ทางสองแพร่งของผู้ต้องหา
เกมโปลิสไล่จับตำรวจที่มีเหตุในหน้าสื่อออนไลน์เรียกเรตติ้งกระฉูดยามนี้ช่างละม้ายคล้ายกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Chicago
เกมโปลิสไล่จับตำรวจที่มีเหตุในหน้าสื่อออนไลน์เรียกเรตติ้งกระฉูดยามนี้ช่างละม้ายคล้ายกับเหตุการณ์ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Chicago ที่เกี่ยวโยงกับการนำเสนอของสื่อที่เรียกในภาพยนตร์นั้นว่า razzle, dazzle และพฤติกรรมของผู้ต้องขังที่ยอมรับว่าสามีของตนนั้นโดนฆ่า แต่ไม่ใช่จากฝีมือเธอเลยเพราะอาวุธที่ทิ่มแทงหรือทะลวงตัวเขานั้นเกิดขึ้นเร็วมากจนไม่อาจจะบอกได้ว่าเป็นฝีมือเธอ
การที่คดีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการโยกย้ายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เนื่องจากผบ.ตร.คนปัจจุบันกำลังจะเกษียณอายุในสิ้นเดือนนี้ และมีคู่แข่งชิงตำแหน่งนี้สองคนคือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กับพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล โดยมีตำแหน่งว่างอยู่อีกสองตำแหน่งคือ ผบ.ปปส. และเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ
เรื่องจึงกลายเป็นว่านี่คือการหักโค่นกันของตำรวจด้วยกันเอง โดยนายตำรวจ 20 กว่าคนที่ไปนั่งถอดเสื้อร่วมงานเลี้ยงกำนันนกล้วนเป็นเด็กในเส้นสายของรองต่อศักดิ์ทั้งหมด
เรื่องนี้คล้ายกับทฤษฎีเกมชื่อทางสองแพร่งของผู้ต้องหา (prisoner’s dilemma) เป็นปัญหาพื้นฐานในทฤษฎีเกมซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหตุใดคนสองคนจึงอาจไม่ร่วมมือกันแม้ว่าทั้งสองจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดในการร่วมมือกันนั้น
เดิมปัญหาดังกล่าวคิดขึ้นโดยเมอร์ริลล์ ฟลัด และเมลวิน เดรชเชอร์ ซึ่งกำลังทำงานอยู่ที่ RAND ในปี ค.ศ. 1950 อัลเบิร์ต ดับเบิลยู. ทักเกอร์ทำให้เกมดังกล่าวเป็นระเบียบแบบแผนด้วยการกำหนดโทษจำคุกและให้ชื่อว่า “ทางสองแพร่งของผู้ต้องหา”
ตัวอย่างคลาสสิกของทางสองแพร่งของนักโทษมีดังนี้
ผู้ต้องสงสัยสองคนถูกตำรวจจับกุม ตำรวจมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่ามีความผิด ตำรวจแยกผู้ต้องสงสัยทั้งคู่ออกจากกัน และเสนอข้อเสนอเดียวกันแก่ผู้ต้องสงสัยทั้งคู่ หากคนหนึ่งให้การเป็นพยานต่ออีกคนหนึ่ง (แปรพักตร์) และอีกคนหนึ่งยังคงไม่ให้การ (ร่วมมือ) ผู้แปรพักตร์จะถูกปล่อยตัวไปแต่ผู้สมคบคิดที่ไม่ให้การจะได้รับโทษจำคุกเต็มหนึ่งปี หากทั้งคู่ไม่ให้การ นักโทษทั้งสองจะถูกตัดสินจำคุกเพียงหนึ่งเดือนด้วยข้อหาเล็กน้อย หากทั้งสองให้การ แต่ละคนจะได้รับโทษสามเดือน นักโทษแต่ละคนต้องเลือกที่จะทรยศอีกฝ่ายหนึ่งหรือปฏิเสธที่จะให้การ แต่ละคนต่างก็รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจรู้ได้ถึงการทรยศก่อนการสืบสวนจะสิ้นสุด นักโทษควรทำอย่างไร
หากผู้เล่นแต่ละคนต่างสนใจลดเวลาในการถูกจำคุกลงให้เหลือน้อยที่สุด เช่นนั้นแล้วทางสองแพร่งของนักโทษก็จะเป็นเกมที่มีผลรวมไม่เป็นศูนย์ซึ่งผู้เล่นทั้งสองอาจร่วมมือกันหรือแปรพักตร์จากผู้เล่นอีกคนหนึ่ง ในเกมนี้ เช่นเดียวกับทฤษฎีเกมส่วนมาก ผู้เล่นแต่ละคน (นักโทษ) ต่างก็ต้องการให้ตนเองได้รับผลประโยชน์มากที่สุด โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เล่นอีกคนหนึ่ง สมดุลเฉพาะของเกมนี้คือ สภาวะเลวกว่าอุตมภาพแบบพาเรโต (Pareto-suboptimal solution) นั่นคือ ทางเลือกนำให้ผู้เล่นทั้งสองเลือกที่จะแปรพักตร์ทั้งคู่ ถึงแม้ว่าผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าหากทั้งสองร่วมมือกัน โดยยืนกรานต่อคำให้การแรกสุดแบบยืนกระต่ายขาเดียว
เพียงแต่กรณีกำนันนกมีผู้ต้องหามากกว่าสองคน ดังนั้นหากเป็นไปตามทฤษฎีดังกล่าวโอกาสสำหรับการทรยศหรือการแปรพักตร์จึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายดายด้วยเป้าหมายการเอาตัวรอดของแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นข้อสมมติฐานว่าจะมีการแบ่งกลุ่มนายตำรวจ 20 กว่านายนี้ออกเป็นหลายกลุ่ม ก็จะต้องมีกลุ่มหนึ่งถูกกันไว้เป็นพยานที่จะได้รับโทษน้อยสุด และมีอีกหลายกลุ่มที่จะต้องถูกลงโทษจนเสียอนาคตไปเลย
และหากทฤษฎีนี้ไม่ผิดพลาด กำนันนกคงต้องตายเพื่อให้กรมตำรวจไม่พังพินาศและวนกลับมาสู่สภาพเดิม
ดราม่าว่าด้วยการฆาตกรรมตำรวจทางหลวงที่มีการโยงเข้ากับส่วยทางหลวงและการประมูลงานราชการน่าจะจบลงด้วยการประนีประนอมของผู้มีอำนาจรัฐด้วยการลงโทษนายตำรวจที่เกี่ยวข้องเพียงบางคนอย่างไม่เสมอหน้ากัน นายตำรวจบางคนอาจจะกลับมาได้เมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอาจทำให้พวกโลกสวยที่คาดหวังว่าจะมีความยุติธรรมโดยปราศจากตำรวจชั่วต้องยอมรับข้อเท็จจริงและตื่นจากภวังค์ความฝันได้แล้ว