WHA มาไกลเกิน AMATA.!
ถ้าพูดถึงวงการนิคมอุตสาหกรรมของไทย ย้อนไปสักเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เบอร์หนึ่งคงหนีไม่พ้น AMATA ที่มี “วิกรม กรมดิษฐ์” เป็นผู้ก่อตั้ง...
ถ้าพูดถึงวงการนิคมอุตสาหกรรมของไทย ย้อนไปสักเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เบอร์หนึ่งคงหนีไม่พ้น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ที่มี “วิกรม กรมดิษฐ์” เป็นผู้ก่อตั้ง…สมัยนั้นหากมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย AMATA มักเป็นตัวเลือกแรก ๆ เสมอ..
ส่วนเบอร์สองจะเป็นบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ HEMRAJ ของ “เฮียสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” ตามด้วยบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ของ “กลุ่มวินิชบุตร”
แต่ช่วง 20 ปีให้หลังมานี้ กลายเป็นว่า HEMRAJ เดิม ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA หลังจากเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่มาเป็น “จรีพร จารุกรสกุล” ชื่อเสียงก็เริ่มดีขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น…แตกต่างจาก AMATA ซึ่งผลัดใบสู่ยุคใหม่ (เปลี่ยนผ่านจาก “วิกรม” ปล่อยมือให้น้องชายและผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาดูแล) ค่อนข้างเงียบ…
แม้ AMATA มีนิคมฯ ทั้งในไทยและเวียดนามรวม 4 แห่ง (ปัจจุบันอยู่ระหว่างพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง ในสปป.ลาว) แต่ถูก WHA เริ่มเบียดบังรัศมี…ทำให้ WHA ซึ่งปัจจุบันมีนิคมฯ มากถึง 12 แห่ง เปล่งประกายมากขึ้น
มิหนำซ้ำ ด้านการบริหาร WHA ก็มีวิศวกรรมทางเงินที่หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกองรีท โดยนำสิทธิการให้เช่าที่ดิน คลังสินค้า โรงงาน ขายเข้ากองรีท ได้เงินมาก้อนหนึ่ง นำไปชำระหนี้, การจัดตั้งบริษัทลูกที่ชื่อบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เพื่อบริหารสินทรัพย์ที่เป็นสาธารณูปโภค โรงไฟฟ้าและน้ำประปา จากนั้นก็สปินออฟ WHAUP เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนขาย IPO ได้เงินมาก้อนหนึ่งไปชำระหนี้ เป็นต้น ทำให้ WHA ขยายได้กว้างกว่า AMATA…
ที่เห็นชัดในแง่ผลประกอบการ ซึ่ง WHA มีรายได้ระดับหมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิราว 3,000-4,000 ล้านบาท ในขณะที่ AMATA รายได้ไม่ถึงหมื่นล้าน เฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-8,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1,000-2,000 ล้านบาท…
ต้องบอกว่ารอบ 4-5 ปีมานี้ รายได้และกำไรของ WHA แซงหน้า AMATA ไปแล้ว..!!
ส่วนอัตรากำไรสุทธิไม่หนีกันมาก อยู่ที่ระดับกว่า 30%
ขณะที่ WHA มีสินทรัพย์รวมสูงกว่า 80,000 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 50,000 ล้านบาท แต่สินทรัพย์ของ AMATA มีราว 50,000 ล้านบาทเศษ และมีหนี้สินรวมราว 20,000 ล้านบาทเศษ
แล้วถ้าไปดูอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน AMATA จะน้อยกว่ายีลด์อยู่ที่ 1-2% เท่านั้น ในขณะที่ WHA ยีลด์แตะที่ 3-4% นั่นแปลว่า WHA จะมีทั้ง Growth Stock และ Dividend Yield ส่วน AMATA แม้มี Growth Stock แต่ Dividend Yield ต่ำกว่า
จากข้อมูลข้างต้น ตอกย้ำว่า WHA มาไกลเกิน AMATA แล้วนะออเจ้า..!!
นี่ไม่นับรวมโอกาสทางธุรกิจในอนาคตอันใกล้ จากการเห็น “เจ๊จรีพร” ร่วมเฟรมถ่ายรูปกับ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี พร้อมบรรดาเจ้าสัว แถมยังเป็นหนึ่งในทีมที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะนายกรัฐมนตรี เพื่อชักจูงนักธุรกิจระดับโลก เช่น Tesla, Microsoft และ Google เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย
ซึ่งถ้าบริษัทเหล่านี้มาลงทุนจริง คงไม่ต้องบอกนะว่าจะตั้งโรงงานที่ไหน..? ถ้าไม่ใช่ในนิคมฯ ของ WHA…
แต่ไม่ยักจะเห็นเงา “เจ้าสัววิกรม” หรือคนตระกูลกรมดิษฐ์ ร่วมคณะไปด้วย…
ขืนปล่อยไว้อย่างนี้ เกรงว่า WHA จะทิ้ง AMATA ไว้ข้างหลังไม่เห็นฝุ่นนะเนี่ย..!?
…อิ อิ อิ…