‘หนี้ครัวเรือน’ ความท้าทายรัฐบาลใหม่
ครม. นัดล่าสุด มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2570 มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 14,602,000 ล้านบาท
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุด มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ฉบับทบทวน) ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2570 มีวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 14,602,000 ล้านบาท รายได้นำส่งคลังรวม 11,745,000 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องและมีแผนกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลรวม 2,857,000 ล้านบาท.!
รายงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 360,000,000 ล้านบาท) ส่งผลให้ยอดหนี้สะสมทั่วโลกขึ้นไปอยู่ที่ 307,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11,067,000 ล้านบาท) ถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากยอดหนี้สูงสุดก่อนหน้านี้ ช่วงครึ่งแรกปี 2022
เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของหนี้ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 100,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,600,000 ล้านบาท)
โดยประเทศที่ก่อหนี้เพิ่มมากสุดช่วงครึ่งแรกปีนี้ เป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นับเป็นประเทศเศรษฐกิจหัวแถวของโลก คือ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ที่ก่อหนี้รวมคิดเป็น 80% ของหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
นั่นหมายถึงหนี้ที่เพิ่มขึ้น 10,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงครึ่งแรกปีนี้มาจาก 4 ประเทศนี้รวมกันเป็นประมาณ 8,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ก่อหนี้เพิ่มมากสุดเป็นประเทศใหญ่ ๆ อาทิ จีน, อินเดีย และ บราซิล
ตัวเลขดังกล่าวเมื่อเทียบอัตราส่วนหนี้ทั่วโลกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมทั้งโลก อัตราส่วนหนี้ทั่วโลกต่อจีดีพีช่วงครึ่งแรกปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 336% ของจีดีพี จากสิ้นปี 2022 อยู่ที่ 334% และ IIF คาดว่าอัตราส่วนหนี้จะเพิ่มเป็น 337% ภายในสิ้นปี 2023 โดยตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ยอดหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้น นั่นคือ การขาดดุลงบประมาณจำนวนมากของรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก
แต่อัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีปีนี้ยังต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกปี 2021 ที่ทั่วโลกยังเผชิญภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อัตราส่วนหนี้สูงถึง 362% ของจีดีพี
Emre Tiftik ผู้อำนวยการ IIF อธิบายว่า “อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังการลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้มูลค่าจีดีพีสูงขึ้น” แต่ทว่าหนี้ของรัฐบาล (ที่ไม่รวมหนี้รัฐวิสาหกิจที่จัดเป็นหนี้ภาคเอกชน) ของหลายประเทศอยู่ในระดับที่น่าตกใจ
“ที่น่ากังวลสุด คือ สถาปัตยกรรมทางการเงินระดับโลก ยังไม่ได้รับการเตรียมการอย่างเพียงพอสำหรับจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้ในประเทศ”
ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่รายงานกล่าวถึงคือ “การจัดสรรเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล ที่จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายมากขึ้น”
รายงานของ IIF ระบุอีกว่า มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยสำหรับหนี้สกุลเงินท้องถิ่นในประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ปัจจุบันคิดเป็นมากกว่า 80% ของต้นทุนดอกเบี้ยทั้งหมดของประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากว่า กลไกแก้ปัญหาหลัก ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ โครงการปรับโครงสร้างหนี้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นั้น ถูกออกแบบมาโดยมุ่งเน้นไปที่เจ้าหนี้ต่างประเทศและหนี้สกุลเงินต่างประเทศ
กรณีประเทศไทย รายงานของ IIF ระบุว่า ภาระหนี้ในการอุปโภคบริโภคโดยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ แต่หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในประเทศตลาดเกิดใหม่ ยังสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 อันมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน ในประเทศจีน เกาหลี และไทย
สำหรับแผนการคลังของไทยระยะปานกลางฉบับใหม่ รัฐบาลต้องการเงินกู้ช่วง 4 ปี (ปีงบประมาณ 2567-2570) วงเงินรวม 3,610,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 754,000,000 ล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2,850,000 ล้านบาท
หากนับเฉพาะแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง โดยไม่นับรวมวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล พบว่า ช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2570 มีวงเงินรวม 754,004 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2567 กู้เงิน 261,757 ล้านบาท, ปี 2568 กู้เงิน 245,168 ล้านบาท, ปี 2569 กู้เงิน 160,892 ล้านบาท และปี 2570 กู้เงิน 86,187 ล้านบาท
แหละนี่กำลังจะเป็นการพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน”ว่าจะประคับประคองหรือเอาตัวรอดจากสถานการณ์ได้อย่างไร..!?