THL 7 วันอันตราย.!?

เวียนว่ายตายเกิดในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากว่า 4 ทศวรรษแล้ว สำหรับ THL ที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากธุรกิจเหมืองแร่ ก่อนจะขยายไปสู่เหมืองทองคำ


เวียนว่ายตายเกิดในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากว่า 4 ทศวรรษแล้ว…สำหรับบริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THL ที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากธุรกิจเหมืองแร่ เหมืองหิน เหมืองดิน ก่อนจะขยายไปสู่เหมืองทองคำ ภายใต้บริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด…โดยเข้าตลาดฯ มาตั้งแต่ปี 2524 หรือเมื่อ 42 ปีที่แล้ว…

ต้องบอกว่า THL เป็นหุ้นที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และผ่านดราม่ามาโชกโชน เท่าที่จำได้ มีทั้งดราม่าทางสังคม…ด้วยเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานในการทำเหมือง ก็จะเกี่ยวข้องกับมวลชนในพื้นที่ เช่น เกิดปัญหาผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมกรณีไซยาไนด์ของบริษัท ทุ่งคำ รั่วจนเกิดการปนเปื้อนทั้งในดินและน้ำ ทำให้มีชาวบ้านกว่า 100 คน ได้รับสารพิษตกค้างในร่างกาย นำมาสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความ เป็นต้น

ตามมาด้วยดราม่าหุ้น…ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน THL เคยมีแนวคิดจะนำบริษัท ทุ่งคำ (ปัจจุบันขายทิ้งไปแล้ว) ซึ่งทำกิจการเหมืองแร่ทองคำใน อ.วังสะพุง จ.เลย เข้าตลาดหลักทรัพยฯ ทำให้ตอนนั้น THL กลายเป็นหุ้นฮอตฮิต มีการเข้ามาเก็งกำไรกันร้อนแรง…

แต่สุดท้ายก็ต้องพับแผนดังกล่าวใส่ลิ้นชักล็อกกุญแจปิดตาย ทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อยที่เข้ามาเก็งกำไร กระเป๋าฉีกไปตาม ๆ กัน ขณะที่บางส่วนก็ยังติดสอยห้อยตามหุ้นตัวนี้มาจนถึงบัดนี้

ปิดท้ายด้วยดราม่างบการเงิน…จากกรณีก.ล.ต.สั่งให้ THL แก้ไขงบการเงินประจำปี 2549 และไตรมาส 1/2550 เนื่องจากเห็นว่าการบันทึกบัญชีและการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินงวดดังกล่าวไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชี…กลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างผู้สอบบัญชี ซึ่งขณะนั้นสวมหมวกนายกสภาวิชาชีพบัญชี กับก.ล.ต.ซึ่งสวมหมวกเรกูเลเตอร์ (Regulater) ผู้คุมกฎ…

ในขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นก็เปลี่ยนมือมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่มือแรก…มีบริษัท นิว ไชน่า รีซอร์สเซส จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 25.50% แต่หลังปี 2540 ประสบปัญหาด้านฐานะทางการเงิน มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ โดยใช้เวลาปรับโครงสร้างหนี้อยู่นานหลายปี ก็ออกจากแผนฯ และเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ ตกมาอยู่ในมือของบริษัท สินธนา โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 15.76%

จากนั้นไม่กี่ปีก็กลับสู่วังวนเดิม ประสบปัญหาทางการเงินอีก จนต้องเดินทางเข้าสู่แผนฟื้นฟูอีกรอบ ซึ่งใช้เวลานานหลายปีกว่าจะปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ และนำมาสู่ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ (อีกครั้ง) เป็น “กลุ่มเจียมวิจิตรกุล” ถือหุ้นรวมกันกว่า 30%

ผลพวงจากตัวธุรกิจที่มีปัญหาซ้ำซาก นำมาสู่งบการเงินที่มีปัญหา สุดท้าย THL กลายเป็นหุ้นที่ถูกตลาดฯ จับแขวนป้าย SP ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และพักการซื้อขายมายาวนานตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2556 พร้อมถูกหมายหัวจะเพิกถอนออกจากตลาดฯ

ที่ผ่านมา THL ก็พยายามแก้ปัญหาชีวิตตัวเอง…ไม่ว่าจะเป็นการตัดใจขายหุ้น 88.12% ในบริษัท ชลสิน จำกัด ให้กับบริษัท บี บาลานซ์ จำกัด ไปด้วยมูลค่า 154 ล้านบาท, ยอมแปลงหนี้เป็นทุนมูลค่า 270 ล้านบาท โดยไปถือหุ้นใน King Of Ore Mine Limited (KOOM) ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในสาธารณรัฐแซมเบีย สัดส่วน 49% เป็นต้น แต่ก็ยังแก้ไม่ตก…

ในที่สุด THL ก็เดินมาถึงจุดสิ้นสุดทางเลื่อนในตลาดทุน..!? ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมจะเพิกถอนหลักทรัพย์ THL จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ก็มีเวลา 7 วันทำการ หรือ 7 วันอันตรายให้ปล่อยผี หรือให้คนที่ติดหุ้นได้ออกของ จากการเปิดให้ซื้อขายชั่วคราวระหว่างวันที่ 10-19 ต.ค.นี้

โดยช่วง 7 วันทำการที่เปิดให้ซื้อขายหุ้น THL นั้น มีเงื่อนไขให้ซื้อขายด้วยเงินสด หรือบัญชี Cash Balance เท่านั้น พร้อมจะขึ้นเครื่องหมาย NC กำกับ เพื่อเตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยวันแรก (10 ต.ค.) ที่เปิดซื้อขาย ไม่กำหนด Ceiling & Floor และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่นำหุ้น THL มารวมในการคำนวณดัชนีราคา SET Index…

ก็คงเป็นช่วงเวลา 7 วันอันตราย…ที่จะเห็นคนในอยากออก (ผู้ถือหุ้นรายย่อย 3,304 คนขายทิ้ง) และคนนอกอยากเข้า (ซื้อเก็งกำไร) กันอุตลุดละมั้ง..!!

ที่แน่ ๆ เป็นการปิดตำนานหุ้น THL ที่สร้างความฉิบ… อุ๊ย…เจ็บช้ำให้กับนักลงทุนมายาวนานกว่า 4 ทศวรรษเสียที..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button