พาราสาวะถีอรชุน
ภารกิจสำคัญของผู้มีอำนาจที่จะต้องทำให้สำเร็จนับตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คงหนีไม่พ้นการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติให้ได้ แต่ยิ่งเวลาเนิ่นนานออกไป สิ่งที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้สวนทางกับที่ท่านเคยประกาศไว้ก็คือ การเลิกมีอคติแบ่งเขาแบ่งเรา และไม่พูดจาให้ร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เพียงฝ่ายเดียว
ภารกิจสำคัญของผู้มีอำนาจที่จะต้องทำให้สำเร็จนับตั้งแต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คงหนีไม่พ้นการลดความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติให้ได้ แต่ยิ่งเวลาเนิ่นนานออกไป สิ่งที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้สวนทางกับที่ท่านเคยประกาศไว้ก็คือ การเลิกมีอคติแบ่งเขาแบ่งเรา และไม่พูดจาให้ร้ายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่เพียงฝ่ายเดียว
เหมือนอย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ ภารกิจสร้างความปรองดองจะสำเร็จได้ “กรรมการ”ต้องวางตัวให้เป็นกลางอย่างแท้จริง ซึ่งต้องถามกลับไปยังผู้มีอำนาจว่าได้ทำเช่นนั้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาให้ร้ายอดีตรัฐบาลที่ผ่านมาในหลายๆ หนยามที่ถูกรุกไล่ทางการเมือง แน่นอนว่าสามารถเบี่ยงเบนประเด็นที่ตัวเองตกเป็นเป้าได้ แต่กลับไปสร้างรอยปริแยกให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งได้
เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ที่สะท้อนภาพของการเลือกปฏิบัติได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่สองมาตรฐานแต่ถึงขั้นไร้มาตรฐาน ยกตัวอย่างล่าสุด กรณีที่ คสช.ไปแจ้งความเอาผิดกับ 11 นักศึกษาที่ขึ้นรถไฟปลายทางอุทยานราชภักดิ์ ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จนมีการนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของพุทธะอิสระที่ขนคน 200 คนไปชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้นยังมีลูกศิษย์ของพุทธะอิสระพากันไปชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง มองย้อนกลับไปถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มต้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ทั้งหมดเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสิ้นและมีจำนวนมากกว่า 5 คนแน่นอน แต่ฝ่ายความมั่นคงหรือ คสช.ไม่เคยขยับหรือทำให้เห็นว่าจะมีการดำเนินการเพื่อเอาผิดใดๆ
จน จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ต้องออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ละเว้นพุทธะอิสระ เพราะเคยเป็นอาจารย์ของผู้มีอำนาจมาก่อนใช่หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดในเมื่ออ้างว่ายึดหลักกฎหมายอย่างเคร่งครัด ย่อมไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือละเว้น ไม่เพียงเท่านั้น เอาเฉพาะกรณีนักศึกษา 11 คน ยังมีปมที่ชวนให้สังคมเคลือบแคลง
กล่าวคือ นักศึกษา 4 คนที่ห้อยนกหวีดสัญลักษณ์ของม็อบมีเส้นร่วมขบวนรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ในวันนั้น ไม่ถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยเฉพาะสองรายที่ถือเป็นสมาชิกเคลื่อนไหวกับกลุ่ม 11 นักศึกษามาโดยตลอดอย่าง ปิยรัฐ จงเทพ และ ฉัตรมงคล วัลลีย์ จนทั้งสองคนได้พากันโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “พวกห้อยนกหวีดไปกับผมในวันนั้น รอดทุกคนนะครับ กราบบบบ ศักดิ์สิทธิ์จริงไม่เชื่อให้หลบหลู่ครับ”
