TikTok เผชิญกฎเหล็กอินโดนีเซีย
รัฐบาลอินโดนีเซีย กำหนดเส้นตายภายใน 7 วัน เพื่อให้ TikTok แยกออกมาเป็นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย ที่ไม่มีรูปแบบอีคอมเมิร์ซเข้ามาอยู่ภายในแอปพลิเคชัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซีย กำหนดเส้นตายภายใน 7 วัน เพื่อให้ TikTok แยกออกมาเป็นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย ที่ไม่มีรูปแบบอีคอมเมิร์ซเข้ามาอยู่ภายในแอปพลิเคชัน และหาก TikTok ไม่ทำตามที่รัฐบาลสั่ง อาจถูกปิดกั้นการใช้งานภายในประเทศได้
ช่วงเดียวกัน “โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประกาศปฏิรูปกฎเกณฑ์กลุ่มโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่า แพลตฟอร์มดังกล่าว มีผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อยหรือ MSME (Micro, Small and Medium Enterprise) และเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้หนึ่งในมาตรการที่ภาครัฐ กำลังจะนำมาใช้คือการตั้งราคาขั้นต่ำของสินค้า โดยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นจะต้องตั้งราคาขั้นต่ำไว้ 100 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าบางรายการที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ และสินค้าทุกชิ้นจะต้องมีมาตรฐานเทียบเท่ากับสินค้าที่จำหน่ายอยู่ในประเทศ
ข้อมูลจาก Momentum Works บริษัทที่ปรึกษาสัญชาติสิงคโปร์เมื่อเดือน มิถุนายน พบว่า ยอดขายสินค้าออนไลน์รวมจาก TikTok คิดเป็น 5% ของทั้งประเทศ ตามหลัง Shopee ที่ 36%, Tokopedia ที่ 35%, Lazada ที่ 10% และ Bukalapak ที่ 10%
“โจนาธาน วู” นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Phillip Securities Research ระบุว่า การแยกออกมาแบบไม่มีการซื้อขายสินค้าอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้งานได้ และสร้างประสบการณ์เชิงลบให้ผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน
โดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศ สั่งห้ามการทำธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ ผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง TikTok Shop และ Facebook หมายความว่า ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวจะไม่สามารถซื้อขายสินค้าบริการผ่านแพลตฟอร์มนั้น ๆ ได้
สำหรับอินโดนีเซียถือ เป็นตลาด TikTok ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใหญ่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีผู้ใช้งานทั้งหมด 125 ล้านบัญชี เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกา
“Sachin Mittal” หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านโทรคมนาคมจาก DBS Bank ระบุว่าธุรกรรมการซื้อของผู้ใช้งานใน TikTok ส่วนใหญ่ เป็นการซื้ออย่างปัจุบันทันด่วน โดยไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า และการจะให้ผู้ใช้งานจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบของแอปพลิเคชันอื่นสำหรับการซื้อสินค้า อาจนำมาสู่อัตราการลดลงของผู้ใช้งานที่สูง โดย TikTok ใช้กลยุทธ์การซื้อขายแบบปัจจุบันทันด่วนนี้เอง “เป็นจุดขาย” ด้วย
อย่างไรก็ดีล่าสุด TikTok ออกมาระบุเพียงแค่ว่า มีความกังวลถึงผลกระทบต่อผู้ใช้งานในประเทศ แต่บริษัทเคารพในกฎเกณฑ์ของรัฐบาลอินโดนีเซีย
สำหรับแอปพลิเคชัน TikTok (ติ๊กต๊อก) หรือว่า Douyin (เตาอิน) ที่เรียกกันในประเทศจีน เปิดตัวครั้งแรก เมื่อเดือน กันยายนปี 2016 และได้รับความนิยมทั่วโลก เมื่อปี 2018 โดย TikTok เป็นแพลตฟอร์ม Social Media ที่มีจุดเด่นคือ การสร้างและแชร์วิดีโอสั้น ๆไม่ว่าจะเป็นคลิปเต้นสั้น ๆ ลิปซิงค์เพลง สร้างคอนเทนต์ตลก เฮฮา หรือการทำ Challenge ต่าง ๆ เพื่อการโฆษณา และแชร์กับเพื่อนบนโลกออนไลน์
พร้อมติด #Hashtag ต่าง ๆ เพิ่มความสะดวกต่อการเข้าถึง ด้วยจุดเด่นที่ใช้งานง่าย จึงได้รับความนิยมมากขึ้น จนมียอดการดาวน์โหลดมากที่สุดในโลก (ทั้ง App Store และ Google Play) การโหลดแอปนี้เป็นแอปฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และเปิดให้บริการ 155 ประเทศ รองรับถึง 75 ภาษาทั่วโลก โดยพบว่า สัดส่วน 41% ของผู้ใช้ TikTok เป็นวัยรุ่นที่มีอายุอยู่ช่วง 16–24 ปี (Gen Z) ถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดบนแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ TikTok ดำเนินการโดย ByteDance บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากประเทศจีน อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียดจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีความกังวลต่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ ByteDance และความสัมพันธ์ของบริษัทกับรัฐบาลจีน..!!!