สังคมข่าวหุ้น
SAV แจกปันผลทันที ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติพิจารณาอนุมัติในหลักการการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นทุกราย
SAV แจกปันผลทันที ธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) แจกข่าวดี ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติพิจารณาอนุมัติในหลักการการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นทุกราย (จ่ายจากกำไรสะสมงวดเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2566) ในอัตรา 0.75 บาท/หุ้น ซึ่งคิดเป็นอัตราตอบแทนเงินปันผลระหว่างกาลสูง 3.95% จากราคาไอพีโอ (โดยคาดว่าจะกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ภายใน 30 วันหลังจากหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์) ราคาเสนอขายหุ้นละ 19 บาท และราคาเหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 25-29 บาทของนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง อีกทั้ง SAV มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิ โดยหุ้นไอพีโอ SAV ทั้งหมด 166 ล้านหุ้น ได้จัดสรรให้นักลงทุนรายย่อย 51% ให้นักลงทุนสถาบัน 45% และให้ผู้ถือหุ้นของ บมจ.สามารถ คอร์ปอเรชั่นที่ได้จองตามสิทธิ (Preemptive Right) 4%
EA ชนะประมูล วสุ กลมเกลี้ยง Executive Vice President บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ปลื้ม บริษัท อีเอ เวสท์ แมเนจเม้นท์ ภูเก็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม EA ชนะการประมูลโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยระบบเตาเผาขนาดไม่น้อยกว่า 500 ตัน/วัน บนพื้นที่เกาะภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566 ได้มีการลงนามสัญญากับเทศบาลนครภูเก็ต ร่วมลงทุนในรูปแบบ ลงทุน ก่อสร้างและบริหารโครงการในรูปแบบ BOT (Build Operate Transfer) (ก่อสร้าง-ดำเนินงาน-โอนสิทธิ) โดยใช้เทคโนโลยีระบบเตาเผาแบบตะกรับขนาดไม่น้อยกว่า 500 ตัน/วัน ผลิตไฟฟ้าได้ 9.9 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 24,000 ตารางเมตร (ประมาณ 15 ไร่) ระยะเวลาโครงการ 20 ปี ไม่รวมระยะเวลาก่อสร้าง โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท
ASIMAR รับงานทัพเรือ บมจ.เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ (ASIMAR) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 บริษัทได้ลงนามรับการว่าจ้างจากกองทัพเรือ ให้ดำเนินการต่อเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์จำนวน 1 ลำ ความยาวตลอดลำ 60.00 เมตร ความกว้าง 13.30 เมตร มูลค่างาน 885,000,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาต่อเรือ (โครงการ) ประมาณ 760 วัน ขณะที่ CK ได้ลงนามเป็นผู้รับจ้างในสัญญาจ้างก่อสร้าง โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรีสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียธนบุรีและสวนสาธารณะ ณ พื้นที่แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร กับ กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ว่าจ้าง เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 มูลค่าสัญญาประมาณ 2,404,000,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินการ ประมาณ 1,170 วัน
รายใหญ่แห่ลงสนามเพียบ สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้ออกประกาศเชิญชวนโครงการร่วมลงทุนสำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทาง (Rest Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง 2 โครงการ วงเงินลงทุนระยะแรกรวม 1,930 ล้านบาท พบว่าเจ้าใหญ่แห่ซื้อซองประมูล ทั้ง 1. PTT 2. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS 3. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM 4. บริษัท กัลฟ์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด ในเครือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF 5. บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP 6. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) 7. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH 8. บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ยื่นซองอีกที 22 พฤศจิกายน นี้