วิบากกรรมซ้ำเติม ‘เอเวอร์แกรนด์’

เริ่มต้นวันแรกของสัปดาห์ (25 ก.ย.66) ที่ตลาดหุ้นฮ่องกง หุ้นไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาฯยักษ์ใหญ่ของจีน ราคาปรับลงกว่า 24%


เริ่มต้นวันแรกของสัปดาห์ (25 ก.ย. 66) ที่ตลาดหุ้นฮ่องกง หุ้นบริษัท ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน ราคาปรับลงกว่า 24% ภายหลังจากบริษัทเผยว่า ไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จีนได้ดำเนินการสอบสวนบริษัท เหิงต้า เรียลเอสเตท กรุ๊ป เป็นบริษัทในเครือ “เอเวอร์แกรนด์” โดยสถานการณ์ล่าสุดนี้ก่อให้เกิดผลกระทบครั้งใหม่ ต่อแผนการปรับโครงสร้างหนี้เอเวอร์แกรนด์เอง

“เอเวอร์แกรนด์” ระบุว่า เนื่องจากมีการสอบสวนอย่างต่อเนื่องใน “เหิงต้า เรียลเอสเตท” ด้วยเหตุนี้เอเวอร์แกรนด์จึงขาดคุณสมบัติในการออกหุ้นกู้ใหม่ได้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว

โดยช่วงเดือน ส.ค. 66 ที่ผ่านมา “เหิงต้า เรียลเอสเตท” เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จีนได้เข้ามาตรวจสอบบริษัท เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าอาจกระทำการละเมิดกฎระเบียบด้านการเปิดเผยข้อมูล

ปัญหาล่าสุดที่ “เอเวอร์แกรนด์” กำลังเผชิญขณะนี้มีขึ้นเพียงสัปดาห์เดียวหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองเซินเจิ้นของจีนได้จับกุมตัวพนักงานหลายคนในธุรกิจบริหารความมั่งคั่งเอเวอร์แกรนด์

ส่งผลให้ราคา “หุ้นเอเวอร์แกรนด์” ปรับตัวลงอย่างหนักช่วงเวลาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า “เอเวอร์แกรนด์” กำลังเผชิญปัญหารุมเร้าด้านต่าง ๆ รวมถึงปัญหาหนี้สินมูลค่ามหาศาลด้วย

“เอเวอร์แกรนด์” เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นหนี้มากสุดในโลก และถือว่าเป็นต้นตอวิกฤตตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน โดย “เอเวอร์แกรนด์” อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการตัดขายสินทรัพย์ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้มูลค่า 340,000 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

“มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส” ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือภาคอสังหาริมทรัพย์จีนลงสู่ “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ” โดยระบุว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ที่จะส่งผลกระทบต่อยอดขายภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้รัฐบาลมีการออกมาตรการสนับสนุนช่วงที่ผ่านมาก็ตาม

ก่อนหน้านี้ปลายเดือน ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ยื่นคำร้องต่อศาลแขวงนิวยอร์กของสหรัฐฯ เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 15 ของกฎหมายล้มละลาย โดย “เอเวอร์แกรนด์” ประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้วิกฤตหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนลุกลามเป็นวงกว้าง

การยื่นคำร้องดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้กลุ่มเจ้าหนี้ในสหรัฐฯ ทำการยึดทรัพย์สินของเอเวอร์แกรนด์ ช่วงที่บริษัทกำลังดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศอื่น ๆ หลังจากบริษัทเอเวอร์แกรนด์ได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ Class A และ Class C ของฮ่องกงซีอีจี (Hong Kong CEG) เพื่อให้มีเวลามากพอที่จะพิจารณาแผนการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ๆ

นับตั้งแต่วิกฤตหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์จีนเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2564 บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง ที่มียอดขายบ้านรวมกันสัดส่วน 40% ของยอดขายบ้านทั้งหมดในจีนเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน

สถานะทางการเงิน “เอเวอร์แกรนด์” เริ่มสั่นคลอน หลังจากรัฐบาลจีน ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30% การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ อาจส่งผลกระทบลุกลามไปยังบริษัทอื่น ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์และสร้างความเสี่ยงต่อระบบธนาคารของจีน

“เอเวอร์แกรนด์” ประสบปัญหาอย่างหนัก เรื่องการจ่ายหนี้เงินกู้ตัวเองที่ปรับขึ้นแตะระดับ 2.44 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 11.69 ล้านล้านบาท) เมื่อสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจีน

การผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ช่วงปี 2564 กระตุ้นให้เกิดวิกฤตขนาดใหญ่กว่าในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน สร้างความเสียหายต่อเจ้าของบ้าน และระบบการเงินจีนเป็นวงกว้าง บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อื่น ๆ ในจีน รวมถึงคาเซีย (Kasia), แฟนตาเซีย (Fantasia) และชื่อเหมา กรุ๊ป (Shimao Group) ต่างผิดชำระหนี้ไปตาม ๆ กัน..

ปัญหาของ “เหิงต้า เรียลเอสเตท” กลายเป็นวิบากกรรม ซ้ำเติม “เอเวอร์แกรนด์” ที่สุดท้ายแล้ว เมื่อ “ปัญหาเดิมยังไม่ได้..ปัญหาใหม่ยังเข้ามาอีก” ถือว่าเคราะห์ซ้ำ กรรมซัดจริง ๆ..!!?

Back to top button