุญาตไว้ มาถึงนาทีนี้เงินส่วนใหญ่ก็จะเป็นรายจ่ายประจำและรายจ่ายผูกพันที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว สิ่งที่จะทำใหม่ต้องรองบประมาณปี 2567 เท่านั้น
เว้นเสียแต่ว่า จะหาช่องทางอื่น ซึ่งหากเป็นเอกชนคงไม่มีปัญหา แต่ความเป็นรัฐบาลทุกอย่างต้องผูกติดกับข้อกฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หนทางเดียวที่จะทำได้คือการใช้กระบวนการทางกฎหมาย อาศัยความร่วมมือจากรัฐสภาหรืออำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่จะร่วมกันเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ให้เร็วกว่าที่ควรจะเป็น ตรงนี้ก็หนีไม่พ้นมือกฎหมายที่รัฐบาลจำเป็นต้องมี รวมไปถึงผู้ทำหน้าที่ประธานวิปรัฐบาล ที่ อดิศร เพียงเกษ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ของเพื่อไทยบอกไว้ว่าตัวเองได้รับมอบหมายหน้าที่นี้ และมีศักดิ์เทียบเท่ารองนายกฯ คงต้องแสดงบทบาทแก้ปัญหาให้ได้ ให้เร็ว ไม่ใช่มีแต่ราคาคุย