มองโอกาส Buy on Fact หุ้นไฟฟ้า-ปั๊มน้ำมัน

ปัจจัยกดดันหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าและสถานีบริการน้ำมัน มีความชัดเจนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกอย่างเป็นทางการ


เส้นทางนักลงทุน

ปัจจัยกดดันหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าและสถานีบริการน้ำมัน มีความชัดเจนภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ของรัฐบาลที่มี “นายเศรษฐา ทวีสิน” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการคลัง นั่งเป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการลดค่าพลังงาน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ทั้งค่าไฟฟ้า และน้ำมัน

ครม.มีมติลดราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร ด้วยการใช้เครื่องมือภาษีสรรพสามิต และการให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุน เบื้องต้นน่าจะลดลงไป 2.50 บาท/ลิตร โดยมตินี้จะเริ่มได้ในวันที่ 20 กันยายน

ขณะที่ ในส่วนของน้ำมันเบนซินได้มีการพูดคุยกัน แต่ต้องดูรายละเอียดให้ดีในกลุ่มผู้ที่เดือดร้อนจริง ๆ หรือที่เรียกว่ากลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะมีมาตรการตามมาภายหลัง มีแนวโน้มว่าจะมีการปรับลดค่าการตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 2.45-5.57 บาท

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติลดค่าไฟฟ้าจาก 4.45 บาท เหลือ 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ถือเป็นจำนวนที่มากกว่าที่ได้คาดไว้ จะมีผลเริ่มตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป

มาตรการลดราคาค่าไฟฟ้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้กลไกลการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นกลไกจากมาตรการก่อน แต่รัฐบาลมองว่ายังมีกลไกอื่นอีกที่จะนำมาใช้ ซึ่งต้องคุยกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ นโยบายลดค่าพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า และน้ำมัน กดดันหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและสถานีบริการน้ำมันมาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในวันที่ครม.มีมติดังกล่าว

sentiment ลบนี้ ส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าและสถานีบริการน้ำมันมาก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ราคาในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงไปมาก โดยในรอบ 9 วันทำการ (1-13 กันยายน 2566)  ที่ผ่านมา หากพิจารณาที่กลุ่มโรงไฟฟ้า พบว่าหุ้นบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ซึ่งมีธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำร่วง ราคาตกลง 6.25% จาก 34 บาท มาที่  32 บาท

ส่วนบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็ร่วงลง 7.65% จาก 52.75 บาท มาสู่ 49 บาท เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนกังวลต่อปัจจัยกดดันที่ไม่ชัดเจนดังกล่าว และเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบที่ยังไม่อาจคาดการณ์ได้

เป็นเรื่องจริงที่ว่า เมื่อภาครัฐปรับลด Ft ลงมาก อาจจะกระทบต่อ GPSC และ BGRIM ได้ โดยทุก ๆ การปรับ Ft มากกว่าราคาพลังงาน 1 สตางค์/หน่วย จะกระทบกำไรปี 2567 ของ GPSC ให้ลดลงราว 60 ล้านบาท/ปี หรือกระทบ 0.8% ของกำไรปกติปี 2567 ส่วน BGRIM จะกระทบ 21 ล้านบาท/ปี หรือกระทบ 0.6% ของกำไรปกติปี 2567

ส่วนหุ้นปั๊มน้ำมันนั้น ราคาหุ้นบมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) ร่วงลง 11.22% จาก 10.70 บาท ไปที่ 9.50 บาท ขณะที่ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ราคาหุ้นวิ่งเข้าหาราคา IPO ระดับ 18 บาท เพราะตกลงอย่างต่อเนื่อง รวม ๆ แล้ว เฉพาะในช่วง 9 วันทำการที่ผ่านมา ร่วงไป 4.41% จาก 20.40 บาท มาที่ 19.50 บาท

แนวโน้มที่ภาครัฐจะใช้เครื่องมือทั้งภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมันฯ และค่าการตลาด มาดูแล ทั้งน้ำมันดีเซลและเบนซินด้วย ด้วยเครื่องมือที่ภาครัฐใช้จึงมี downside ต่อประมาณการกำไรของ OR และ PTG เนื่องจากทุก ๆ ค่าการตลาดดีเซลที่ลดลง 0.1 บาท/ลิตร จะกระทบกำไรของ OR ในปี 2567 ให้ลดลงราว 767 ล้านบาท หรือกระทบ 5% ขณะที่ PTG จะหายไป 360 ล้านบาท หรือกระทบ 27%

อย่างไรก็ตาม หากมองว่าวิกฤตคือโอกาสแล้ว ราคาหุ้นที่ปรับลดลงเพราะรับรู้ข่าวร้ายลงไปลึกมากแล้ว ดังนั้นก็จะถูกลดความเสี่ยงไปล่วงหน้าเช่นกัน ทั้ง BGRIM และ GPSC ก็น่าจะเป็นโอกาส Buy on Fact

สำหรับ GPSC นั้น บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า แม้หุ้นจะมี Sentiment ลบจากความเสี่ยงนโยบายลดค่าไฟฟ้า แต่ราคาหุ้นตอบรับข่าวลบไปมากแล้ว และคาดผลกระทบการปรับลดค่าไฟฟ้าและต้นทุนก๊าซจะไม่มาก รวมทั้งมองแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3-4 ปี 2566 นี้ จะยังเติบโตได้จากงวดเดียวกันปีก่อน ให้ราคาเป้าหมาย 75 บาท

หากมองไปในระยะยาวทั้ง BGRIM และ GPSC ยังมีโอกาสอีกมากในตลาดต่างประเทศ ราคาหุ้นที่ลดลงจึงน่าจะเป็นจังหวะทยอยสะสม หากรับความเสี่ยงได้น้อย อาจรอซื้อแบบ Buy on fact ซึ่งโบรกเกอร์มีมุมมองในลักษณะเช่นนี้กับ OR และ PTG ด้วย แต่ต้องเลือกจังหวะที่เหมาะสม

ดังนั้น ราคาหุ้นที่ตกลงมามากเพราะ Sale on Fact จึงเป็นโอกาสทยอย Buy on fact ด้วยเช่นกัน

Back to top button