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ในยามที่ผู้มีอำนาจพยายามอธิบายอย่างไรเรื่องการสร้างความเป็นธรรม จึงมีเสียงตอบรับหรือเชื่อถือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะตราบใดที่ยังเกิดภาพการเลือกปฏิบัติ ตั้งป้อมเล่นงานแต่กับบางคนบางพวก ก็อย่างหวังว่าจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มี สั่งให้คนเชื่อ สั่งให้คนสามัคคีกันได้ เหมือนอย่างที่นักวิชาการส่วนหนึ่งว่าไว้ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่สถานที่กักกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นอาจสะท้อนภาพได้ว่า ผู้มีอำนาจไม่เคยศึกษาบทเรียนหรือไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองเกี่ยวกับการใช้อำนาจ ที่บ่งบอกมาหลายเหตุการณ์ว่า อำนาจไม่ใช่ยาวิเศษที่สามารถทำได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะการหลงอำนาจ หากแยกไม่ออกระหว่างผลประโยชน์ของบ้านเมืองกับผลประโยชน์ของตนเองกับพวกพ้องย่อมนำมาซึ่งความเสื่อม
ปรากฏการณ์ของการใช้อำนาจที่เป็นอยู่ อาจเข้าข่ายยิ่งใช้อำนาจก็ยิ่งเสื่อม เนื่องจากไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อสร้างความชอบธรรมหรือให้เกิดภาพความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่เป็นการใช้อำนาจเพื่อให้เกิดความหวาดกลัว สำคัญมากไปกว่านั้นคือ สร้างความหวาดกลัวและข่มขู่ให้กับคนอีกกลุ่ม โดยที่อีกพวกทำอะไรก็ได้ นั่นจึงทำให้อำนาจไม่ศักดิ์สิทธิ์
ช่วงนี้รับกับการเตรียมแถลงผลงานของรัฐบาลระหว่างวันที่ 23-25 ธันวาคม โพลแต่ละสำนักจึงสำรวจความคิดเห็นประชาชนกันอย่างแพร่หลาย น่าสนใจในรายของสวนดุสิตโพล ซึ่งไม่รู้ว่าสิ่งที่ออกมาขัดแย้งกันไปโดยปริยายหรือไม่ กรณีจุดเด่นและจุดอ่อนของรัฐบาลคสช. เพราะเมื่อถามถึงจุดเด่นระบุว่า ทำงานรวดเร็ว เด็ดขาดจริงจัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศเช่น รถไฟทางคู่ การสื่อสาร ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำงานตามโรดแมปเปิดเผยตรงไปตรงมา แต่พอถามถึงจุดอ่อนกลับบอกว่า ต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำและปัญหาสังคมเสื่อมโทรม การแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด รัฐมนตรีบางคนขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ
การสร้างความเชื่อมั่น ความสัมพันธ์กับต่างประเทศยังมีปัญหา ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญคือ ลีลาการพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดุดัน แข็งกร้าว ทำให้คนบางกลุ่มไม่ชอบและไม่ให้ความร่วมมือ อย่างหลังนี้ถือเป็นกระพี้ที่ไม่ใช่แก่น ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ชอบสนใจเรื่องในลักษณะนี้เป็นพิเศษ
จะเห็นได้ว่าความย้อนแย้งในความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างนั้น ชื่นชมความรวดเร็ว เด็ดขาด ทำงานเปิดเผยตรงไปตรงมา แต่เมื่อเป็นจุดอ่อนกลับบอกว่าขาดการตรวจสอบถ่วงดุล และจุดที่เป็นปัญหาใหญ่คือ เสนาบดีบางรายขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ตรงนี้เป็นการยืนยันข้อครหาก่อนหน้านี้ที่มองว่า บางกระทรวงมีการใช้คนไม่ถูกกับงาน
ในยามที่คะแนนนิยมขึ้นหม้อใครจะจ้อจะกล่าวหาอย่างไรคงไม่เกิดแรงกระเพื่อม แต่ในภาวะที่เกิดความเสื่อมในความเชื่อมั่น ทุกอย่างที่ถูกถามจากนักข่าวแม้จะเป็นเรื่องง่ายๆและไม่ได้มีอะไรให้ต้องคิดมาก แต่ท่วงทำนองของผู้มีอำนาจกลับเป็นไปด้วยความก้าวร้าว ดุดัน นี่คือบทพิสูจน์บริหารประเทศไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ยิ่งบริหารแบบเลือกที่รักมักที่ชัง ความเชื่อมั่นมีแต่จะถดถอยแบบสาละวันเตี้ยลง